xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.ยันโครงการ APPS โปร่งใส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทอท.โต้กระบวนการล้มประมูลโครงการระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า (APPS) เป็นแค่เอกชนบางรายอกหักไม่มีของเข้าประมูล ตีรวนยืมมือ สตง.ไล่บี้หวังล้มประมูล ยันโครงการโปร่งใสตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน วอนเห็นแก่ประโยชน์ประเทศชาติ ระวังภัยก่อการร้าย และเพิ่มประสิทธิภาพสนามบิน มากกว่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว

แหล่งข่าวจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) กล่าวถึงการประมูลโครงการจ้างให้บริการระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า (APPS) ว่า ความคืบหน้าล่าสุดคือขณะนี้อยู่ในช่วงทดสอบระบบของ 2 กลุ่มที่ยื่นข้อเสนอ ประกอบด้วย 1. กลุ่มของบริษัท สามารถ กับบริษัท โสมาภา อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี ที่ใช้ระบบของ SITA 2. กลุ่มของบริษัท ล็อกซเล่ย์ ที่ใช้ระบบของ ARINC โดยหากผ่านการทดสอบข้อเสนอด้านเทคนิคแล้วจะนำไปสู่การเปิดซองข้อเสนอด้านราคาเพื่อหาผู้ชนะในโครงการนี้ ซึ่งขั้นตอนการประมูลเป็นไปอย่างโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ โดยนายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.เคยระบุไว้ว่า ทอท.จะพิจารณาเลือกเอกชนที่สามารถจัดหาอุปกรณ์ตามสเปกที่ ทอท.ต้องการ และเสนอราคาค่าคัดกรองหรือค่าภาระต่อผู้โดยสารในอัตราที่ต่ำที่สุด

แต่ปรากฏว่ากำลังเกิดกระบวนการยื้อยุดฉุดกระชากทำทุกอย่างเพื่อให้การประมูลล้มลงไปให้ได้ แม้กระทั่งการยืมมือ สตง.ส่งหนังสือถึง ทอท.อ้างถึงข้อพิรุธในโครงการนี้ โดยเฉพาะประเด็นไม่มีการกำหนดเงื่อนไขหลักประกันซองประกวดราคา หรือการกำหนดราคากลาง พร้อมทั้งยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าหาก ทอท.ดำเนินการประมูลไปแล้วเกิดความผิดพลาดจะต้องรับผิดชอบหากเกิดความเสียหาย

“เรียกได้ว่ามีเอกชนบางรายที่อกหัก หลังพาร์ตเนอร์ต่างประเทศไปจับมือกับคนอื่นยื่นประมูล ทำให้บริษัทตัวเองไม่มีของเข้าประมูล ก็อยากวิ่งให้ล้มประมูลไปเสีย เพื่อแสดงศักยภาพให้พาร์ตเนอร์เห็นว่าต้องจับกับตัวเองเหมือนก่อนหน้านี้ ไม่อย่างนั้นก็จะไม่ได้งาน เพราะทั่วโลกใช้ระบบของ SITA กับ ARINC กว่า 90% ไปแล้ว”

***ระบบ APPS ต้านภัยก่อการร้าย

โครงการ APPS ตั้งไข่ครั้งแรกหลังเหตุการณ์ถล่มตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2544 โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมพิจารณาความเหมาะสมในการนำระบบ APPS มาใช้ในประเทศไทย เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายที่เป็นจุดอ่อนของประเทศ รวมถึงแก้ไขสภาพความคับคั่งของการตรวจสอบผู้โดยสารของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสารมาโดยตลอด

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะทำงาน โดยมีอธิบดีกรมการบินพลเรือนเป็นประธาน และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สตม. ทอท. กรมศุลกากร และคณะที่ปรึกษา โดยได้รับการแต่งตั้งตามมติ กรอ. ครั้งที่ 1/2554 และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2554 เพื่อศึกษาแนวทางในการนำระบบ APPS มาใช้ รวมถึงการออกข้อบังคับและพิจารณาอัตราค่าภาระสำหรับผู้โดยสาร และได้เชิญบริษัท SITA กับ ARINC ที่มีประสบการณ์ในการให้บริการระบบ APPS มาให้ข้อมูลอัตราค่าภาระของระบบนี้ในต่างประเทศ

“จากอัตราค่าภาระเริ่มต้นที่ 90 บาท จนสุดท้ายคณะกรรมการเห็นชอบในการกำหนดอัตราค่าภาระต่อผู้โดยสารที่เหมาะสมเท่ากับ 50 บาท ทั้งนี้ ในส่วนของการคำนวณต้นทุนค่าบริการระบบ APPS อยู่ที่ 32 บาทต่อเที่ยวต่อผู้โดยสาร โดยอธิบดีกรมการบินพลเรือนนำเสนอให้ รมว.คมนาคมเห็นชอบและลงนำประกาศเป็นข้อบังคับในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2555”

สำหรับในด้านปฏิบัติการ ทอท.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาและร่างทีโออาร์ขึ้น โดยที่โครงการ APPS จะเป็นลักษณะการจัดจ้างให้บริการ โดยบริษัทเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ทั้งอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ รวมทั้งการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลระบบตลอด 24 ชม. ในทีโออาร์จึงไม่มีการกำหนดสเปกอุปกรณ์ที่นำเสนอ แต่ ทอท.ได้กำหนดในเรื่องประสิทธิภาพและผลลัพธ์ของระบบที่ต้องตอบสนองในเรื่องของเวลาที่น้อยที่สุดโดยไม่ให้กระทบต่อการให้บริการของสายการบินต่างๆ เป็นสำคัญแทน เช่น การตอบกลับผลการตรวจสอบภายใน 3 วินาทีให้แก่สายการบิน

สำหรับเงื่อนไขและขั้นตอนในการจัดเก็บอัตราค่าภาระจากผู้โดยสารนั้น จัดเก็บผ่านทางสายการบิน โดยมีการสอบทวนข้อมูลจำนวนของผู้โดยสารที่ขึ้นเครื่องและจำนวนผู้โดยสารที่มาใช้บริการที่สนามบินก่อนที่จะนำไปจ่ายค่าบริการให้แก่ผู้ให้บริการ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบโดยหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบของ ทอท.ก่อนทุกครั้ง โดยดำเนินการตามขั้นตอนและระเบียบของ ทอท. จึงไม่มีความเสี่ยงในการลงทุนหรือปัญหาด้านงบประมาณแต่อย่างใด

*** ยันประมูลโปร่งใส

ทอท.ได้ประกาศประกวดราคาโครงการ APPS ครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2556 โดยมีผู้ซื้อซองประกวดราคาจำนวน 8 รายและกำหนดยื่นซองในวันที่ 20 ก.ย. 2556 แต่ปรากฎว่ามีผู้ยื่นซองรายเดียวคือกลุ่มบริษัทสามารถ กับบริษัท โสมาภา อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี ทำให้ต้องล้มการประมูลไป หลังจากนั้นจึงได้มีการปรับปรุงทีโออาร์ใหม่ให้เปิดกว้างมากขึ้น และเปิดประมูลครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2557 โดยมีผู้ซื้อซองเดิม 8 รายและมีผู้ซื้อซองใหม่ 2 ราย ซึ่งการประมูลครั้งนี้มี 2 กลุ่มยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 21 เม.ย. 2557 และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการในขั้นตอนการทดสอบระบบ (ในการประมูลครั้งแรกกลุ่มซีดีจี จับมือกับ ARINC แต่การประมูลครั้งที่ 2 ARINC เลือกจับกับล็อกซเล่ย์แทน)

แหล่งข่าวระบุว่า เทคโนโลยี APPS จะช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการของ สตม. โดยช่วยลดระยะเวลาในการตรวจสอบผู้โดยสารของเจ้าหน้าที่ประจำด่านสนามบิน และเพิ่มประสิทธิภาพการบริการภายในท่าอากาศยาน โดยเฉพาะเพื่อรองรับ AEC ในปี 2558 ซึ่งไทยได้ลงนามข้อตกลงการบินแบบพหุภาคี เพื่อให้ทั้ง 10 ประเทศอาเซียนสามารถเปิดเสรีการบินผู้โดยสารได้โดยไม่จำกัดจุดบิน ไม่จำกัดจำนวนเที่ยวบิน และความถี่เที่ยวบิน จะส่งผลให้มีเที่ยวบินระหว่างประเทศมากขึ้น

ประโยชน์อีกด้านหนึ่งของการนำระบบ APPS มาใช้จะทำให้สายการบินสามารถลดต้นทุนการส่งผู้โดยสารกลับ เนื่องจากผู้โดยสารที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเฝ้าระวัง (Watch list) และบัญชีรายชื่อต้องห้าม (Black list) ของประเทศปลายทางจะไม่ได้รับการอนุญาตให้ขึ้นเครื่องที่ต้นทางได้

*** โต้ประเด็นข้อสงสัย สตง.

สำหรับข้อกังวลของ สตง.ในเรื่องค่าตอบแทนของ สตม.ที่ได้รับจากค่าคัดกรองในอัตรา 5 บาทต่อคนต่อเที่ยวหรือประมาณ 1,500 ล้านบาทตลอดอายุสัญญา 5 ปีจากเอกชน ที่ระบุว่าเอกชนจะได้ประโยชน์ในการนำค่าตอบแทนจำนวน 1,500 ล้านบาทไปหมุนเวียนนั้น ถ้าดูจากเงื่อนไขของโครงการซึ่งได้กำหนดว่าผู้รับจ้างจะแจ้งสรุปเบิกค่าจ้างเป็นรายเดือน ทำให้ค่าตอบแทนที่จะผ่านจากผู้รับจ้างเดือนละประมาณ 18 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการตรวจรับของโครงการจะต้องติดตามการส่งมอบค่าตอบแทนดังกล่าวอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่เอกชนคู่สัญญาจะหาประโยชน์จากวงเงินตรงนี้

ส่วนเรื่องการไม่กำหนดหลักประกันซองนั้น เนื่องจากโครงการนี้ได้กำหนดให้ผู้ยื่นต้องมีรายชื่อในทะเบียนคู่ค้า ซึ่งระบุว่าไม่ต้องจัดทำหลักประกันในการยื่นซอง ซึ่งในกรณีที่ได้รับการพิจารณาให้เข้ามาทำสัญญาแต่ไม่ดำเนินการด้านสัญญา ทอท.มีขั้นตอนและกระบวนการกลั่นกรองในการที่แต่ละบริษัทยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นคู่ค้ากับ ทอท.อยู่แล้ว ซึ่งยังไม่ปรากฏว่าเกิดกรณีชนะการประกวดราคาแล้วไม่มาทำสัญญา ในกรณีถ้าบริษัทที่ชนะการประกวดราคาแล้วไม่มาทำสัญญานั้น ทอท.จะคัดรายชื่อออกจากทะเบียนคู่ค้า ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถเข้ามาเสนองานต่อ ทอท.ได้อีกต่อไป

สำหรับเรื่องราคากลางของโครงการนี้มีการดำเนินการมานานแล้วในอัตรา 50 บาทต่อผู้โดยสารต่อเที่ยว โดยอธิบดีกรมการบินพลเรือนได้นำเสนอให้ รมว.คมนาคมเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 55

“หากโครงการนี้ต้องล่าช้าออกไปอีกตามความต้องการของเอกชนบางรายก็ถือว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก เพราะขั้นตอนประมูลทุกอย่างสามารถตรวจสอบได้หมด ที่สำคัญระบบ APPS จะช่วยคัดกรองผู้โดยสาร ทำให้สนามบินของ ทอท.ทั้ง 6 แห่งสามารถให้บริการด้วยประสิทธิภาพที่สูงขึ้นและเป็นการป้องกันภัยก่อการร้ายที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นด้วย”

Company Related Link :
ทอท.

CyberBiz Social



Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket
กำลังโหลดความคิดเห็น