xs
xsm
sm
md
lg

ทรูอินคิวบ์เผย 3 สตาร์ทอัพสร้างรายได้แล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ผู้อำนวยการบริหาร ทรู อินคิวบ์
ทรู อินคิวบ์ นำทีมสตาร์ทอัพที่คัดเลือกแล้ว 2 ทีมจาก 6 ทีมออกไปหาประสบการณ์กับ 500 Startups พร้อมร่วม Boot Camp ที่ซิลิกอน วัลเลย์ เรียบร้อยแล้ว เตรียมต่อยอดทำธุรกิจอย่างจริงจัง เผยเฟส 2 เตรียมประกาศผลสตาร์ทอัพอีก 5 ทีมที่จะสนับสนุนเร็วๆ นี้ ชี้จะใช้บริษัทเหล่านี้เป็นตัวสร้างอินโนเวชันใหม่ๆ ให้แก่ธุรกิจในกลุ่มทรูแทนที่จะต้องเสียเวลาทำเอง พร้อมเผย 3 สตาร์ทอัพที่ร่วมลงทุนเริ่มสร้างรายได้และคาดว่าจะกำไรในปีนี้

นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ผู้อำนวยการบริหาร ทรู อินคิวบ์ กล่าวว่า ทรู อินคิวบ์หรือโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการไทยด้านเทคโนโลยี ได้นำผู้ประกอบการ 2 ทีม คือ Sticgo และ SellSuki จากทั้งสิ้น 6 ทีมที่ได้รับการคัดเลือกในโครงการฯ ไปเข้าเรียนรู้การสร้างธุรกิจโดยตรงกับ 500 Startups ซึ่งเป็นโปรแกรมสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพชั้นนำของโลก โดย 2 ทีมดังกล่าวนี้ได้เข้าร่วม Boot Camp ที่ซิลิกอน วัลเลย์ สหรัฐอเมริก และมีโอกาสได้พบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์กับสตาร์ทอัพจากทุกทวีปกว่า 30 บริษัท
Mocha Plus แหล่งรวมแคตตาล็อก โบรชัวร์ และข้อมูลสินค้า จากหลากหลายแบรนด์ร้านดัง ทั่วไทย
“ปัจจุบัน 500 Startups มีผู้ประกอบการหน้าใหม่ประมาณ 5,000 สตาร์ทอัพ และมีการลงทุนประมาณ 200 บริษัท ส่วนโครงการของทรูฯ มีเข้ามา 150 ทรูเข้าไปร่วมลงทุน 6 ราย โดยการส่งทีมเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในครั้งนี้เราเชื่อว่ามาตรฐานของเราไม่ต่างจากใคร และมีโอกาสที่จะเติบโตได้ในตลาดโลก โดยขณะนี้ธุรกิจของทั้ง 2 รายดังกล่าวได้เริ่มสร้างรายได้แล้ว”

ทั้งนี้ สำหรับโปรแกรม ทรู อินคิวบ์ เฟส 2 นั้นขณะนี้ได้เริ่มทำการคัดเลือกแล้ว โดยคาดว่าจะสามารถประกาศผลได้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะมีทีมผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 5 ทีม และมีเงินสนับสนุนในการทำธุรกิจให้ 5 แสนบาท จากงบประมาณในโครงการนี้ทั้งหมด 250 ล้านบาท
SellSuki แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแห่งแรกของโลกที่ออกแบบมาเพื่อการขายผ่านการแชท
ด้านนายสาโรจน์ อธิวิทวัส ผู้จัดการทั่วไป ทรู อินคิวบ์ กล่าวว่า นอกเหนือไปจากการได้เข้าร่วม Boot Camp แล้ว สตาร์ทอัพของไทยยังได้มีโอกาสเยี่ยมชมบริษัทชั้นนำระดับโลก เช่น Apple Google Facebook และ Twitter โดยนับจากนี้ทรูจะมีการนำทีมงานขายเข้าไปช่วยการทำตลาด เจาะในกลุ่มคอร์ปอเรตที่สนใจจะทำธุรกิจร่วมกับสตาร์ทอัพเหล่านี้ ซึ่งการสนับสนุนให้เกิดโครงการนี้จะถือเป็นการสร้างอินโนเวชันผ่านบริษัทสตาร์ทอัพแทนทรูซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ บางครั้งอาจคิดและทำอะไรได้ไม่รวดเร็วเท่าผู้ประกอบการรายเล็กๆ

นายพิริยะ ตันตราธิวุฒิ ทีม Sticgo กล่าวว่า การเข้าร่วม Boot Camp ดังกล่าวทำให้พบว่าไอเดียดีๆ เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้นในการทำธุรกิจ เพราะในโลกของนักลงทุนจะมุ่งเน้นแต่ทีมที่สามารถทำธุรกิจได้จริง มองหาธุรกิจที่สร้างรายได้ขึ้นมาเพื่อทำให้บริษัทอยู่ต่อไปได้มากกว่า นอกจากนี้ยังได้ข้อคิดที่ว่าตัวของสตาร์ทอัพเองต้องพยายามหารายได้ให้เร็วกว่าเดิม แทนที่จะรอให้นักลงทุนเข้ามาเพียงอย่างเดียว และปรับกระบวนการพูดคุยธุรกิจให้สั้นลงเพื่อให้เข้าถึงโอกาสที่เร็วขึ้น
Sticgo แอพพลิเคชั่นสติ๊กเกอร์แต่งรูปบนมือถือ สำหรับแต่งรูปเพื่อเช็คอินตามสถานที่โปรดและตามเทศกาลต่างๆ ด้วยสติ๊กเกอร์น่ารักที่ไม่ซ้ำแบบ
“ในส่วนของพนักงานเองนั้นต้องเน้นการดูแลพนักงานในบริษัท ให้อิสระแก่พนักงาน มีอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ที่สามารถตอบสนองกับงานได้ สร้างบรรยากาศที่น่าทำงาน โดยไม่จำเป็นต้องมีข้อกำหนดตายตัวเช่นเข้างานเป็นเวลา แต่ต้องใช้ความเชื่อใจเป็นสำคัญ”

ทั้งนี้ Sticgo เป็นแอปพลิเคชันแต่งรูปบนมือถือ สำหรับแต่งรูปเพื่อเช็กอินตามสถานที่โปรดและตามเทศกาลต่างๆ สามารถสะท้อนจุดเด่นและเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละสถานที่ได้ รวมถึงเทศกาลต่างๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศ ปัจจุบันมีแฟนเพจเฟซบุ๊กเกือบ 70,000 คน มียอดดาวน์โหลดกว่า 120,000 ครั้ง มีสติกเกอร์ให้เลือกใช้กว่า 1,500 แบบ โดยมีลูกค้าใช้บริการแล้ว เช่น ร้าน Urban Studio ในเครือเซ็นทรัล งานอีเวนต์ปีใหม่ของเซ็นทรัลเวิลด์ และล่าสุดได้ร่วมมือกับเดอะมอลล์กรุ๊ป และทรูมูฟเอช เรียบร้อยแล้ว

โดย Sticgo มีการออกสติกเกอร์ใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ โดยผู้ใช้คือผู้เล่นทั่วไป ใช้งานฟรี โหลดได้ทันที ซึ่งแบรนด์ที่ต้องการจะสื่อสารให้ลูกค้าเข้ามารู้จักสามารถใช้บริการได้โดยเราจะสร้างคอนเทนต์ให้กับแบรนด์ โดยจะคิดค่าใช้จ่ายตามงานที่ให้ทำ เช่น การออกแบบสติกเกอร์ การทำตลาด รวมไปถึงการใช้แพลตฟอร์มของเรา คิดราคาเป็นแบรนด์บายแบรนด์ตามงานที่ต้องการ ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะถึงจุดคุ้มทุน นอกจากนี้กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับนักลงทุนชาวไต้หวัน

ด้าน เลอทัด ศุภดิลก ทีม SellSuki กล่าวว่า หลังจากกลับมาแล้วทางทีมงานเริ่มกลับมามองเรื่องวัฒนธรรมองค์กรมากขึ้น และให้ความสำคัญต่อตัวเลขว่าเงินหนึ่งบาทได้อะไรกลับคืนมา ดูความคุ้มทุนมากขึ้น ซึ่งการได้ไวรัลหรือติดอันดับ 1 ไม่สำคัญเท่ากับว่าการลงทุนไป 1 บาทแล้วได้อะไรกลับมา ดังนั้นผู้ที่คิดจะทำสตาร์ทอัพต้องมีโมเดลธุรกิจที่แน่นอนในตลาดที่ใหญ่อันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และยังทำให้มองเห็นว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมีการสร้างสภาวะแวดล้อมต่อธุรกิจสตาร์ทอัพมากกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา

SellSuki ถือเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ออกแบบมาเพื่อการขายผ่านทางแชต โดยจะช่วยให้ร้านค้าสามารถขายสินค้าบนเฟซบุ๊กแฟนเพจได้จริง อาศัยเครื่องมือง่ายๆ มารวบรวมให้เป็นระบบและใช้งานได้ง่ายกว่าการซื้อขายผ่านอินบอกซ์แบบเดิม โดยจะมีการแจ้งเตือนต่างๆ ทั้งออเดอร์ มีการโอนเงินแล้ว ช่วยลดเวลาขั้นตอนการซื้อขายประมาณ 1 ชั่วโมงให้เหลือ 5 นาที ปัจจุบันมีร้านค้าใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวแล้วกว่า 1,400 ร้านค้า และทำการขายผ่านระบบแล้วคิดเป็นมูลค่ากว่า 7 ล้านบาท และคาดว่าในสิ้นปีนี้จะเริ่มมองเห็นผลกำไร

ด้าน Mocha+ หนึ่งในธุรกิจสตาร์ทอัพของทรู ที่แม้จะไม่ได้ไปเข้าร่วม Boot Camp แต่ทางด้านการทำธุรกิจแล้วถือว่าน่าจับตามองเช่นกัน โดยนายพงศธร พิพัฒน์ธรรม จากทีม Mocha+ กล่าวว่า Mocha+ เป็นแอปพลิเคชัน รวมข้อมูลสินค้า โบรชัวร์ แค็ตตาล็อก ข้อมูลสินค้าของร้านค้าต่างๆ ในเมืองไทย โดยแค็ตตาล็อกดังกล่าวจะสามารถบอกรายละเอียดของสินค้า ข้อมูลติดต่อ และสถานที่ตั้ง ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ให้แก่ผู้ค้นหาสินค้าได้เป็นอย่างดี โดยผู้ใช้งานจะสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ และบางอย่างเป็นอินเตอร์แอ็กทีฟ

ปัจจุบัน Mocha+ มีแค็ตตาล็อกที่จำนวนแบรนด์สินค้ามากกว่า 250 ฉบับ จาก 75 แบรนด์ มีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 13,000 คน แต่ขณะนี้ยังให้บริการบนไอโอเอสเป็นหลัก โดยเปิดให้แบรนด์ที่สนใจสามารถเข้าใช้บริการสร้างแอปแค็ตตาล็อกร่วมกันได้ โดยมีออปชันให้เลือกตามความต้องการ นอกจากนี้ยังจะมีระบบหลังบ้านในการทำสถิติต่างๆ อย่างเช่น ฐานคนใช้อยู่ที่ไหน สินค้าที่เลือกดูส่วนใหญ่เป็นใคร เพื่อดูแนวโน้มของตลาดด้วย ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มว่าทรูจะใช้แอปนี้ในการทำแค็ตตาล็อกสินค้าในกลุ่มทรูอีกด้วย

Company Related Link :
True

CyberBiz Social



Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket
กำลังโหลดความคิดเห็น