xs
xsm
sm
md
lg

NBTC Policy Watch เผยค่าบริการ 3G ดีแทคลดสูงสุด 24%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผลสำรวจของโครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม หรือ NBTC Policy Watch พบค่ายมือถือยังไม่ได้ลดราคา 15% จริงตามที่ กสทช.กำหนด มีเพียงดีแทครายเดียวที่ลดมากกว่า 24% ด้าน กสทช.โต้วิธีคิดไม่เหมือนกันผลจึงออกมาไม่เหมือนกัน พร้อมจะเร่งกระบวนการร้องเรียนให้เร็วขึ้น ส่วนคุกกี้รันนั้นกำลังอยู่ระหว่างการเรียกมาให้ข้อมูลและเตรียมแก้ไข ด้าน นพ.ประวิทย์แนะกรณีซิมดับต้องเร่งให้ลูกค้าย้ายค่ายโดยด่วนเพราะแก้ยาก แถมอาจมีปัญหาเรื่องเงินเหลือตามมาอีก

ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการแถลงรายงานวิจัยและเสวนาในหัวข้อ “สถานการณ์ผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมภายใต้การกำกับของ กสทช. : ซิมดับ 3G คุกกี้รัน” ว่า จากผลสำรวจของโครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม หรือ NBTC Policy Watch พบว่าราคาค่าบริการ 3G โดยเฉลี่ยยังลดลงไม่ถึง 15% ในรอบปีที่ผ่านมา และมีเพียงดีแทครายเดียวเท่านั้นที่ราคาค่าบริการลดลงเท่ากับที่กำหนด

นอกจากนี้ แพกเกจส่วนใหญ่ของผู้ให้บริการเกือบทุกรายจะลดราคาลงมากในแพกเกจที่คนไม่ค่อยเลือกใช้มากนัก และการคิดค่าโทรเกินแพกเกจยังสูงกว่าอัตราขั้นสูงที่ กสทช.กำหนด และยังไม่ได้ลดลงเมื่อเทียบกับ 2G

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบแพกเกจค่าโทร.ในเดือน มิ.ย. 2557 เทียบกับเดือน พ.ค. 2556 พบว่าดีแทคมีค่าบริการลดลงประมาณ 24% ทรูลดค่าบริการลง 14% ส่วนเอไอเอสลดลงเพียง 8% เท่านั้น และแพกเกจของการให้บริการของผู้ให้บริการไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเอไอเอสที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย นอกจากนี้ ดีแทคยังมีการแบ่งการคิดราคาเป็นรายบริการ และผู้บริโภคสามารถเลือกส่วนผสมของเสียงและข้อมูลได้อย่างยืดหยุ่น รวมไปถึงยังสามารถแบ่งย่อยได้มากกว่า 24 แพกเกจ ในขณะที่ทรูและเอไอเอสมีเพียงรายละ 5 แพกเกจเท่านั้น

“การประกาศอัตราอ้างอิงของ กสทช.ที่ประกาศเป็นรายบริการนั้น ไม่เหมือนกับการให้บริการของโอเปอเรเตอร์ในปัจจุบันที่จะคิดราคาเป็นแพกเกจที่มีทั้งเสียงและข้อมูลรวมกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ทำให้ยากต่อการตรวจสอบราคาที่แท้จริง นอกจากนี้ที่ผ่านมาไม่ได้มีการเปิดเผยว่า กสทช.ใช้วิธีใดในการคำนวณราคาค่าบริการ หรือใช้ข้อมูลอะไรบ้างในการคำนวณ แต่มีการออกข่าวว่าราคา 3G ในปัจจุบันนั้น ลดลงมากว่า 15%”

ดร.พรเทพกล่าวว่า ทั้งนี้ผู้บริโภคที่เรียกร้องจะได้รับการลดราคา แต่คนที่ไม่ได้เรียกร้องก็จะเหมือนเดิมคือยังใช้บริการในอัตราเท่ากับปกติ นอกจากนี้ กระบวนการร้องเรียนยังใช้เวลานานเกินไป ซึ่งถือเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น กสทช.ควรที่จะสร้างเครื่องมือในการติดตามการเปลี่ยนแปลงราคาที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและการใช้งานของผู้บริโภค และดูแลอย่างจริงจังให้ทุกแพกเกจเป็นไปตามที่กำหนด ไม่ใช่ผลักภาระให้กับผู้บริโภคโดยอ้างว่าผู้บริโภคต้องเป็นผู้ฉลาดเลือกเอง

ด้านนายชัยยุทธ มังศรี ผู้อำนวยการกลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภค ในกิจการโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช.กล่าวว่า การคิดคำนวณราคาดังกล่าว กสทช.ใช้ราคาที่ผู้ประกอบการทุกรายจากวันที่ได้รับใบอณุญาต คือวันที่ 7 ธันวาคม 2555 นำมาหาค่าเฉลี่ยราคา ณ ขณะนั้น และใช้ราคาที่หลากหลายมากกว่า อาทิ แต่ละช่วงเวลา อาศัยทั้งข้อมูลที่โอเปอเรเตอร์ให้มา นอกจากนี้ยังดูโปรโมชันในตลาดทุกโปรโมชันอีกด้วย ทำให้การคิดอัตราค่าบริการเฉลี่ยอาจจะแตกต่างจากการคำนวณของ NBTC Policy Watch ซึ่งคิดอัตราค่าบริการที่ผู้ให้บริการนำเสนอกับตลาดปัจจุบัน โดยยังต้องพิจารณาเนื้อหาตามที่ กสทช.กำหนดด้วย

ส่วนในกรณีที่กระบวนการร้องเรียนใช้เวลายาวนานนั้น ในความเป็นจริงแล้วเมื่อมีผู้ร้องเรียนเข้ามา จะมีการกำหนดให้ผู้ถูกร้องเรียนชี้แจงมาภายใน 15 วัน หากไม่มีการชี้แจงจะมีการตักเตือนไปอีก 7 วัน ถือว่าใกล้ข้อกำหนดของกฏหมายที่ให้ดำเนินการภายใน 30 วันแล้ว ดังนั้นในทางปฏิบัติอาจทำได้ยากที่จะให้อยู่ในเวลาที่ระบุได้ แต่ไม่มีเจตนาที่จะประวิงเวลาเรื่องร้องเรียนแต่อย่างใด ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการแก้ไขอยู่ และในอนาคตหากกรณีใดมีแนวทางเป็นบรรทัดฐานแล้วก็จะดำเนินการไปเลยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณา

ด้านสุภัทรา นาคะผิว อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เรื่องหลายเรื่องมีความชัดเจนเลยว่าขัดต่อกฏหมาย แต่ไม่เข้าใจว่าทำไม กสทช.ไม่สามารถวินิจฉัยได้ทันที ซึ่งอาจจะต้องมีการปฏิรูประบบเรื่องร้องเรียนให้เป็นไปตามที่กำหนดให้ได้ และหลายครั้งที่อนุฯ ส่งเอกสารไปถึง กสทช.แล้วยังไม่คืบหน้า อนุฯ จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการนำเรื่องดังกล่าวมาแถลงข่าวเอง เพื่อให้สื่อมวลชนเป็นตัวกลางในการสื่อให้ถึงกับ กสทช.โดยตรง โดยไม่ได้รอกลไกที่ยังไม่รู้ว่าเมื่อไรจะดำเนินการ

“เราไม่เห็นด้วยที่ผู้ให้บริการยัดเยียดบริการเสริมเข้ามาเพื่อให้ดูเหมือนว่าเป็นการลดราคานั้น มันเหมาะสม เพราะผู้ใช้บริการอาจจะไม่ได้ต้องการบริการเสริมเหล่านั้น ส่วนเรื่องซิมดับนั้นมีความคิดว่าไม่ควรดับเพราะผู้บริโภคควรจะได้รับการคุ้มครอง และจะต้องมีกระบวนการเงินเหลือต้องคืน โดยเฉพาะการใช้งานที่เป็นแบบเติมเงิน ต้องมีวิธีที่ชัดเจน ส่วนในเรื่องของคุกกี้รัน หรือโหลดเกมนั้น เราได้เคยเสนอไปว่าความจริงแล้วผู้ให้บริการมีผลประโยชน์ร่วมกับผู้ให้บริการเหล่านี้ อย่างน้อย 50% ดังนั้นต่อไปควรจะให้ผู้ใช้บริการติดต่อตรงกับผู้ให้บริการเกมเหล่านั้นโดยที่ไม่ต้องผ่านโอเปอเรเตอร์ เพราะถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค”

ทั้งนี้ ปัญหาโทรคมนาคมมีเรื่องใหม่ๆ อยู่เสมอ ดังนั้นต้องไปดูกฎหมายว่าสมบูรณ์เพียงพอหรือเปล่า ถ้าไม่มีต้องไปเพิ่มเติมเพื่อปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคให้มากขึ้น และไม่ต้องรอให้เกิดการร้องเรียนก่อนค่อยทำ แต่ควรทำในแบบเชิงรุกไปเลย ดังนั้น กสทช.ต้องออกประกาศเรื่องการกระทำอันน่าจะเอาเปรียบโดยเลือกตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีตนำมาพิจารณาเทียบกัน เพื่อเวลาที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นจะไม่ต้องเข้ากระบวนการ แต่สามารถตัดสินได้ทันที

ด้าน นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า เรื่อง 3G ต้องดูคุณภาพกับราคา ที่ผ่านมาพบว่าการดำเนินการ 3G ความถี่ 2100 MHz ไม่ได้แตกต่างจากการให้บริการ 3G แบบเดิมเลย ประกอบกับข้อกำหนดของกสทช.ระบุว่าภายใน 2 ปี หลังจากการให้บริการ 3G ทุกค่ายต้องมีเครือข่ายครอบคลุม 50% ทั่วประเทศ หากทำไม่ได้ก็ถือว่าผิดกฎหมาย ส่วนเรื่องราคานั้น ต้องดูว่าเนื้อหาของการวิเคราะห์ว่าใครใช้วิธีใดในการคิด แต่โดยรวมด้วยการแข่งขันกันเองทางการตลาดจะทำให้ราคาลดลงอยู่แล้ว 7-8%

นอกจากนี้ เรื่องร้องเรียนไม่มีอะไรที่จะการันตีว่าจะเสร็จได้ 100% ทุกเรื่อง ต้องดูว่าเรื่องที่ต้องจบเร็วก็ต้องจบเร็ว โดยเฉพาะบางเรื่องมีแนวการวินิจฉัยอยู่แล้วก็สามารถจัดการได้เร็ว อย่างเช่นหากมีการพิพากษาของศาลฎีกา ในเรื่องเดียวกันไปแล้วก็น่าจะจบได้ง่ายเพราะถือว่ามีบรรทัดฐานแล้ว แต่บางเรื่องต้องมีกระบวนการหาข้อเท็จจริง แต่ทั้งนี้ถ้ามีองค์กรผู้ตรวจการที่รับดูแลเรื่องร้องเรียนโดยเฉพาะที่มีหน้าที่เหมือน สคบ.ที่รู้ใจผู้บริโภคก็จะเป็นสิ่งดีกว่า

ส่วนในเรื่องของซิมดับนั้น หากมีการประมูลต่อและไม่โดนชะลอโดย คสช.กระบวนการทั้งหมดก็ต้องสะดุด และก่อให้เกิดซิมดับอยู่ดี เพราะหากผู้ที่ประมูลได้ไม่ใช่ทรูก็ต้องดำเนินการย้ายลูกค้าอีกและทำให้ไม่สามารถใช้ซิมนั้นได้ นอกจากนี้ แม้ทรูจะได้รับอนุญาตแต่ก็ยังต้องไปตกลงเรื่องการใช้งานด้านโครงข่ายกับบริษัท กสท โทรคมนาคมอีก ซึ่งปัจจุบันยังเป็นปัญหาเรื้อรังอยู่ ดังนั้นการประมูลที่ดีจะต้องเตรียมการล่วงหน้าในระยะยาว

ทั้งนี้ การประมูลความถี่ 1800 MHz ไม่ได้นำมาให้บริการ 2G แต่เป็น 4G ดังนั้นไม่ได้เป็นการประกันว่าประมูลแล้วจะคุ้มครองผู้ใช้บริการ 2G เดิม ซึ่งที่ผ่านมาจึงยังได้กระตุ้นให้เกิดการย้ายค่ายหรือย้ายเครือข่ายไป เพื่อป้องกันซิมดับ และได้กำหนดให้ผู้ให้บริการเตรียมการเรื่องการคืนเงินเรียบร้อยแล้ว

ในส่วนของ กสท เองนั้น ได้มีการต่อสู้เพื่อปกป้องสัญญาสัมปทานมาตลอดโดยเน้นข้อกฎหมายที่ว่า เมื่อหมดสัญญาสัมปทานลูกค้าจะต้องโอนย้ายมาที่ กสท ทั้งหมด ในขณะที่ กสทช.ตีความว่าคลื่นความถี่ต้องตกเป็นของรัฐ ทำให้ กสท ต้องหาคลื่นความถี่ทดแทนหากจะนำลูกค้าไป ซึ่งเรื่องนี้ยังอยู่ในระหว่างกระบวนการฟ้องร้องกันอยู่ แต่แม้ กสท จะสามารถนำลูกค้าไปอยู่กับเครือข่ายของตนเองได้ก็จะต้องดูเครื่องที่จะรองรับลูกค้าด้วย เพราะลูกค้าบางรายใช้มือถือที่ไม่ได้รองรับกับทุกคลื่นความถี่ โดยทั้งหมดนี้ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ยังต้องมีการพิจารณาต่อไป

“สิ่งที่สำคัญที่สุดตอนนี้ก่อนที่จะเกิดกรณีซิมดับ คือ ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าได้ทราบถึงความจำเป็นในการย้ายจากเครือข่ายที่มีอยู่เดิม โดยต้องระบุถึงผลดีผลเสียของการย้ายหรือไม่ย้ายอย่างชัดเจน อย่างเช่นหากไม่ทำการย้าย ลูกค้าอาจจะต้องพบกับปัญหาทางด้านการบริการ การเงิน และเลขหมาย เพราะซิมดับจะทำให้เลขหมายที่เคยใช้หายไปเลย ผู้บริโภคจะต้องเลือกย้ายค่ายจึงจะสามารถใช้เบอร์เดิมได้และเงินไม่หายไป ซึ่งหากทำการย้ายค่ายตอนนี้ยังทันก่อนที่จะหมดสัญญาสัมปทาน แต่ขึ้นอยู่ที่ว่าผู้บริโภคจะทำการย้ายค่ายหรือจะรอให้ซิมดับ”

Company Relate Link :
กสทช.
กำลังโหลดความคิดเห็น