ประธานทีดีอาร์ไอกระตุก กสทช.แจกคูปองทีวีดิจตอล 2 หมื่นล้านอาจได้ไม่คุ้มเสีย แนะดูตัวอย่างต่างประเทศเพื่อลดความสูญเสียโดยไม่จำเป็น พร้อมเสนอทางออกควรให้คูปองเฉพาะแก่ครัวเรือนที่ติดต่อขอรับเท่านั้น และควรให้คูปองเฉพะกล่องรับสัญญาณสำหรับทีวีภาคพื้นดิน ไม่ควรให้คูปองสำหรับเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ขณะเดียวกันก็ต้องกำหนดมูลค่าของคูปองให้เหมาะสม
จากกรณีที่ กสทช.มีแนวคิดที่จะดำเนินการแจกคูปองแก่ทุกครัวเรือนเพื่อให้ไปซื้ออุปกรณ์สำหรับรับชมทีวีดิจิตอล โดยคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาทนั้น
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ข้อคิดเห็นว่า แนวคิดการแจกคูปองสำหรับซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลให้แก่ทุกครัวเรือนของ กสทช.นั้นทำให้เกิดคำถามหลายประเด็น พร้อมทั้งยกตัวอย่างแนวทางการปฏิบัติของหลายประเทศที่น่าจะมีประสิทธิภาพและประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า
ดร.สมเกียรติกล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลเมื่อเดือนธันวาคม 2556 ทำให้ กสทช.มีรายได้จากการประมูลมากถึง 51,000 ล้านบาท จากที่คาดว่าจะมีรายได้อย่างน้อย 15,000 ล้านบาท ด้วยรายได้ที่มากเกินคาด กสทช.จึงปรับเพิ่มราคาคูปองสำหรับซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล จากเดิมที่จะให้แลกได้เฉพาะกล่องรับสัญญาณ (set-top box) มูลค่า 690 บาทต่อใบ มาเป็นคูปองสำหรับกล่องรับสัญญาณ พร้อมสายอากาศ และส่วนลดสำหรับซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ระบบดิจิตอล เป็นประมาณ 1,200 บาทต่อใบ ซึ่งการเพิ่มมูลค่าของคูปองอาจทำให้มีต้นทุนสูงประมาณ 27,000 ล้านบาท
ดร.สมเกียรติตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่า กสทช.มีหน้าที่ในการทำให้ประชาชนเข้าถึงการแพร่ภาพกระจายเสียง โดยเฉพาะบริการใหม่ๆ อย่างโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล แต่แนวคิดของ กสทช.ทำให้เกิดคำถามใน 4 ประเด็น กล่าวคือ
ประเด็นแรก ควรแจกคูปองให้แก่ทุกครัวเรือนหรือไม่ โดย ดร.สมเกียรติเห็นว่าการแจกให้แก่ทุกครัวเรือนจะใช้เงินค่อนข้างมาก เนื่องจากมีครัวเรือนตามสำมะโนประชากรถึง 22 ล้านครัวเรือน ทั้งที่บางครัวเรือนอาจไม่ต้องการคูปองเพราะสามารถรับชมโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลด้วยวิธีอื่น เช่น รับชมผ่านโทรทัศน์ดาวเทียมหรือเคเบิลทีวีได้อยู่แล้ว
ประเด็นที่สอง ควรแจกคูปองสำหรับการซื้อกล่องเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมหรือไม่ หาก กสทช.แจกคูปองในส่วนนี้ ดร.สมเกียรติชี้ว่าปัญหาที่จะตามมาก็คือ ในอนาคตเมื่อโทรทัศน์ชุมชนในระบบดิจิตอลเริ่มให้บริการ จะมีปัญหาว่าไม่สามารถรับชมช่องเหล่านี้ได้ เพราะในขณะนี้ยังไม่มีกฎว่าทีวีดาวเทียมต้องถ่ายทดช่องบริการชุมชน
ประเด็นที่สาม มูลค่าของคูปองสูงเกินไปหรือไม่ ในประเด็นนี้ ดร.สมเกียรติชี้ว่า ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา พบว่าเมื่อกำหนดมูลค่าของคูปองไว้สูง ราคากล่องรับสัญญาณก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย โดยมีการศึกษาพบว่า ร้านค้าที่รับคูปองจะขายอุปกรณ์ในราคาสูงกว่าร้านค้าที่ไม่รับคูปองมาก ทั้งที่เป็นรุ่นคล้ายๆ กัน ซึ่งหมายความว่าการแจกคูปองทำให้ราคาของอุปกรณ์สูงกว่าความเป็นจริง ทำให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือผู้ผลิตอุปกรณ์และร้านค้า ไม่ใช่ประชาชนที่ได้รับคูปอง
และประเด็นที่สี่ การกำหนดมูลค่าของคูปองคงที่ตลอด 4 ปีนั้นเหมาะสมหรือไม่ ซึ่ง ดร.สมเกียรติระบุว่า ในกรณีของอังกฤษ ราคาของกล่องรับสัญญาณจะลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อการผลิตเพิ่มขึ้น 2 เท่า ดังนั้น การกำหนดมูลค่าของคูปองตายตัว ในขณะที่กล่องรับสัญญาณมีราคาลดลง จึงเท่ากับเป็นการใช้เงินมากกว่าที่ควรจะเป็น
สำหรับวิธีการที่ กสทช.น่าจะนำมาพิจารณา ดร.สมเกียรติได้ยกตัวอย่างกรณีของสหรัฐอเมริกาที่ให้คูปองแก่ครัวเรือนที่ยื่นขอรับสิทธิ์เท่านั้น ขณะที่อังกฤษอุดหนุนค่าอุปกรณ์และค่าติดตั้งให้เฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและผู้ที่ตกงาน เช่นเดียวกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ขณะที่ออสเตรเลียอุดหนุนค่าอุปกรณ์และค่าติดตั้งให้เฉพาะผู้สูงอายุที่รับบำนาญ ผู้พิการ และทหารผ่านศึก
นอกจากนี้ยังพบว่าประเทศส่วนใหญ่ให้การอุดหนุนเฉพาะทีวีภาคพื้นดิน ไม่ได้อุดหนุนเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม โดยหากจะมีการแจกคูปองสำหรับกล่องรับเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ก็มักจะแจกเฉพาะในกรณีของพื้นที่ห่างไกลที่ไม่สามารถรับสัญญาณทีวีภาคพื้นดินได้เท่านั้น
สำหรับข้อเสนอแนะ ดร.สมเกียรติเสนอว่า กสทช.ควรให้คูปองเฉพาะแก่ครัวเรือนที่ติดต่อขอรับเท่านั้น แทนการให้คูปองแก่ทุกครัวเรือน และควรให้คูปองเฉพาะกล่องรับสัญญาณสำหรับทีวีภาคพื้นดิน ไม่ควรให้คูปองสำหรับเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ขณะเดียวกันก็ต้องกำหนดมูลค่าของคูปองให้เหมาะสม ซึ่ง ดร.สมเกียรติแนะนำว่าควรศึกษาว่ามูลค่าของคูปองที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไร
การดำเนินการตามแนวทางข้างต้น ดร.สมเกียรติเห็นว่าจะช่วยให้ กสทช.ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก โดยที่ยังสามารถส่งเสริมความแพร่หลายของโทรทัศน์ในระบดิจิตอลได้ไม่แตกต่างจากวิธีการที่ กสทช.คิดจะดำเนินการ
Company Related Link :
TDRI
CyberBiz Social