เมื่อพูดถึงสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสนใจในการใช้ชีวิตปัจจุบันนี้ ต้องยอมรับว่าเทรนด์ของการรักษาสุขภาพมักจะติดอันดับต้นๆ ที่ใครหลายคนคิดจะทำ เพียงแต่ยังขาดตัวแปรที่จะมาช่วยกระตุ้นให้เกิดการดูแลรักษาสุขภาพกันอย่างจริงจัง
ในมุมของสินค้าไอทีก็มักจะมีสินค้าที่ออกมาจับกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสนใจในเรื่องของสุขภาพเรื่อยมา เพียงแต่ในขณะนี้เทรนด์ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สวมใส่ได้ (Wearable Device) กำลังได้รับการพูดถึงกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในมุมของผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย เพราะอุปกรณ์ดังกล่าวจะเข้ามาช่วยประมวลผลข้อมูลให้แก่ผู้ใช้งาน
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือแนวโน้มของสินค้าที่ผู้ผลิตระดับโลกนำมาแสดงภายในงานแสดงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค (Consumer Electronic Show : CES2014) ที่หลายแบรนด์หันมาให้ความสำคัญต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ที่ใช้สวมใส่เป็นสายรัดข้อมือ หูฟัง หรือแม้แต่แว่นตาอัจฉริยะ
แน่นอนว่าแนวคิดที่จะนำสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างสายรัดข้อมือ นาฬิกา หรืออุปกรณ์ขนาดเล็กอื่นๆ มาใช้งานร่วมกับอุปกรณ์เทคโนโลยีอย่างสมาร์ทโฟน ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคที่สมาร์ทโฟนได้รับความนิยม แต่แนวคิดดังกล่าวเคยถูกพัฒนาให้เกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่ช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ก่อน iPhone รุ่นแรกจะถูกวางจำหน่ายเสียด้วยซ้ำไป
***ย้อนรอย Wearable Device
ย้อนกลับไปเมื่อสักเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา คาสิโอ (Casio) ผู้ผลิตนาฬิกาข้อมือรายใหญ่จากญี่ปุ่นได้เคยผลิต Casio DataBank หรือที่คนไทยอาจจะคุ้นกันในชื่อของนาฬิกาเครื่องคิดเลข ที่ถือว่าเป็นนาฬิกาที่รวมความสามารถของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างเครื่องคิดเลขเข้าไปให้ผู้บริโภคได้หามาใช้งาน
ขณะที่ในมุมของการออกกำลังกาย ไนกี้ (Nike) หนึ่งในผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาชั้นนำ เมื่อราว 10 ปีที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับแอปเปิล (Apple) ในยุคสมัยที่ไอพอด (iPod) กำลังได้รับความนิยม ออกอุปกรณ์ขนาดเล็กชิ้นหนึ่งที่เรียกว่า ไนกี้ พลัส (Nike+) ที่สามารถนำมาใส่ไว้ใต้พื้นรองเท้ารุ่นที่รองรับการใช้งาน
โดยรูปแบบการทำงานของไนกี้ พลัสจะใช้เพื่อตรวจจับการสั่นสะเทือนขณะวิ่ง หรือเดิน และบันทึกเป็นผลการวิ่ง ก่อนส่งข้อมูลเข้าไปยังไอพอดที่ติดตั้งตัวรับสัญญาณ เพื่อนำมาคำนวณระยะทาง การเผาผลาญแคลอรี และบันทึกข้อมูลเก็บไว้เป็นสถิติ
ตัดภาพกลับมาในตลาด Wearable Device เมื่อปีที่ 2013 ที่ผ่านมา บริษัทวิจัยตลาดฟิวเจอร์ซอร์สระบุว่า มูลค่าตลาดของ Wearable Device ในปีที่ผ่านมาสูงถึง 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ และภายใน 4 ปีข้างหน้ามูลค่ารวมอาจจะขึ้นไปอยู่ที่ 2 หมื่นล้านเหรียญ
โดยผู้เล่นหลักในปีที่ผ่านมาสำหรับตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สวมใส่ได้เพื่อสุขภาพคือ Nike ที่ส่ง Fuelband และ Adidas มี miCoach เข้ามาทำตลาด รวมกับแบรนด์อย่าง Jawbone และ Fiibit ที่เริ่มปล่อยของเข้าสู่ตลาดด้วย ยังไม่นับรวมกับแบรนด์ผู้ผลิตนาฬิกาอัจฉริยะอย่างซัมซุง และโซนี่ ที่ส่งกาแล็กซี เกียร์ และสมาร์ทวอตช์ มาทำตลาดอย่างจริงจังในช่วงปลายปีที่ผ่านมา
แต่พอมาถึงภายในงาน CES 2014 ก็เริ่มมีผู้เล่นรายใหม่อย่าง LG ที่ส่ง Lifeband Touch พร้อมกับการเปิดตัว Core ของ Sony Nabu จากแบรนด์ Razer G-Series จาก Movea June จาก Neatamo รวมถึงผู้ผลิตเครื่องนำทางจีพีเอสชื่อดังอย่าง Garmin ก็ออก Vivofit เข้ามาในตลาดของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สวมใส่ได้เพื่อเก็บข้อมูลของการออก กำลังกาย
***แค่อุปกรณ์เสริมสำหรับฟิตเนส
คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นหลังจากดูรายละเอียดความสามารถของ Wearable Device เหล่านี้ กลับพบว่าความสามารถหลักของสายรัดข้อมือเหล่านี้คือการจับความเคลื่อนไหวของร่างกายผ่านเซ็นเซอร์อย่าง Accelerometer ซึ่งเมื่อนำมาใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟนที่มี GPS ก็จะช่วยเพิ่มความสามารถในการบันทึกพิกัดเข้าไป
ช่วยให้ผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกายอย่างการวิ่ง หรือปั่นจักรยาน สามารถเก็บสถิติ และระยะทางในการออกกำลังกายไว้ได้ว่าแต่ละครั้งวิ่งไปทั้งหมดกี่กิโลเมตร บนเส้นทางไหนบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันจะจำกัดอยู่แค่นี้ เพราะอย่างที่ทาง Adidas ผลิตออกมาก็จะมีทั้งผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ในการวัดความเร็ว ความสูงในแนวการกระโดด วัดอัตราการเต้นของหัวใจ เพียงแต่จะเหมาะสำหรับนักกีฬามืออาชีพมากกว่าผู้บริโภคทั่วไป
แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่น่าจับตามองไม่ใช่ตัวอุปกรณ์เพียงอย่างเดียว ยังต้องรวมไปถึงการนำข้อมูลที่ส่งจากตัวอุปกรณ์มาประมวลผลภายในแอปพลิเคชันให้มีความแตกต่าง และโดดเด่น จนทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกสนุกสนาน เหมือนกับการเล่นเกมเพื่อคอยดึงดูดให้เกิดการใช้งานที่ต่อเนื่องตามมา ซึ่งท้ายที่สุดจะกลายเป็นระบบนิเวศที่สำคัญ
อย่างไนกี้ก็มีการสร้างคอมมูนิตีสำหรับผู้ที่ใช้งานอุปกรณ์ในกลุ่มไนกี้ พลัสขึ้นมา เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถแชร์สถิติ หรือสร้างการแข่งขันกับเพื่อนเพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการใช้งาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นคอมมูนิตีที่ใหญ่ที่สุดในขณะนี้ทั้งจากปริมาณผู้ใช้ และความนิยม
ขณะที่ Fitbit จะชูความสามารถเพิ่มเติมนอกเหนือจากจำนวนก้าวเดิน และระยะทางในแต่ละวัน แต่จะรวมไปถึงในรายละเอียดอย่างการเดินขึ้นบันได ช่วงเวลาที่ออกกำลังกาย และที่โดดเด่นที่สุดคือเก็บข้อมูลในช่วงเวลาการนอน เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาคำนวณถึงระยะเวลาในการนอนว่าพักผ่อนเพียงพอหรือไม่ อย่างไร
แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ผู้ผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ที่คิดค้นแอปพลิเคชันออกมา เพราะก็ยังมีเหล่านักพัฒนาที่จับความสามารถของสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์เหล่านี้มาพัฒนาเป็นแอปที่เกี่ยวเนื่องกันอย่าง endomondo Runkeeper ที่จะคอยเก็บข้อมูล และระยะทางในการวิ่ง และนำมาคำนวณปริมาณแคลอรีที่เสียไป
ซึ่งจากความสามารถเหล่านี้ โจทย์ที่ผู้ผลิตทั้งหลายตีออกมาในกลุ่มผลิตภัณฑ์ Wearable Device ยังค่อนข้างจำกัดอยู่กับสร้อยรัดข้อมือที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลการใช้ชีวิต ประจำวันมากกว่า ดังนั้น ถ้าไม่ใช่คนที่ใส่ใจในสุขภาพ หรือชื่นชอบในการออกกำลังกายก็อาจจะเบือนหน้าหนีผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้อย่างแน่นอน
6 พัฒนาการสุดทึ่ง “ไฮเทคสวมใส่ได้”
ได้รับการยอมรับเป็นเสียงเดียวกันสำหรับงานแสดงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค CES 2014 ว่าเป็นงานที่พิสูจน์ให้โลกเห็นชัดเจนว่าตลาดสินค้าไฮเทคสวมใส่ได้หรือ (Wearable Tech) นั้นมีพัฒนาการต่อเนื่องก้าวกระโดด พัฒนาการสุดทึ่งเหล่านี้สามารถสะท้อนออกมาเป็นกองทัพสินค้าที่มีการใช้งานหลากรูปแบบ ต่อไปนี้คือ 6 สินค้าไฮเทคสวมได้ที่สามารถสรรหาช่องทางผูกติดกับร่างกายของผู้ใช้เพื่อการใช้งานที่คล่องตัวได้อย่างน่าสนใจ
1. Liquid Image Apex HD
Liquid Image Apex HD เป็นแว่นตาติดกล้องดิจิตอลที่ผู้สวมสามารถถ่ายวิดีโอและภาพนิ่งได้โดยไม่ต้องใช้มือถือจับกล้อง ลักษณะแว่นตาถูกออกแบบมาให้เหมาะสำหรับผู้รักการผจญภัย เช่นกลุ่มนักสกี และผู้ประกอบกิจกรรมโลดโผนที่ต้องสวมหมวกป้องกันหิมะ ผู้ใช้สามารถถ่ายทอดสดภาพที่เห็นขณะเล่นสกีได้โดยตรงผ่านสมาร์ทโฟน สนนราคาอยู่ที่ 400 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 12,000 บาท
2. MyKronoz
นาฬิกาอัจฉริยะจากสวิตเซอร์แลนด์อย่าง MyKronoz ถูกนำมาโชว์ความสามารถในการต่อโทรศัพท์และการเขียนอ่านข้อความได้อย่างสะดวก ตัวเครื่องมาพร้อมหน้าจอขนาด 1.54 นิ้ว ความละเอียด 240x240 พิกเซล ฝังระบบนับก้าวหรือ pedometer ไว้ภายใน รองรับระบบ Bluetooth 3.0 ภายในมีระบบเก็บข้อมูล 256MB ขนาดเหมาะมือ 1.76 ออนซ์ สนนราคาราว 149 เหรียญสหรัฐ (ราว 4,900 บาท)
3. FitBark
FitBark คืออุปกรณ์ไฮเทคสำหรับสวมใส่ให้น้องหมาหรือน้องแมวเพื่อคนรักสัตว์เลี้ยง อุปกรณ์นี้จะใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับองศา 3 มิติ หรือ 3D accelerometer sensor เพื่อติดตามกิจกรรมว่าสัตว์เลี้ยงกำลังทำอะไรในแต่ละวัน สนนราคาเบื้องต้นคือ 99 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3,300 บาท คาดว่าจะเริ่มวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในไตรมาสแรก ปีนี้
4. KMS Wristband
KMS Wristband คือโทรศัพท์มือถือสวมใส่ข้อมือได้ของเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ผลงานการออกแบบของบริษัท KMS Solutions นี้ถูกการันตีว่าสามารถต่อสายโทรศัพท์ได้มากกว่า 5 เลขหมายจากการกดปุ่มเพียงปุ่มเดียว รายงานระบุว่าผู้ใช้สามารถกดต่อเนื่องจนกว่าจะได้ยินเสียงตอบรับจากปลายสาย ขณะเดียวกันก็สามารถร้องเตือนผู้สวมได้ว่ากำลังออกนอกเส้นทางที่เดินทางประจำ เพื่อป้องกันการหลงทางที่อาจเกิดขึ้น
5. ZTE Blue Watch
นาฬิกา ZTE Blue Watch ถูกบรรยายว่าเป็นคอมพิวเตอร์และกล้องถ่ายภาพที่สวมใส่ได้ ถูกวางแผนพร้อมบุกตลาดภายในไตรมาสแรกของปีนี้ หน้าจอเครื่องเป็นกระดาษอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-paper display ถือเป็นนาฬิกาอัจริยะเรือนแรกจากบริษัท ZTE
6. Panasonic HX-A100
Panasonic เปิดตัวกล้องดิจิตอล 4K ที่สามารถสวมใส่ได้ตัวแรกของบริษัท กล้อง HX-A100 เป็นกล้อง UHD ที่มาพร้อมอุปกรณ์เสริมเพื่อให้ผู้ใช้สามารถคล้องกล้องกับใบหูและลำคอขณะถ่ายภาพได้ ตัวกล้องมีคุณสมบัติกันน้ำ น่าเสียดายที่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลราคา แต่คาดว่า HX-A100 จะเริ่มเปิดตลาดในปีนี้แน่นอน
***รู้หรือไม่
- สำนักวิจัย ABI Research ประเมินว่ายอดจำหน่ายอุปกรณ์ไฮเทคสวมใส่ได้จะมากกว่า 500 ล้านชิ้นในช่วง 5 ปีนับจากนี้
- ในเชิงมูลค่า บริษัท Credit Suisse Group คาดว่าตลาดอุปกรณ์ไฮเทคสวมใส่ได้ทั่วโลกจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นระหว่าง 3-5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 2-3 ปีนับจากนี้ จากปัจจุบันที่มีมูลค่าเพียง 3-5 พันล้านเหรียญ
คนส่วนใหญ่อยากได้ “ไฮเทคติดเสื้อผ้า”
สำนักงานแผนภูมิด้านเทคโนโลยีแห่งอเมริกาเหนือ หรือ North American Technographics นำข้อมูลจากการสำรวจความเห็นผู้บริโภคอเมริกันในปี 2013 มาเผยแพร่เป็นแผนภาพอินโฟกราฟิกซึ่งระบุว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวอเมริกันบนโลกออนไลน์มากกว่า 4,657 ราย (อายุ 18 ปีขึ้นไป) ส่วนใหญ่ให้ความสนใจสินค้าไฮเทคสวมใส่ได้ที่สามารถติดยึดกับเสื้อผ้ามากที่สุด
29% ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่ามีความสนใจสินค้าไฮเทคที่ติดยึดกับเสื้อผ้ามากที่สุด ขณะที่ 28% ระบุว่าชื่นชอบสินค้าไฮเทคที่ติดกับข้อมือ อีก 18% มองว่าสินค้าไฮเทคสำหรับติดรองเท้าก็มีความน่าสนใจ ท่ามกลางอีก 15% ที่สนใจการฝังติดระบบไฮเทคลงในเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย
ราว 12% ระบุว่าสนใจระบบไฮเทคที่ฝังในเครื่องประดับ สัดส่วนนี้เท่ากับผู้สนใจระบบไฮเทคในอุปกรณ์สวมศีรษะหรือหูฟัง รวมถึงผู้สนใจในระบบไฮเทคที่สร้างมาในรูปแว่นตาอัจฉริยะ
กลุ่มตัวอย่าง 10% สนใจระบบไฮเทคที่ผลิตออกมาในรูปปลอกแขน กลุ่มนี้มีสัดส่วนสูงกว่า 6% ที่สนใจระบบไฮเทคติดหน้าอก และ 4% ที่สนใจระบบไฮเทคติดบนคอนแทกต์เลนส์
กลุ่มตัวอย่างเพียง 3% เท่านั้นที่สนใจระบบไฮเทคในรูปแทตทูหรือรอยสักบนผิวหนัง