xs
xsm
sm
md
lg

กสท กางแผนปี 2557 ชู “3G-บรอดแบรนด์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม
นับตั้งแต่สิ้นปี 2556 ที่ผ่านมา บริษัท กสท โทรคมนาคม ถือได้ว่าหมดเวลาของการเป็น “เสือนอนกิน” บนสัญญาสัมปทานซึ่งถือเป็นรายได้หลักที่จะเข้ามาช่วยให้ กสท ไม่ขาดทุนก็ว่าได้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ดังนั้นตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป กสท ก็จะต้องหารายได้จากธุรกิจต่างๆ เพื่อเข้ามาอุดช่องโหว่ที่ขาดหายไปจากรายได้สัมปทานก่อนที่บริษัทจะต้องประสบภาวะขาดทุน

นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า ภาพรวมบริษัทในปีที่ผ่านมาถือว่าดีเกินคาด เนื่องจากในตอนแรกมีการประเมินว่าจะประสบปัญหาขาดทุนจำนวนไม่มากในปี 2556 และในปี 2557 จะสามารถทำให้ กสท กลับมาไม่ขาดทุนได้ แต่สุดท้ายสามารถทำให้ในปีที่ผ่านมาไม่มีการขาดทุนอย่างที่คาดไว้ส่งผลทำ ให้ในปี 2557 กสท ตั้งเป้าจะมีกำไรสุทธิราว 1,000 ล้านบาท และในปี 2558 จะมีกำไร 2,000 ล้านบาท และในปี 2559 กำไร 2,700 ล้านบาท

โดยรายได้รวมปี 2556 ที่ผ่านมาไม่รวมรายได้จากสัมปทาน กสท มีรายได้อยู่ 37,307 ล้านบาท แบ่งเป็น 3G HSPA ในส่วนรูปแบบการให้บริการขายส่งบริการ (Wholesaler) กับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด และรายอื่นๆมีรายได้ 22,000 ล้านบาท ทำตลาดเองภายใต้แบรนด์ 3G My มีรายได้อีก 870 ล้านบาท จากธุรกิจสื่อสารข้อมูล 6,951 ล้านบาท ธุรกิจไอที 537 ล้านบาท ธุรกิจโทรศัพท์ระหว่างประเทศมีรายได้ 3,858 ล้านบาท

ขณะที่ในปี 2557 นี้ กสท ตั้งเป้ามีรายได้รวมไว้ที่ 46,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 9,000 ล้านบาทโดยคาดว่าธุรกิจ 3G HSPA ในส่วนการขายส่งจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3,000 ล้านบาท หรือมีรายได้ 25,000 ล้านบาท รายได้จาก 3G My เพิ่มขึ้น 1,800 ล้านบาท หรือมีรายได้ 2,500 ล้านบาท ธุรกิจสื่อสารมีรายได้เพิ่มขึ้น 500 ล้านบาท หรือมีรายได้รวม 7,500 ล้านบาท ธุรกิจไอทีมีรายได้รวม 677 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 140 ล้านบาท และธุรกิจโทรศัพท์ระหว่างประเทศคาดว่าจะมีรายได้ลดลงราว 200 ล้านบาท ซึ่งตั้งเป้าในปีนี้จะมีราย 3,600 ล้านบาท รวมถึงธุรกิจอื่นๆ อาทิ ค่าเช่าใช้โครงข่าย และดอกเบี้ย เป็นต้น ซึ่งจะมีรายได้อีกราว 6,000 กว่าล้านบาท

ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้รายได้บริษัทฯ ดีกว่าในตอนแรกที่คาดการณ์เอาไว้หลังหมดรายได้จากสัมปทานซึ่งมีปัจจัยมาจากธุรกิจ 3G HSPA และอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์ความเร็วสูง ซึ่งทั้ง 2 ธุรกิจจะเข้ามาช่วยให้ กสท อยู่รอดภายหลังจากไม่มีรายได้สัมปทานแล้ว ซึ่งถึงแม้จะไม่สามารถมาทดแทนรายได้ในส่วนของสัมปทานทั้งหมดก็ตาม แต่ก็ทำให้ กสท อยู่รอดได้ในสภาวะเช่นนี้โดยไม่ขาดทุน โดยเฉพาะตัวโครงการ HSPA ในส่วนสัญญาที่ทำไว้กับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในรูปแบบการให้บริการขายส่งบริการ (Wholesaler) และผู้ให้บริการขายต่อบริการ (Reseller) ซึ่งทำให้ กสท มีรายได้จากการทำสัญญาดังกล่าวในปีนี้จำนวน 25,000 ล้านบาท

ส่วนความคืบหน้าการทำ Wholesaler เป็นการให้เอกชนเช่าใช้โครงข่ายเพื่อให้บริการ หรือ MVNO รายอื่นนอกเหนือจากเรียลมูฟของทรูนั้น ล่าสุดมีการเซ็นสัญญากับทางบริษัท 365 คอมมูนิเคชั่น เป็นที่เรียบร้อยแล้วซึ่งในตอนนี้รอเพียงการแก้ปัญหาด้านไอทีเท่านั้น โดยเบื้องต้นคาดว่าจะขอเลขหมายในการทำตลาดที่ 3 แสนเลขหมาย ซึ่งจะทำให้ กสท มีรายได้ 300 ล้านบาท อีกทั้งยังมีบริษัทรายอื่นๆ ที่สนใจขอทำ MVNO อีกประมาณ 5-6 รายในตอนนี้ด้วย

*** ปัดฝุ่น3G MY ทุ่ม 250 ล้านบาท มี.ค.นี้

ขณะเดียวกัน ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการปรับปรุงการให้บริการ โทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่เพื่อให้บริการ 3G ด้วยระบบ HSPA ของกสทซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์เพื่อพลิกฟื้นฐานะการเงินของ กสท ปี 2556-2560 ที่คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) เห็นชอบเมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2556 ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ในปี 2557 นี้ กสท จะสามารถใช้งบประมาณในส่วนดังกล่าวได้อย่างเต็มที่จากเดิมในปีที่ผ่านทำได้ เพียงรักษาฐานลูกค้าเก่าจากระบบ CDMA เท่านั้น

โดยในเบื้องต้นตั้งงบประมาณเอาไว้จำนวน 250 ล้านบาทสำหรับธุรกิจ 3G My เพื่อรุกตลาดมากขึ้นซึ่งจะใช้ในการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้กับประชาชน และสอดแทรกไปพร้อมกับการทำการตลาด และโปรโมชันต่างๆ รวมไปถึงการจัดกิจกรรมการตลาดในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งภายในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 2557 กสท จะจัดให้มีการแถลงข่าว พร้อมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์รวมไปถึงทำการปัดฝุ่นแคมเปญ และโปรโมชั่นใหม่ของ 3G My เนื่องจากต้องยอมรับว่ามีประชาชนเพียงบางส่วนเท่านั้นที่รู้จักว่ากสท มีบริการ 3G My ดังนั้นการสร้างการรับรู้ถือเป็นสิ่งสำคัญ

“ภายในปี 2557 กสท ตั้งเป้าธุรกิจ 3G My จะสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทถึง 2,500 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 1,800 ล้านบาท และมีลูกค้าเพิ่มเป็น 7.2 แสนราย จากเดิมที่ในปีที่ผ่านมาสร้างรายได้เพียง 870 ล้านบาท รวมถึงจะขยายสถานีฐานเพิ่มอีกราว 500 สถานีฐานด้วย”

ในปัจจุบัน 3G My มีลูกค้าอยู่ในระบบราว 1.8 แสนราย แบ่งเป็นระบบรายเดือน (โพสต์เพด)จำนวน 1.4 แสนราย ซึ่งมีอัตราค่าบริการเฉลี่ยต่อคนต่อเดือน (อาปู้) อยู่ที่ 500 บาท ในขณะที่ลูกค้าแบบเติมเงิน (พรีเพด) อยู่ที่ 3 หมื่นกว่าราย มีรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายอยู่ที่ 120 บาท โดยในปี 2556 ที่ผ่านมาธุรกิจดังกล่าวสามารถสร้างรายได้ให้กับ กสท 870 กว่าล้านบาท

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า กสท ถือได้ว่าเป็นผู้นำโครงข่าย 3Gในขณะนี้ เนื่องจากมีโครงข่ายเพื่อรองรับการให้บริการมากที่สุดในตลาดซึ่งปัจจุบันมีโครงข่ายอยู่จำนวน 13,500 สถานีฐาน และในปี 2557 นี้ กสท จะขยายโครงข่ายเพิ่มอีก 500 สถานีฐาน รวมเป็น 14,000 สถานีฐาน ส่งผลให้ครอบคลุมพื้นที่ 90% ของประเทศไทย หรือ 90% ของจำนวนประชากร

นอกจากการขยายโครงข่ายแล้ว กสท จะขยายและพัฒนาจุดให้บริการในรูปแบบของแคทชอป (CAT Shop) และช่องทางเติมเงินอีก 250 แห่งทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการมากขึ้น และจะร่วมมือกับพันธมิตร ตัวแทนจำหน่าย บริการแบบเติมเงิน ขยายช่องทางการเติมเงินโดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ด้วย ซึ่งในตอนนี้ลูกค้าสามารถเติมเงินออนไลน์ผ่านทาง 'ตู้บุญเติม' และตู้กระปุก รวมไปถึงที่บิ๊กซี ไปรษณีย์ และธนาคารกรุงเทพ รวมไปถึงล่าสุดได้มีการเจรจาข้อตกลงเป็นที่เรียบร้อยกับพันธมิตรรายอื่นๆ เพื่อขยายช่องทางการเติมเงินออนไลน์ ได้แก่ ทางธนาคารชั้นนำ ต่างๆ เช่น ธนาคารกรุงไทย กรุงศรี ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย รวมถึงร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 และ ห้างเทสโก้ โลตัส โดยทั้งหมดจะสามารถเปิดให้เติมเงินได้เร็วๆนี้

“ถึงแม้ กสท จะเริ่มทำการตลาดช้ากว่าคู่แข่งรายอื่นๆ ก็ตาม แต่เราจะอาศัยจุดแข็งในเรื่องการเป็นเจ้าของโครงข่ายที่มีพื้นที่ให้บริการ 3G ครอบคลุมมากที่สุดในประเทศ ทำให้การบริการลูกค้าได้ดีกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า ที่สำคัญมีคุณภาพสัญญาณ 3G ที่เหนือกว่าคู่แข่งในตลาดแน่นอน โดยเฉพาะความเร็วในการใช้งานดาต้า”

*** กลางปีเล็งรีแบรนด์บริการบรอดแบนด์

นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า นอกเหนือจากธุรกิจโทรศัพท์มือถือ 3G HSPA ที่มีการทำตลาดทั้ง Wholesaler และ Reseller แล้วธุรกิจอีกด้านหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยอุดรูรั่วจากการไม่มีรายได้จากสัมปทาน คือธุรกิจ CAT internet ซึ่งเป็นบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูงซึ่งปัจจุบันมีแบรนด์หลักอยู่ 3 แบรนด์ คือ CAT On Net ซึ่งเป็นบริการโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง (FTTx), CAT HiNet และ CAT HotNet จะเป็นบริการผ่าน ADSL โดยในช่วงกลางปี 2557 นี้ กสท จะมีการรีแบรนด์บริการอินเทอร์เน็ตใหม่ทั้งหมดโดยการรวมเอา 3 บริการหลักที่มีอยู่ให้เหลือเพียงบริการเดียวเพื่อง่ายในการทำตลาด และง่ายต่อการประชาสัมพันธ์ในลูกค้าได้รับรู้ โดยเบื้องต้นจะใช้งบประมาณในการรีแบรนด์จำนวน 50 ล้านบาทเพื่อใช้ในการทำโฆษณา และการตลาดต่างๆ

สำหรับฐานลูกค้าอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ของกสท เดิมที่จะเป็นลูกค้าบริษัท หน่วยงานราชการต่างๆ อย่าง อบต. รวมถึงตามร้านเกม ซึ่งส่วนใหญ่กสทจะไม่ได้เน้นทำตลาดลูกค้าทั่วไปมากนัก แต่จากนี้ไปบริษัทจะเริ่มหันมาทำตลาดลูกค้าทั่วไปมากยิ่งขึ้นซึ่งการรีแบรนด์ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสเปิดตัวบริการในมุมกว้างให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับทราบว่ากสท มีบริการดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน

ขณะที่ปัจจุบัน กสท มีการเปิดให้บริการ FTTx อยู่จำนวน 35,000 พอร์ต ซึ่งมียอดลูกค้าขอใช้งานเต็มทั้ง 35,000 พอร์ต ดังนั้นในปี 2557 นี้ตั้งเป้าจะขยายจุดให้บริการเพิ่มเป็น 1 แสนพอร์ต และคาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาขอใช้บริการราว 80,000 ราย พร้อมทั้งมีรายได้เพิ่มขึ้น 200 ล้านบาทจากปี 2556

สำหรับแผนธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ 5 ปีนั้น กสท ได้ตั้งเป้าจะขยาย FTTx ให้ได้ 1 ล้านพอร์ตทั่วประเทศ แต่ทั้งนี้จะต้องเอาปัจจัยต่างๆมาเป็นองค์ประกอบในการทำแผน อาทิ ทำอย่างไรเพื่อให้ กสท ได้ประโยชน์มากที่สุด และล้านพอร์ตดังกล่าวจะไปอยู่พื้นที่ใดบ้าง รวมไปถึงจะไปขายใคร และจะขายปลีกหรือส่งเพียงอย่างเดียว

“ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาใช้บริการอินเทอร์เน็ตของกสท นั้นเพราะผิดหวังมาจากผู้ประกอบการรายอื่นในตลาดที่ให้ความเร็วได้ไม่จริงตามโฆษณา ปัญหาหลุดบ่อย ในขณะที่ กสท มีโครงข่ายที่มีศักยภาพมากที่สุดก็ว่าได้ในตอนนี้ เพียงแต่มีจุดอ่อนตรงเรื่องของราคาที่อาจจะดูสูงกว่าคู่รายอื่น แต่หากเทียบกับคุณภาพที่ได้มาเชื่อว่าไม่ได้แพงอย่างที่คิดแน่นอน ดังนั้น การรีแบรนด์ครั้งนี้เราจะมีการปรับเรื่องของราคาลงไปด้วย รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้นด้วย”

อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้ยอมรับว่า กสท จะต้องรีบดำเนินการแก้ไขปัญหาระบบภายในโดยเฉพาะระบบไอที โดยเร็วเนื่องจากภายหลังการรีแบรนด์ครั้งนี้คาดว่าจะมีลูกค้าใหม่เข้ามาใช้บริการมากขึ้นแน่นอน เช่นเดียวกับเรื่องบุคลากรที่จะต้องมีการคัดเลือกเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการคัดเลือกบุคลากรที่มีความสามารถ และเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆเข้ามาทำงานภายใน กสท จากเดิมอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักในเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจอื่นๆที่คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว นั้น ได้แก่ ธุรกิจกลุ่มดาต้าคอม คาดว่าในปีนี้จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 600 ล้านบาท หรือมีรายได้ 7,500 ล้านบาท จากเมื่อปี 2556 มีรายได้ราว 6,900 ล้านบาท, ธุรกิจกลุ่มอีบิซิเนส มีรายได้เพิ่มขึ้น 80 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่มธุรกิจโทรศัพท์ระหว่างประเทศ จะมีรายได้ลดลงราว 200 ล้านบาท

'ปีนี้เราจะมีกำไรอย่างน้อย 1,000 ล้านบาทแน่นอน'

Company Related Link :
CAT
กำลังโหลดความคิดเห็น