xs
xsm
sm
md
lg

เอ็กซ์เรย์อาการโคม่าของ Acer

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ซีอีโอเอเซอร์ เจ.ที. หวัง (J.T. Wang)
ต้องบอกว่านาทีนี้คือเวลาที่เรียกว่า Do-or-die time สำหรับเอเซอร์ (Acer) หรือเวลาที่เอเซอร์ต้องถามตัวเองว่าจะปรับตัวสร้างกลยุทธ์ใหม่เพื่อพลิกสถานการณ์เลวร้ายให้กลายเป็นดี หรือจะปล่อยให้บริษัทตายลงอย่างไม่มีทางออก เพราะล่าสุดหุ้นเอเซอร์ร่วงต่ำสุดในรอบ 12 ปีหลังซีอีโอลาเก้าอี้เพราะบริษัทขาดทุนยับเยิน ซึ่งบีบให้เอเซอร์ต้องประกาสเลิกจ้างพนักงานบางส่วนด้วย

หากจะตอบคำถามว่า ทำไมเอเซอร์ (Acer) บริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่อันดับ 2 ของไต้หวันจึงพบกับภาวะขาดทุนเป็นประวัติการณ์ นำไปสู่การลาตำแหน่งของซีอีโอเอเซอร์ "เจ.ที. หวัง (J.T. Wang)" แบบสายฟ้าแลบเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา? คำตอบของเรื่องนี้อาจจะต้องเริ่มที่จุดยืนของเอเซอร์ ซึ่งมักยึดฐานะการเป็นคอมพิวเตอร์พกพาหรือแล็บท็อปราคาประหยัด (low-cost laptop)

ที่ผ่านมา เอเซอร์ไม่ใช่ยี่ห้อที่ชวนให้นึกถึงสินค้าคุณภาพระดับพรีเมี่ยม ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าเอเซอร์ไม่มีภูมิคุ้มกันในวันที่ตลาดสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตขยายตัวจนทำให้ตลาดพีซีซบเซา เนื่องจากการสร้างฮาร์ดแวร์ความสามารถสูงหรือ high-end hardware จะสามารถช่วยให้ค่ายพีซีสามารถต้านทานแรงกดดันในตลาดได้ดีที่สุด ซึ่งเมื่อมองสิ่งที่เอเซอร์ทำได้ กลับมีเพียงผลประกอบการที่หดหายลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2012

ข้อมูลจากบริษัทวิจัยไอดีซีพบว่า เอเซอร์เป็นบริษัทที่มียอดจัดส่งพีซีลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ผลิตพีซีรายอื่นในช่วงปีที่แล้ว จุดหนึ่งเป็นเพราะเอเซอร์ไม่มีฐานตลาดองค์กรไว้ปกป้องตัวเอง การผูกธุรกิจของเอเซอร์ไว้กับตลาดผู้ใช้ทั่วไปหรือคอนซูเมอร์ทำให้เอเซอร์กลายเป็นผู้ผลิตที่เจ็บตัวที่สุด ผิดกับเดลล์ (Dell) หรือเอชพี (HP) ที่อย่างน้อยก็ยังสามารถจำหน่ายคอมพิวเตอร์ให้กับองค์กรใหญ่ได้ ขณะที่เลอโนโว (Lenovo) สามารถยึดตลาดใหญ่ในจีนและกลายเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์พีซีรายใหญ่ที่สุดในขณะนี้

การขาดทุนถล่มทลายของเอเซอร์ถูกมองว่าเป็นผลจากการล้มเหลวของยุทธศาสตร์อัลตราบุ๊ก (Ultrabook) จากอินเทล และระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 8 ที่ไม่เป็นที่นิยมด้วย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ "โมเดล Wintel" หรือการนำคอมพิวเตอร์ชิปอินเทลมาติดตั้งระบบปฏิบัติการวินโดวส์นั้นสามารถทำให้เอเซอร์สามารถขยายอาณาจักรได้นานหลายปี แต่วันนี้โมเดลนี้ไม่เวิร์กในตลาดคอนซูเมอร์ที่ต้องการอุปกรณ์พกพา ซึ่งทำให้เอเซอร์ต้องพบวิกฤติโคม่าหลังจากที่เคยเป็นบริษัทผู้ผลิตพีซีรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกในปี 2009 หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

ในมุมราคา นักวิเคราะห์มองว่ากลยุทธ์การตั้งราคาจำหน่ายพีซีเอเซอร์ให้ต่ำกว่าคู่แข่งนั้นทำให้เอเซอร์ได้รับกำไรน้อยลง ทำให้แม้เอเซอร์จะเพียรพยายามเปิดตัวแท็บเล็ตใหม่ทั้ง Iconia W4 แท็บเล็ต Windows 8.1 หน้าจอ 8 นิ้วราคา 329.99 เหรียญสหรัฐ (ราว 10,500 บาท) หรือ Iconia B แท็บเล็ตแอนดรอยด์ราคาต่ำพิเศษ 129.99 เหรียญ (ราว 4,150 บาท) แต่รายรับจากการขายแท็บเล็ตก็ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายมหาศาลที่เกิดขึ้นในเอเซอร์
ขอบคุณภาพจากบลูมเบิร์ก
จุดนี้ นักวิเคราะห์ชี้ว่าเริ่มมองเห็นสัญญาณเปลี่ยนแปลงจากเอเซอร์ เพราะยักษ์ใหญ่พีซีไต้หวันหันมาเปิดตัวโน้ตบุ๊กไฮเอนด์ราคาแพง Aspire S7 ซึ่งใช้วัสดุอลูมิเนียมในราคาเกิน 1200 เหรียญสหรัฐ (ราว 38,000 บาท) รายงานระบุว่าเอเซอร์สามารถจำหนายได้ราว 2,000-3,000 เครื่องต่อเดือน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่แสดงสัญญาณการปรับตัวของเอเซอร์ และอาจเป็นหนึ่งในทิศทางยุทธศาสตร์ในอนาคตของเอเซอร์ต่อไป

นักวิเคราะห์การ์ทเนอร์ (Gartner) นาม Eileen He เชื่อว่าหากเอเซอร์ยังจำหน่ายเฉพาะสินค้ากลุ่มคอมพิวเตอร์พีซีต่อไป เอเซอร์ก็จะพบจุดจบในเวลา 2-3 ปีนับจากนี้ โดยย้ำว่าการเป็นเพียงผู้ผลิตฮาร์ดแวร์นั้นไม่เพียงพอเนื่องจากตลาดพีซีโลกนั้นหดตัวทั้งระบบ ซึ่งสิ่งที่สามารถพิสูจน์คำพูดนี้คือความเคลื่อนไหวของอัสซุสเทค (Asustek) คู่แข่งคนสำคัญของเอเซอร์ที่พบว่ายอดจำหน่ายพีซีลดลงเช่นกัน

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของเอเซอร์คือมูลค่าหุ้นที่ตกต่ำรวดเดียว 6.9% เหลือ 16.90 ดอลลาร์ไต้หวัน (ราว 17 บาท) ตั้งแต่ช่วง 11:31 น. ของวันที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา มูลค่าหุ้นนี้ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ตุลาคมปี 2001 เป็นผลต่อเนื่องหลังจากเอเซอร์ระบุว่าช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนที่ผ่านมา บริษัทขาดทุนจากการดำเนินงาน 1.31 หมื่นล้านดอลลาร์ไต้หวัน ทั้งที่นักวิเคราะห์เชื่อว่าเอเซอร์จะขาดทุนเพียง 59 ล้านดอลลาร์ไต้หวันเท่านั้น

ผลจากการขาดทุนถล่มทลายนี้ทำให้เอเซอร์ตัดสินใจปลดพนักงานมากกว่า 7% ทั่วโลก และจะเปิดระดมทุนด้วยการจำหน่ายหุ้นชุดใหม่ 136 ล้านหุ้น คาดว่าการปรับโครงสร้างของเอเซอร์นับจากนี้จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายสูง 150 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4,800 ล้านบาท)

เพื่อรับผิดชอบต่อความล้มเหลวที่เกิดขึ้น ซีอีโอเอเซอร์ เจ.ที. หวัง (J.T. Wang) ประกาศลาออกและจะนั่งเก้าอี้เป็นประธานเอเซอร์ถึงเดือนมิถุนายนปีหน้า

สำหรับไตรมาสปัจจุบัน โฆษกเอเซอร์เชื่อว่ายอดจำหน่ายสินค้ากลุ่มพกพาของบริษัทในไตรมาส 4 ปีนี้อาจจะลดลง 10% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ซึ่งถือว่าเป็นการประเมินสถานการณ์ที่เอเซอร์ระมัดระวังเป็นพิเศษ

และต้องรีบสรรหามาตรการพิเศษมาจัดการเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น