สามารถเทลคอม ล็อกซเล่ย์ และเอไอที ตั้งบริษัทร่วมทุน SLA Asia Company Limited เตรียมรุกธุรกิจไอซีทีครบวงจรในตลาด CLMV ประเดิมงานแรกเมษายนนี้ที่พม่า หลังสบโอกาสรัฐบาลพม่าเร่งพัฒนาโครงการโทรคมนาคมให้ครอบคลุมพื้นที่ 25% ของประเทศในปีนี้ โดยปัจจุบันมีโอเปอเรเตอร์เข้าไปทำตลาดแล้ว 2 ราย ส่วนประเทศอื่นๆ กำลังดูความพร้อม ตั้งเป้ารายได้ 3 ปี 1,000 ล้านบาท
นายสุรกิจ เกียรติธนากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) SLA Asia Company Limited กล่าวว่า SLA เป็นการร่วมทุนของ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ไอซีทีไทย อันได้แก่ บริษัท สามารถคอมมิวนิเคชั่นเซอร์วิส จำกัด หนึ่งในบริษัทลูกของบริษัทสามารถเทลคอม บริษัท ล็อกซเล่ย์ ไวร์เลส จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทย่อยของบริษัท ล็อกซเล่ย์ และบริษัท แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี (เอไอที) เพื่อดำเนินธุรกิจด้านไอซีทีแบบครบวงจรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม
ทั้งนี้ การเข้าไปเจาะกลุ่มประเทศ CLMV ดังกล่าวเนื่องจากมองเห็นว่าประเทศเหล่านี้กำลังมีความต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเปิดเสรีเออีซี และมีการลงทุนทางด้านนี้เป็นจำนวนมาก โดย SLA ตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 1,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี โดยจะเข้าไปทำตลาดในประเทศพม่าก่อนเป็นประเทศแรก เพราะรัฐบาลพม่าได้ทำการเปิดประเทศและมีการขยายโครงสร้างพื้นฐานในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในตลาดโทรคมนาคมที่รัฐบาลพม่าได้ตั้งเป้าหมายที่จะขยายให้โทรคมนาคมครอบคลุมพื้นที่ 25% ของประเทศภายในปีนี้ และปัจจุบันได้มีโอเปอเรเตอร์ 2 รายเริ่มเข้าไปลงทุนแล้ว
“SLA จะใช้จุดแข็งของทั้ง 3 องค์กรในการนำเทคโนโลยีไอซีทีของไทยที่มีความพร้อมไปทำการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ ให้บริการไอซีทีโซลูชันคุณภาพสูง (Quality of Solutions) ตอบสนองความต้องการขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน โดยวางเป้าหมายทางธุรกิจไว้ 2 ระยะ คือ ระยะสั้น จับมือกับพันธมิตรท้องถิ่น (Local partners) เน้นการขายและติดตั้งวัสดุอุปกรณ์การสื่อสารโทรคมนาคมครบวงจร พร้อมบริการหลังการขายแก่กลุ่มธุรกิจที่เข้าไปลงทุนในประเทศดังกล่าว อย่างเช่น ธุรกิจธนาคาร และธุรกิจสื่อสาร”
นายสุรกิจกล่าวว่า การเข้าไปทำตลาดในกลุ่มประเทศเป้าหมายนั้นมุ่งเน้นที่จะให้การสนับสนุนกลุ่มบริษัทคนไทยที่เข้าไปทำธุรกิจในประเทศเหล่านั้นเป็นลำดับแรก ก่อนที่จะเสริมด้วยแผนระยะยาวด้วยการนำเสนอโครงการแก่ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในเบื้องต้นบริษัทฯ กำลังศึกษาโครงการของกรมที่ดินในประเทศลาว และโครงการจัดทำบัตรประชาชน Smart ID Card ในประเทศพม่า ส่วนประเทศอื่นๆ ต้องรอความพร้อมก่อนค่อยเข้าไปทำตลาด ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญในเบื้องต้นสำหรับการเข้าไปในตลาดพม่าน่าจะเป็นในเรื่องของภาษา กฎหมาย และการเมือง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก
ด้านนายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การร่วมมือกันในครั้งนี้กลุ่มบริษัทสามารถมีความมั่นใจว่าจะสามารถเข้าไปทำตลาดในประเทศ CLMV ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากทั้ง 3 บริษัทมีความชำนาญเชิงลึกในงานโครงการโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น การวางระบบเครือข่ายการสื่อสาร การบริหารจัดการระบบข้อมูลสารสนเทศ การออกแบบติดตั้งระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัย การให้บริการคอลเซ็นเตอร์เต็มรูปแบบ ที่สำคัญ ในปัจจุบันมีนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในประเทศ CLMV เหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งเปิดโอกาสให้ SLA ขยายตลาดได้รวดเร็วขึ้น
นายเฉลิมโชค ล่ำซำ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การรวมตัวกันเป็นบริษัท SLA ในครั้งนี้จะสามารถเข้าไปให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม การบริการสื่อสารไร้สาย รวมถึงการให้บริการไอซีทีที่ครบวงจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การขายอุปกรณ์ การติดตั้งและวางระบบการสื่อสาร ตลอดจนการให้บริการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องย่อมเป็นที่ต้องการของตลาด
โดยเฉพาะพม่าซึ่งถือเป็นตลาดใหม่ที่เริ่มมองเห็นการเติบโตที่ชัดเจน และในปัจจุบันมีนักลงทุนชาวไทยเข้าไปประกอบธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงยังมีมูลค่าทางการค้าระหว่างไทยกับพม่าในปีที่ผ่านมาสูงถึงกว่า 2 แสนล้านบาท ทำให้เป็นผลดีต่อ SLA ที่จะเข้าไปทำธุรกิจในกลุ่มประเทศดังกล่าว