นักเขียนซีเอ็นเอ็น "เคนนี่ ซู (Kenny Zhu)" ได้รับอนุญาตให้ถ่ายภาพสถานที่และวิถีชีวิตของคนเกาหลีเหนือผ่านแว่นไฮเทคของกูเกิล "กูเกิลกลาส (Google Glass)" เมื่อเดือนเมษายน 2014 ที่ผ่านมา ล่าสุดซีเอ็นเอ็นเผยแพร่ภาพชุดนี้ท่ามกลางความสนใจในวงกว้าง เพราะนี่ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเผยแพร่ภาพถ่ายมุมมองบุคคลที่ถ่ายทอดความเป็นเกาหลีเหนือผ่านสินค้าไอทีสวมใส่ได้
แม้ภาพถ่ายสถานที่ในประเทศเกาหลีเหนือจากแว่นกูเกิลกลาสนี้จะมองดูแล้วไม่แตกต่างจากภาพที่โลกได้เห็นเกาหลีเหนือจนชินตา แต่เพราะนักเขียนซีเอ็นเอ็นรายนี้คือบุคคลแรกที่ได้รับอนุญาตให้ท่องเที่ยวในเกาหลีเหนือพร้อมใส่แว่นตาไฮเทค โดยซูบรรยายวิธีการขออนุญาตเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือว่าต้องอธิบายหลักการทำงานของกูเกิลกลาสโดยละเอียด และใช้งานโดยไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
บทความที่เผยแพร่ในซีเอ็นเอ็นระบุว่า กูเกิลกลาสถูกยกให้เป็นอุปกรณ์เพื่อการถ่ายภาพเท่านั้นในทริปเกาหลีเหนือ โดยกูเกิลกลาสที่นำไปใช้ท่องเที่ยวเกาหลีเหนือนั้นไม่ได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะไม่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตระหว่างท่องเที่ยวได้ ดังนั้น กูเกิลกลาสจึงทำงานเหมือนเป็นกล้องดิจิตอลที่ผู้ใช้สวมใส่ได้แสนธรรมดา
อย่างไรก็ตาม นักเขียนซีเอ็นเอ็นยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ตั้งข้อสงสัยกูเกิลกลาสไม่น้อยในช่วงแรก ทำให้เจ้าหน้าที่ซักถามวิธีการทำงานของแว่นอย่างละเอียด จุดนี้ทำให้เจ้าหน้าที่รับข้อเสนอทดลองใช้แว่นเพื่อตรวจสอบ และตัดสินใจอนุญาตให้นำแว่นกูเกิลกลาสมาใช้งานระหว่างท่องเที่ยวได้ในที่สุด
สถานที่ในเกาหลีเหนือที่ถูกถ่ายภาพด้วยกูเกิลกลาสได้แก่ เทือกเขาเมียวเฮียง (Myohyang-san), เขตปลอดทหาร (DMZ), เปียงยาง (Pyongyang) และเมืองแกซอง (Kaesong) โดยภาพที่ถูกเผยแพร่ล้วนเป็นภาพด้านบวกของเกาหลีเหนือทั้งสิ้น
หนึ่งในหลายสิ่งที่ซูสามารถสังเกตได้จากทริปนี้คือในพื้นที่ปลอดทหารหรือ DMZ พบว่ามีการใช้เครื่องปรับอากาศแบรนด์เกาหลีใต้อย่างซัมซุง (Samsung) แต่ในพื้นที่อื่นมักเป็นเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นแบรนด์จีน แถมซูยังพบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติในเกาหลีเหนือจำนวนมากกว่าที่คาดไว้ ที่น่าสนใจคือ หัวหน้าทัวร์ทริปนี้ถามซูว่า "เกาหลีเหนือดีกว่าเกาหลีใต้หรือไม่" แต่หัวหน้าทัวร์ปฏิเสธที่จะชมภาพที่เขาถ่ายได้เมื่อครั้งท่องเที่ยวที่เกาหลีใต้
ด้านล่างคือภาพถ่ายสถานที่ในเกาหลีเหนือที่ถ่ายได้จากกูเกิลกลาส ขอบคุณภาพจากสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น