xs
xsm
sm
md
lg

เทียบราคา "ไว-ไฟ การบินไทย" VS สายการบินอื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บริการ Wi-FI บนเครื่องบินของการบินไทยมีชื่อเต็มว่า ไทย สกาย คอนเนค (THAI SKY CONNECT) มีกำหนดให้บริการบนเครื่องบินสายการบินไทย รวม 13 ลำพร้อมให้บริการเต็มตัวราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2557 นี้
นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ผู้โดยสารสายการบินไทยจะสามารถใช้บริการระบบอินเทอร์เน็ตไร้สาย"ไว-ไฟ (Wi-Fi)"ระหว่างเที่ยวบินได้ด้วยราคาเริ่มต้น 150 บาท แม้จะถือว่าราคานี้อยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก แต่หากนำไปเทียบกับสายการบินอื่นจะถือว่าโมเดลราคาของการบินไทยมีทั้งความเหมือนและความแตกต่างในหลายจุด

หลังจากการประกาศพร้อมให้บริการไว-ไฟบนเที่ยวบิน TG ตั้งแต่ปี 2012 แต่การบินไทยกลับต้องร้องเพลงรอรับใบอนุญาตจาก กสทช หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จนเพิ่งได้ฤกษ์จุดพลุให้บริการเดือนกุมภาพันธ์ 2014 โดยเครื่องบินที่สามารถชิมลางให้บริการขณะนี้มีเพียง 2 รุ่นคือ AirBus A380 และ A330

เสียงวิจารณ์ราคาบริการไว-ไฟในเที่ยวบินของการบินไทยสะท้อนไปในแง่ลบ เพราะสนนราคาค่อนข้างสูงแต่อนุญาตให้ใช้ข้อมูลในปริมาณต่ำ โดยแพคเกจเริ่มที่ 150 บาท (ราว 4.50 เหรียญสหรัฐ) ต่อการใช้ข้อมูล 3MB และ 460 บาท (ราว 14 เหรียญ) ต่อการใช้ข้อมูล 10MB ทั้ง 2 แพคเกจเป็นราคาสำหรับสมาร์ทโฟน

ปริมาณข้อมูลเพียง 3MB หรือ 10MB นั้นถือว่าต่ำมากจนผู้ใช้หมดสิทธิ์แชร์ภาพหรือชมภาพยนตร์ออนไลน์ระหว่างเที่ยวบิน ด้วยปริมาณข้อมูลเท่านี้ ผู้ใช้สามารถรับส่งอีเมลที่เป็นข้อความ หรือใช้บริการแอปพลิเคชันแชตเล็กๆน้อยๆเท่านั้น จุดนี้การบินไทยกำหนดแพคเกจสำหรับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กให้เริ่มต้นที่ 10MB ราคา 478 บาท ($14.50) และใช้งานได้สูงสุด 20MB

ราคาของการบินไทยถือว่าสูงกว่าเมื่อเทียบกับสายการบินคู่แข่งอย่างสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส (Singapore Airlines) ที่ให้บริการไว-ไฟทั้งในเครื่อง A380, A330-300 และ Boeing 777-300ER บริการครอบคลุมทั้งชั้นเฟิรส์ตคลาส ชั้นธุรกิจ และชั้นประหยัด สนนราคาคือ 11.95 เหรียญต่อข้อมูล 10MB หรือเหมาจ่าย 26MB ด้วยราคา 29.95 เหรียญสหรัฐ จุดนี้สายการบินสิงคโปร์ร่วมมือกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบนเครื่องบินชื่อ OnAir ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถขยายเวลาใช้งานอินเทอร์เน็ตด้วยราคา 0.15 เหรียญต่อข้อมูล 0.5MB ซึ่งหากกดปุ่มตกลง ค่าบริการที่เพิ่มขึ้นจะถูกหักผ่านบัตรเครดิต

หากเป็นสายการบิน SAS หรือสแกนดิเนเวียน แอร์ไลน์ส (Scandinavian Airlines) แม้จะให้บริการบนเครื่อง 737-800 บางเที่ยวบินสู่ยุโรป แต่ผู้เป็นสมาชิก EuroBonus หรือ SAS Plus หรือเป็นผู้โดยสารชั้นธุรกิจของ SAS จะสามารถใช้บริการ WiFi ได้ฟรี สำหรับผู้ใช้บริการทั่วไป จะคิดค่าบริการราว 10 เหรียญสหรัฐ (8 ยูโร) บนเที่ยวบินระหว่างกลุ่มประเทศนอร์ดิก และ 15 เหรียญสำหรับเที่ยวบินสู่ยุโรป โดยทั้งหมดไม่มีการจำกัดปริมาณใช้งานข้อมูล

สายการบินอย่างเอทิฮัด แอร์เวย์ส (Etihad Airways) เลือกคิดค่าบริการเป็นรายชั่วโมง โดยกำหนดค่าบริการ 11.95 เหรียญสหรัฐต่อ 2 ชั่วโมง หรือ 17.95 เหรียญสหรัฐต่อ 4 ชั่วโมง ขณะเดียวกันก็สามารถเหมาจ่าย 21.95 เหรียญตลอดเที่ยวบินได้ ราคานี้ตรงกับสายการบินเจแปน แอร์ไลน์ส (Japan Airlines) ซึ่งให้บริการผ่านระบบกระจายสัญญาณบนเครื่องบินของพานาโซนิก (Panasonic Avionics) เช่นกัน แต่สายการบินญี่ปุ่นจะให้ส่วนลดกับสมาชิกผู้ถือบัตร JAL Card, JAL USA CARD หรือบัตรเครดิต JAL / Shanghai Pudong Development Bank Credit Card เหลือราคา 10.75 เหรียญและ 19.75 เหรียญตามลำดับ

การคิดค่าบริการรายชั่วโมงของเอทิฮัดนั้นอาจถูกใจผู้ที่ต้องการใช้ปริมาณข้อมูลสูงเช่นการชมวิดีโอจาก YouTube เพราะเบื้องต้นมีการประเมินว่าวิดีโอออนไลน์บน YouTube ความละเอียด HD 720p สามารถถ่ายโอนข้อมูลได้สำเร็จในเวลา 5 นาทีท่ามกลางปริมาณข้อมูลมากกว่า 37.5MB

สายการบินที่จำกัดปริมาณใช้งานข้อมูลบริการไว-ไฟในเที่ยวบินที่ 3MB เหมือนการบินไทยคือชาอุดิอา แอร์ไลน์ส (Saudia Airlines) ซึ่งใช้เทคโนโลยีจากค่าย OnAir โดยระดับค่าบริการนั้นเท่ากันคือ 5 เหรียญสำหรับการใช้ข้อมูล 3MB บนสมาร์ทโฟน และ 15 เหรียญสำหรับการใช้ข้อมูล 10MB บนแล็ปท็อปหรือแท็บเล็ต

ถึงบรรทัดนี้ เชื่อว่าการบินไทยจะรอประเมินเสียงตอบรับจากผู้ใช้ เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบแพคเกจในอนาคตให้ตอบโจทย์นักเดินทางมากขึ้น

***รู้หรือไม่

- บริการ Wi-FI บนเครื่องบินของการบินไทยมีชื่อเต็มว่า ไทย สกาย คอนเนค (THAI SKY CONNECT) มีกำหนดให้บริการบนเครื่องบินสายการบินไทย รวม 13 ลำ โดยแบ่งเป็นแอร์บัส A 330-300 7 ลำ ใช้งบประมาณลำละ 20 ล้านบาท และแอร์บัส A380-800 6 ลำ ใช้งบประมาณลำละ 30 ล้านบาท

- บริการ Wi-FI บนเครื่องบินของสายการบินไทย จะพร้อมให้บริการเต็มตัวราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2557 นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น