เป็นประจำทุกปีที่งาน Mobile World Congress จะบอกทิศทางที่กำลังจะเกิดขึ้นในวงการโทรคมนาคมโลก มหกรรมงานแสดงเทคโนโลนีโทรคมนาคมที่จัดขึ้นในบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ปี 2014 นี้ก็เช่นกัน ปรากฏว่าดาวเด่นของงานไม่ใช่สมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นราคาแพง แต่นักวิเคราะห์ยกให้ "สมาร์ทโฟนรุ่นประหยัด" คือดาวรุ่งตัวจริงของงานปีนี้ แถมยังอธิบายว่าทิศทางตลาดสมาร์ทโฟนโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังในปี 2014 ซึ่งจะเป็นปีที่ตลาดสมาร์ทโฟนรุ่นราคาแพงเริ่มทรงตัว แต่ตลาดสมาร์ทโฟนรุ่นเล็กจะขยายตัวกระฉูดชนิดฉุดไม่อยู่
***สมาร์ทโฟนปีม้าลมเปลี่ยนทิศ
จริงอยู่ที่สมาร์ทโฟนเรือธงหรือ flagship ถูกเปิดตัวมากมายบนเวที MWC 2014 ทั้งหมดสามารถกระตุ้นความอยากได้อยากมีของผู้บริโภคที่ชื่นชอบเทคโนโลยีใหม่ได้ไม่น้อย แถมยังทำให้ค่ายมือถือสามารถสร้างจุดต่างเพื่อทำตลาดแย่งชิงรายได้จากคู่แข่งได้อีก แต่นักวิเคราะห์กลับมองว่าตลาดสมาร์ทโฟนไฮเอนด์เหล่านี้เป็นเพียง "ตัวประกอบ" ในเวที MWC 2014 เท่านั้น เพราะสิ่งที่ยักษ์ใหญ่ไอทีหลายค่ายแสดงจุดยืนให้ความสำคัญเป็นพิเศษในปีนี้ คือตลาดของสมาร์ทโฟนราคากลางถึงราคาประหยัด
เหตุผลที่ทำให้นักวิเคราะห์มองแบบนี้ คือเพราะวันนี้อุตสาหกรรมอุปกรณ์สื่อสารขนาดพกพากำลังถึงทางแยก ทุกฝ่ายกำลังถูกกดดันให้หาทางขยายตลาดไปยังผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกลุ่มใหม่ซึ่งเรียกกันว่า "next billion people" โดยอ้างอิงถึงจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนอุปกรณ์พกพาที่มีจำนวน 3 พันล้านคนในปี 2013 ที่ผ่านมา
การจะเพิ่มจำนวนผู้ใช้โมบายอินเทอร์เน็ตเป็น 4 พันล้านคนนั้นหนีไม่พ้นการเข้าถึงตลาดที่ระบบเศรษฐกิจกำลังเติบโต อย่างเช่น ผู้ที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลของอินเดีย จีน อินโดนีเซีย แอฟริกา และกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ ดังนั้นโจทย์ที่เจ้าพ่อไอทีต้องตีให้แตกคือ ทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้ซื้อสมาร์ทโฟนให้ได้
โจทย์นี้ทำให้ผู้เล่นทุกรายในตลาดมองเห็นโอกาสเติบโตในตลาดเหล่านี้ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้เมื่อสามารถสร้างสรรค์สมาร์ทโฟนและบริการโมบายอินเทอร์เน็ตที่มีราคาต่ำลงให้ได้มากที่สุด
เรื่องนี้ถูกตอกย้ำเมื่อซีอีโอเฟซบุ๊ก (Facebook) ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ถึงแนวคิดในการผลักดันให้เฟซบุ๊กเป็นบริษัทที่เน้นงานบริการบนอุปกรณ์โมบายเป็นหลัก โดยมาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ใช้เวที MWC 2014 พูดถึงแผนงานขององค์กรที่เฟซบุ๊กก่อตั้งขึ้นอย่าง "อินเทอร์เน็ต ดอท โออาร์จี (Internet.org)" ว่าจะเป็นส่วนงานที่เฟซบุ๊กจะดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้"ผู้ที่ยังไม่ใช้งานอินเทอร์เน็ต"สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้ได้
สิ่งที่มาร์กทำผ่านโครงการนี้ คือร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายโมบายอินเทอร์เน็ตเพื่อให้แน่ใจว่า ค่าบริการโมบายอินเทอร์เน็ตจะไม่สูงเกินไปสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการอัปเกรดโทรศัพท์เป็นสมาร์ทโฟน แน่นอนว่าความร่วมมือนี้จะขยายพื้นที่ครอบคลุมหลายภูมิภาคทั่วโลกตลอดปีนี้ถึงปีหน้า และแอปพลิเคชันแชตที่เฟซบุ๊กเพิ่งซื้อมาอย่าง "วอตซแอป (WhatsApp)" ก็จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในโครงการนี้อย่างไม่ต้องสงสัย
ในมุมของฮาร์ดแวร์ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนนั้นให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์สมาร์ทโฟนราคาประหยัดเพื่อให้ผู้ใช้ในประเทศกำลังพัฒนามีทางเลือกมานานหลายปี แต่เชื่อว่าปี 2014 จะเป็นปีที่กลยุทธ์นี้เพิ่งได้ผล โดยเฉพาะปีนี้คือปีที่ยักษ์ใหญ่เริ่มไม่หวงดีไซน์ ด้วยการนำรูปแบบเครื่องรุ่นราคาแพงมาปรับใช้ส่วนประกอบใหม่เพื่อให้สามารถจำหน่ายในราคาที่ต่ำลง
ผู้ผลิตที่จะเป็นตัวหลักในการบุกตลาดเครื่องราคาประหยัดนั้นหนีไม่พ้นเลอโนโว (Lenovo) ที่เพิ่งซื้อกิจการธุรกิจโทรศัพท์มือถือของโมโตโรลา (Motorola) ไปเมื่อปี 2013 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีคู่แข่งทั้งแซตทีอี (ZTE) และหัวเว่ย (Huawei) จากจีน รวมถึงแอลจี (LG) และซัมซุง (Samsung) จากเกาหลีใต้ และที่สำคัญอีกรายคือโนเกีย (Nokia)
แม้โนเกียจะพูดชัดเจนทุกครั้ง ว่าระบบปฏิบัติการวินโดวส์โฟน (Windows Phone) จะยังเป็นแพลตฟอร์มหลักของสมาร์ทโฟนแบรนด์โนเกีย โดยนวัตกรรมและฟีเจอร์ใหม่จะถูกนำเสนอใน Lumia เป็นรุ่นแรก แต่สิ่งที่โนเกียเปิดตัวในงาน MWC 2014 คือ Nokia X สมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่โนเกียวางตัวให้มีราคาต่ำกว่า Lumia รุ่นล่างสุด ซึ่งราคาที่ถูกเปิดตัวในงานชี้ว่า Nokia X จะมีราคา 89 ยูโรเท่านั้น (ประมาณ 4,000 บาท)
ยุทธศาสตร์ของ Nokia X คือการเป็นบันไดขั้นแรกให้ผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนาได้ซื้อมาใช้งานก่อนจะขยับไปใช้งานสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ ยุทธศาสตร์นี้ของโนเกียต้องการให้ผู้ใช้รายใหม่ได้ประทับใจกับปริมาณแอปพลิเคชันแอนดรอยด์ที่มากกว่าแอปพลิเคชันวินโดวส์โฟนหรืออาช่า (Asha) ของโนเกียเอง จุดนี้ รายงานหลายฉบับเชื่อว่า สมาร์ทโฟนไฮเอนด์กลุ่ม Lumia เองก็จะถูกโนเกียปรับลดราคาให้ถูกลง เพื่อดึงดูดผู้ใช้ที่ต้องการอัปเกรดไปใช้งานสมาร์ทโฟนที่มีคุณสมบัติดีกว่า
เท่ากับว่า ผู้ผลิตทราบดีเรื่องสมาร์ทโฟนราคาประหยัดเหล่านี้จะไม่ใช่ตัวเปลี่ยนเกมที่ทำให้บริษัทได้กำไรจากการขาย แต่จะเป็นประตูสู่การขยายตัวในอนาคต จุดนี้ไม่เพียงโนเกีย แต่ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ภายใต้การนำของซีอีโอคนใหม่ "สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella)" ก็เดินหน้าเต็มที่ในการปูทางเพื่อบุกตลาดสมาร์ทโฟนราคาประหยัด ด้วยการประกาศรายชื่อพันธมิตรผู้ผลิตสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการวินโดวส์โฟน (Windows Phone) รายใหม่จำนวน 9 รายในงาน MWC 2014
ขณะเดียวกัน มูลนิธิมอซิลา (Mozilla) ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างโปรแกรมเปิดเว็บไซต์ "ไฟร์ฟ็อกซ์ (Firefox)" ก็กำลังอยู่ระหว่างการประสานงานกับผู้ผลิตสมาร์ทโฟน เพื่อนำระบบปฏิบัติการ "ไฟร์ฟ็อกซ์ โอเอส (Firefox OS)" มาใช้กับสมาร์ทโฟนที่มีราคาจำหน่าย 25 เหรียญสหรัฐเท่านั้น หรือประมาณ 825 บาท
ที่สำคัญ แม้แต่แบล็กเบอรี่ (BlackBerry) ผู้ผลิตบีบีที่ยังอยู่ระหว่างการกู้วิกฤติบริษัทก็ยังเปิดตัว "แบล็กเบอรี่ แซต ทรี (BlackBerry Z3)" มือถือระบบปฏิบัติการ BB10 รุ่นราคาประหยัดตัวแรกของบริษัท เพื่อเน้นจับตลาดอินโดนีเซียโดยเฉพาะ รายงานเบื้องต้นระบุว่าแบล็กเบอรี่ใช้วิธีจ้างบริษัทอย่างฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ผลิตให้ เพื่อลดต้นทุนให้เครื่องหน้าจอสัมผัสขนาด 5 นิ้วสามารถจำหน่ายได้ในราคาประหยัด
***รุ่นใหญ่ทรงตัว
ในขณะที่โลกมองว่าข่าวดีกำลังเกิดขึ้นในตลาดสมาร์ทโฟนราคาประหยัด แต่ข่าวร้ายอาจตกอยู่ในตลาดเครื่องกลุ่ม "แฟ็บเล็ต (Phablet)" สมาร์ทโฟนลูกครึ่งแท็บเล็ตที่มีหน้าจอใหญ่กว่า 5.5 นิ้วแต่ไม่เกิน 7 นิ้ว โดยสิ่งหนึ่งที่นักสังเกตการณ์สรุปได้จากงาน MWC 2014 คือสินค้ากลุ่มนี้ไม่ถูกให้ความสำคัญในงานเท่าที่ควร
หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ตลาดแฟ็บเล็ตอาจทรงตัวในปีนี้คือราคา รวมถึงความไม่สะดวกในการพกพาที่เสี่ยงทำให้เครื่องเสียหายได้ง่ายกว่าสมาร์ทโฟนปกติ จุดนี้สะท้อนว่าตลาดดังกล่าวมีโอกาสไม่ได้รับความสนใจในตลาดเกิดใหม่ที่เป็นแหล่งรวมผู้ใช้ 1 พันล้านคนถัดไปซึ่งกำลังถูกดึงมาสู่ธุรกิจโมบายอินเทอร์เน็ต ทำให้การเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนยักษ์เริ่มชะลอตัวสวนทางกับสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นที่ขยายตัว
ท้ายที่สุด การเปลี่ยนแปลงนี้ยังทำให้โลกรอดูว่าบริษัทอย่างแอปเปิล (Apple) ที่มีนโยบายไม่ผลิตสินค้าราคาประหยัดมานานว่าจะเปลี่ยนแผนบริษัทอย่างไรในอนาคต หรือจะยอมดูดาย ปล่อยให้ผู้ผลิตค่ายอื่นเติบโตนำหน้าไปแบบไม่สนใจ