ในวันที่ไม่มีธุรกิจโทรศัพท์มือถือในอ้อมแขน เจ้าพ่อสัญชาติฟินแลนด์อย่างโนเกีย (Nokia) ตัดสินใจลุยลงทุนเต็มที่ในธุรกิจ"รถอัจฉริยะ" งานนี้นักวิเคราะห์มองว่าโนเกียมองเห็นโอกาสงามรออยู่ในวงการยานยนต์แห่งอนาคตที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและสามารถนำข้อมูลเรียลไทม์มาใช้ในการขับเคลื่อนได้อย่างฉลาดมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสเดียวกับที่มหาเศรษฐี "อีลอน มัสก์ (Elon Musk)" และกูเกิล (Google) มองเห็นและได้ลงทุนล่วงหน้าไปก่อนแล้ว
การ"ร่วมวงกูเกิล"ของโนเกียในการลงทุนกับธุรกิจรถอัจฉริยะนั้นได้รับความสนใจจากนักสังเกตการณ์อย่างมาก โดยบริษัทโนเกียในนาม Nokia Oyj ประกาศเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่าได้วางแผนเทเงินทุนมากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐในการหนุนหลังบริษัทที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้งานในยานยนต์อัจฉริยะ โดยการลงทุนครั้งนี้จะทำผ่านกองทุนที่โนเกียตั้งขึ้นใหม่ บนจุดประสงค์เพื่อให้เงินทุนนี้สามารถต่อยอดธุรกิจแผนที่ดิจิตอลของโนเกียในอนาคต
แม้เงิน 100 ล้านเหรียญสหรัฐจะถือเป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่า 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐที่โนเกียขายส่วนธุรกิจมือถือให้กับไมโครซอฟท์ (Microsoft) และการซื้อขายเสร็จสิ้นสมบูรณ์เรียบร้อยตั้งแต่เดือนเมษายน 2014 แต่การลงทุนครั้งใหม่กับธุรกิจด้านซอฟต์แวร์และบริการเกี่ยวกับรถยนต์มีนัยสำคัญสูงมาก เพราะนี่อาจเป็นบันไดสำคัญที่จะทำให้โนเกียลืมตาอ้าปากได้ในตลาดคอนซูเมอร์อีกครั้ง
โนเกียให้รายละเอียดการลงทุนครั้งนี้ที่งานประชุมโมบายอินเทอร์เน็ตโลกหรือ Global Mobile Internet Conference ที่กรุงปักกิ่ง ว่าเงิน 100 ล้านเหรียญจะเป็นกองทุนที่โนเกียตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในธุรกิจเกิดใหม่ (สตาร์ทอัป) ที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์และบริการสำหรับระบบรถยนต์ ผู้ดูแลกองทุนนี้คือกลุ่มพันธมิตร Nokia Growth Partners (NGP) ซึ่งจะเน้นลงทุนในเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับแผนงานของทีมพัฒนาระบบแผนที่ดิจิตอล HERE ของโนเกีย
HERE นั้นเป็น 1 ใน 3 ธุรกิจที่โนเกียยังเหลือไว้หลังจากขายส่วนธุรกิจมือถือไปแล้ว เป้าหมายหลักของการลงทุนครั้งนี้คือเพื่อส่งเสริมระบบแวดล้อมหรือ Ecosystem สำหรับบริการแผนที่ HERE ให้มีประสิทธิภาพ และสามารถกลมกลืนรวมถึงผสานระบบ HERE เข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบรถยนต์ได้ดียิ่งขึ้น โดยอีก 2 ธุรกิจที่โนเกียมองว่ายังสามารถสร้างชื่อและทำรายได้เลี้ยงโนเกียอยู่คือแผนกธุรกิจวิจัยพัฒนาสิทธิบัตรเทคโนโลยี และแผนกงานโครงข่ายพื้นฐานระบบโทรคมนาคม จุดนี้ราจีฟ ซูริ (Rajeev Suri) ซีอีโอคนใหม่ของโนเกียเคยประกาศไว้ในโอกาสรับตำแหน่งใหม่เมื่อ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ว่าแผนกงานทั้งหลายของโนเกียจะให้ความสนใจกับการสร้างสรรค์สินค้าใหม่สำหรับผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งธุรกิจรถอัจฉริยะนั้นเข้าข่าย"สินค้าใหม่สำหรับผู้บริโภค"แทบทุกประการ
แม้ว่าที่ผ่านมา โนเกียจะไม่สามารถไล่ทันการเปลี่ยนแปลงในตลาดสมาร์ทโฟนโลกที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่การเปิดตัวไอโฟน (iPhone) ในปี 2007 ก็ตาม
***โนเกียต้องเกิดใหม่
นักวิเคราะห์มองว่าโนเกียกำลังพยายามปฏิวัติตัวเองหลังจากขายส่วนธุรกิจมือถือให้ไมโครซอฟท์ไป สิ่งที่โนเกียเลือกทำอีกอย่างคือการขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ เพื่อหาแหล่งรายได้ที่นอกเหนือจากธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งทำเงินเข้ากระเป๋าโนเกียได้มากที่สุดในบรรดา 3 ธุรกิจที่มีอยู่
เรื่องนี้นักสังเกตการณ์มองว่าไม่เพียงขยายธุรกิจ โนเกียยังพยายามหาทางเสริมแกร่งธุรกิจแผนที่ดิจิตอลของตัวเองให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งที่แกร่งกว่าในตลาดแผนที่อย่างกูเกิลด้วย อย่างไรก็ตาม โนเกียไม่ได้ยอมรับเรื่องนี้โดยตรง โดยพันธมิตรในกลุ่มทุนโนเกีย "พอล อาเซล (Paul Asel)" ให้สัมภาษณ์เพียงว่าแผนลงทุนครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะโนเกียได้เห็นนวัตกรรมเกิดขึ้นบนระบบ Ecosystem ของรถยนต์ในปัจจุบัน ซึ่งผสานข้ามทั้งเทคโนโลยีอุปกรณ์พกพาและเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต
จุดสำคัญคือโนเกียมองว่า "รถยนต์" จะเป็นแพลตฟอร์มหลักเหมือนที่แพลตฟอร์มสมาร์ทโฟนสามารถแทนที่โทรศัพท์มือถือธรรมดาได้ในขณะนี้ โดยแอปพลิเคชันและบริการในอนาคตจะถูกพัฒนาเพื่อให้สามารถใช้งานได้บนรถยนต์ ดังนั้นโนเกียจึงต้องพยายามหาทางเกิดใหม่อีกครั้งด้วยการทำทุกทางเพื่อให้ชื่อโนเกียได้มีส่วนร่วมในแพลตฟอร์มรถยนต์โดยเร็วที่สุด
วันนี้โนเกียสร้างธุรกิจพัฒนาเทคโนโลยีแผนที่ดิจิตอลจากการซื้อบริษัทพัฒนาแผนที่ดิจิตอลในชิคาโก "เนฟเทค (Navteq Corp.)" ด้วยมูลค่า 8.1 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2008 และบริษัทผู้สร้างแผนที่ 3 มิตินามว่า "เอิร์ธไมน์ (Earthmine Inc.)" ในปี 2012 ที่ผ่านมา โนเกียให้บริการข้อมูลแผนที่แก่บริษัทรายใหญ่อย่าง Amazon.com Inc., Microsoft, Yahoo! Inc. รวมถึงผู้ให้บริการระบบนำทางในรถยนต์ราว 4 ราย
ไม่ว่าการมองหาหนทางเกิดใหม่บนแพลตฟอร์มรถยนต์ของโนเกียจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องหรือไม่ แต่อย่างน้อย นักลงทุนก็อุ่นใจมากขึ้นกับการหันไปมองหาโอกาสโตบนแพลตฟอร์มอื่นที่ไม่ใช่สมาร์ทโฟน เพราะนับตั้งแต่โนเกียตัดสินใจทิ้งธุรกิจโทรศัพท์มือถือไป หุ้นโนเกียก็เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดต่อเนื่อง 78% (ตั้งแต่เดือนกันยายน ปีที่แล้ว)
***ทั่วโลกขานรับ
ประเด็น"รถอัจฉริยะคือแพลตฟอร์มแห่งอนาคต"นั้นกลายเป็นจุดสนใจของหลายบริษัททั่วโลก ไล่ตั้งแต่กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์หลายสัญชาติที่พร้อมใจเปิดตัวระบบนำทางบนแผงคอนโซลหน้าของรถยนต์ซึ่งฉลาดขึ้น มีการเพิ่มคุณสมบัติใหม่ให้ผู้ใช้สามารถนำข้อมูลจราจรเรียลไทม์มาช่วยเลือกเส้นทางที่ดีที่สุด รวมถึงการเปิดให้ผู้ใช้รถได้ต่อสายขอรับบริการอัตโนมัติในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ขณะที่บริษัทไอทีอย่างไมโครซอฟท์และแอปเปิล (Apple) ลงมือพัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเองให้สามารถทำงานร่วมกับระบบคอนโซลบนรถได้อย่างลื่นไหล พร้อมกับที่กูเกิลเดินหน้าพัฒนาระบบรถไร้คนขับอย่างเต็มตัว เช่นเดียวกับผู้เล่นอิสระอย่าง "เทสลา มอเตอร์ (Tesla Motors Inc.)" ของมหาเศรษฐีอเมริกันที่มุ่งพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าไฮเทคแบบที่ไม่เคยมีรถค่ายใดทำได้
กรณีของกูเกิล ซึ่งถูกมองว่าเป็นคู่แข่งโดยตรงของโนเกียนั้นถูกมองว่าน่าจับตาที่สุด เพราะผู้ผลิตรถยนต์หลายรายแสดงจุดยืนพร้อมติดตั้งระบบรถไร้ขับของกูเกิลแล้ว เช่นโตโยต้า (Toyota Motor Corp.) ที่ยืนยันเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่าการนำระบบของกูเกิลไปใช้งานอาจต้องกินระยะเวลาราว 2 ปีเพื่อให้ระบบบนรถของโตโยต้าสามารถสื่อสารกันได้แม่นยำ ซึ่งจะทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ด้านจีเอ็ม (General Motors Co.) ก็ประกาศว่าจะเปิดตัวรถไร้คนขับให้ได้ภายในปี 2020 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า
สำหรับเศรษฐีอเมริกันอย่าง Musk ที่การันตีว่าจะพัฒนารถไร้คนขับในรถพลังงานไฟฟ้าของ Tesla นั้นมองว่านวัตกรรมของรถอัจฉริยะในวันนี้ไม่ได้มาจากบริษัทใหญ่ในซีกโลกตะวันตกเท่านั้น แต่ยังมาจากบริษัทในจีนและอินเดียด้วย จุดนี้สะท้อนชัดเจนว่า ตลาดรถอัจฉริยะจะขยายตัวครอบคลุมเศรษฐกิจทุกพื้นที่ทั่วโลกในอนาคต และจะย่นเวลาให้ผู้ผลิตรถได้ติดตั้งเทคโนโลยีรถอัจฉริยะได้รวดเร็วขึ้นแน่นอน
สำหรับรถของ Tesla วันนี้ยานยนต์สัญชาติอเมริกันสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และสามารถให้บริการป้องกันรถหายกับเจ้าของรถได้แล้ว รวมถึงบริการ"ผู้ช่วยริมถนน"ที่จะพร้อมรับคำสั่งจากผู้ขับขี่ผ่านเสียงได้แบบอัตโนมัติ
วิดีโอที่เกี่ยวข้อง:
Company Related Link :
Nokia
CyberBiz Social