เปิดพันธกิจ “ศุภชัย” 5 ปี กลุ่มทรูต้องให้บริการคลุม 10% ประชากรโลก ลั่นถึงเวลาเฟ้นหาพาร์ตเนอร์มาช่วยขยายตลาดในภูมิภาคเอเชีย มั่นใจปีนี้ยังสามารถรักษาอัตราการเติบโต 8-9% ได้ วอน กสทช.ปล่อยคลื่น 1800 MHz ให้เอกชนฟรี เพื่อนำเงินไปใช้ในการลงทุนแทน พร้อมเผยแผนลงทุนปี 57 มูลค่า 2.65 หมื่นล้านบาท
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงพันธกิจของกลุ่มทรูในช่วง 5 ปีข้างหน้าว่าจะเน้นไปที่การช่วยให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ความรู้อย่างทั่วถึงทั้ง 100% ของประชากรผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง ที่จะพัฒนาต่อไปในทุกๆ เทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ขณะเดียวกันก็วางแผนไว้ว่าจะกลายเป็นผู้เล่นในระดับภูมิภาคที่มีฐานลูกค้ากว่า 100 ล้านรายจากธุรกิจหลัก 3 ธุรกิจ คือ โทรศัพท์มือถือ บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต และเคเบิลทีวีนอกจากนี้ยังเชื่อว่าบริการภายใต้แพลตฟอร์มของกลุ่มทรูจะเข้าถึงผู้ใช้งาน 10% ของประชากรทั่วโลก รวมถึงการเป็นผู้ให้บริการที่มีคุณภาพระดับสูงในภูมิภาค ส่วนในมุมของผู้ถือหุ้นก็จะได้รับผลตอบแทนและเก็บเกี่ยวการลงทุนที่ดีจากกลุ่มทรู และสุดท้ายคือ เป็น 1 ใน 10 องค์กรที่มุ่งการตอบแทนสังคม (CSR) ในภูมิภาคเอเชีย
“สิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นก็จะอยู่ภายใต้การให้บริการแบบคอนเวอร์เจนซ์ที่กลุ่มทรูยึดถือมาตลอด และเชื่อว่าท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคพึงพอใจมากที่สุด”
ส่วนผลประกอบการของกลุ่มทรูในปีที่ผ่านมามีรายได้จากการให้บริการรวม 6.63 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 7.2% ขณะที่มีผลขาดทุนสุทธิ 9.1 พันล้านบาท ที่เกิดจากค่าใช้จ่ายจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของทรูมูฟในช่วงเดือนกันยายน ปีที่ผ่านมา
“คาดว่าในปีนี้กลุ่มทรูจะกลับมามีกำไร เพราะปีที่ผ่านมาได้ทำการปรับฐานทั้งในแง่ของโครงสร้างการเงิน ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการให้บริการเข้าสู่จุดศูนย์กลาง รวมถึงรายได้จากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม (True GIF) ที่จะเริ่มทยอยเข้ามาในปีนี้”
ส่วนการเติบโตในปี 2557 คาดว่าทั้งกลุ่มทรูจะมีอัตราการเติบโตราว 8-9% โดยแบ่งเป็นในธุรกิจโทรศัพท์มือถือที่จะเติบโตราว 13-17% ในขณะที่ตลาดรวมจะเติบโตราว 10-12% โดยเฉพาะในกลุ่มของนอนวอยซ์ที่ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันมีลูกค้าที่ใช้บริการโทรศัพท์มือถือในกลุ่มทรูราว 22.9 ล้านรายในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา โดยยังอยู่ภายใต้บริษัท ทรูมูฟ ราว 10 ล้านราย ที่ยังทยอยโอนย้ายอยู่ และคาดว่าจะถึงช่วงเดือนกันยายนจะสามารถโอนย้ายลูกค้าได้ราว 90%
ในขณะเดียวกันก็ได้วางแผนรองรับลูกค้าที่ไม่ยอมโอนย้ายไว้แล้ว อย่างเช่น การเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz ที่ทาง กสทช.จะเปิดให้มีการประมูลเพื่อนำมาให้บริการลูกค้าต่อไป ซึ่งถ้าประมูลได้สินทรัพย์ที่เสื่อมราคาไปในช่วงที่ผ่านมาก็จะกลับกลายมาเป็นรายได้ให้กลุ่มทรูด้วยเช่นเดียวกัน
“ในการประมูลคลื่นความถี่ ถ้า กสทช.ยอมให้เอกชนนำคลื่นไปใช้งานได้ฟรี ก็จะช่วยให้เอกชนสามารถนำเงินไปลงทุนได้ เพราะจากการประมูลดิจิตอลทีวีที่ผ่านมาทาง กสทช.ก็ได้เงินเข้าไปกว่า 5 หมื่นล้านบาทแล้ว”
ส่วนลูกค้าที่อยู่ภายบริษัท เรียลฟิวเจอร์ ที่ให้บริการบนคลื่น 2100 MHz มีอยู่ราว 3.2 ล้านราย ซึ่งในจำนวนนี้มีลูกค้าที่ใช้บริการภายใต้ 4G อยู่ราว 2 แสนราย ส่วนที่เหลือจะอยู่ภายใต้บริษัทเรียลมูฟ ที่ให้บริการบนคลื่น 850 MHz ผ่านสัญญาการให้บริการโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่ ร่วมกับบริษัท กสท โทรคมนาคม
“ในจำนวนลูกค้า 10 กว่าล้านรายที่ใช้งานภายใต้แบรนด์ 3G ของเรียลมูฟ และเรียลฟิวเจอร์ จะมีลูกค้าที่มีเครื่องรองรับและใช้งาน 3G แล้วประมาณ 5 ล้านราย แล้วลูกค้าที่เหลือทางทรูก็มีแคมเปญซับซิไดส์เครื่องให้ลูกค้า ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะช่วยสร้างรายได้ในกลุ่มนอนวอยซ์ของทรูให้สูงขึ้นด้วย”
ขณะที่ในกลุ่มธุรกิจบรอดแบนด์ ภายใต้บริษัท ทรู ออนไลน์ ตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ 21-23% ในขณะที่ตลาดเติบโตราว 18-19% ซึ่งวางแผนไว้ว่าจะขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุมเพิ่มอีก 1 ล้านครัวเรือน รวมเป็นราว 5.3 ล้านครัวเรือน โดยปัจจุบันมีฐานลูกค้าอยู่ 1.8 ล้านราย สุดท้ายคือกลุ่มธุรกิจเคเบิลทีวี ภายใต้ทรู วิชั่นส์ ตั้งเป้าว่าปีนี้จะเติบโตราว 7- 9% ในขณะที่ปีที่ผ่านมาเติบโตเพียง 3% เนื่องจากเสียรายการฟุตบอลพรีเมียร์ลีกไป แต่ก็เริ่มทดแทนได้จากการเพิ่มช่อง HD เข้ามากว่า 50 ช่อง ซึ่งเมื่อสิ้นปีทรู วิชั่นส์มีลูกค้าทั้งสิ้น 2.4 ล้านราย
ในส่วนของแผนการลงทุนในปีนี้ กลุ่มทรูวางงบลงทุนไว้ที่ 2.65 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นสำหรับกลุ่มธุรกิจมือถือ 1.5 หมื่นล้านบาท ในการขยายสถานีฐาน 3G 2100 MHz เพิ่มเป็น 6,000 สถานีฐาน และ 4G ความถี่ 2100 MHz เพิ่มเป็น 2,000 สถานีฐาน ส่วนอีก 1 หมื่นล้านบาทสำหรับธุรกิจบรอดแบนด์ และ 1,500 ล้านบาทสำหรับทรู วิชั่นส์ และการลงทุนในดิจิตอลทีวี
สำหรับในเรื่องการหาพันธมิตรทางธุรกิจนั้น นายศุภชัยมองว่า ในปีนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องมาจากต้องการหาพาร์ตเนอร์ที่จะเข้ามาเสริมทั้งในแง่ของการลงทุนให้มี สภาพคล่องมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าจะสามารถนำมาช่วยต่อยอดบริการให้ดีขึ้น รวมไปถึงการขยายไปยังตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคตามพันธกิจที่ตั้งไว้
เบื้องต้นสนใจในการขยายการลงทุนในพม่า เริ่มจากธุรกิจมือถือ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับโอเปอเรเตอร์ในพม่าอย่าง MTP (Myanmar Post Telecommunication) และ YTP (Yatanarpon Teleport) ซึ่งคาดว่าจะจบได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนในอนาคตถ้ามีการเปิดให้บริการเคเบิลทีวีก็พร้อมที่จะนำบริการจากทรู วิชั่นส์ เข้าไปให้บริการ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับของทางพม่า
นอกจากนี้ ภายในกลุ่มทรูยังได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารเข้าสู่จุดศูนย์กลางทั้งในฝ่ายของการเงิน ไอที บริการหลังการขาย และการตลาด โดยมีผู้รับผิดชอบในส่วนกลาง ซึ่งจะให้กรรมการผู้จัดการที่เดิมดูอยู่ใน 3 บริการหลัก ไปควบคุมภาพรวมในแต่ละภูมิภาคแทน
Company Relate Link :
True