xs
xsm
sm
md
lg

บ๊ายบาย กล้องคอมแพกต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตัวเลขที่หดหายไปกว่า 40% ของตลาดกล้องคอมแพกต์ในช่วงราคา 5 พันกว่าบาทไปจนถึง 1 หมื่นบาทในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่ายผู้ผลิตกล้องต้องเริ่มเปลี่ยนเกมในการทำตลาด หันไปหากลุ่มลูกค้าที่ยังมีอัตราการเติบโตอยู่ในตลาดกล้องปัจจุบัน อย่างมิร์เรอร์เลส และกล้องดีเอสแอลอาร์แทน

โดยเฉพาะเจ้าตลาดกล้องอย่างแคนนอน ที่หลังจากเริ่มหันมาทำตลาดกล้องมิร์เรอร์เลสในรุ่น EOS M ไปไม่นานก็ได้ทำการปรับราคาลงเหลือ 16,900 บาท เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าหันมาสนใจแคนนอนในตลาดมิร์เรอร์เลสบ้างหลังจากปล่อยให้โซนี่ยึดหัวหาดในตลาดกล้องกลุ่มนี้มาระยะหนึ่ง

ขณะเดียวกัน ในส่วนของกล้องดีเอสแอลอาร์ก็มีการเสริมตลาดทั้งในกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพหน้าใหม่อย่าง EOS 100D กล้องดีเอสแอลอาร์ขนาดเล็กพกพาง่ายที่มีขนาดเทียบเท่ากับบัตรเครดิต และ EOS 70D ที่เพิ่งวางตลาดไปเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาในการเข้าไปจับตลาดช่างภาพกึ่งมืออาชีพที่ต้องการกล้องประสิทธิภาพสูงทั้งในการถ่ายภาพ และถ่ายวิดีโอ

วรินทร์ ตันติพงศ์พาณิช ผู้อำนวยการอาวุโสและผู้จัดการทั่วไป ส่วนงานคอนซูเมอร์อิมเมจจิ้ง แอนด์ อินฟอร์เมชั่น บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงไตรมาสแรกภาพรวมของตลาดก็ยังมีทิศทางที่ยังพอใช้ได้ แต่ว่ามันมีอาการมาสะดุดตรงช่วงไตรมาสที่ 2 โดยเฉพาะกล้องคอมแพกต์มีการหดตัวค่อนข้างมาก โดยเฉพาะช่วงระดับราคา 5 พันบาทไปจนถึงหมื่นกว่าบาท

“สัดส่วนกล้องคอมแพกต์หายจากตลาดไปประมาณ 30-40% ในช่วงไตรมาสที่ 2 แต่ในกลุ่มของมิร์เรอร์เลสหลังจากมีการปรับราคาก็กระเตื้องขึ้น ส่วนในกลุ่มดีเอสแอลอาร์แม้ว่าจะดูชะลอ แต่ก็ยังถือว่ามีอัตราการเติบโตที่เดินได้บ้าง”

ในส่วนของตลาดรวม วรินทร์มองว่าการเติบโตน่าจะเห็นไม่มาก โดยภาพรวมอาจจะลดลงไปถึง 20% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ทางแคนนอนมั่นใจว่ายังมีกลุ่มกล้องระดับเซมิโปรเฟสชันนัลที่ยังสามารถเติบโตได้จากการนำ EOS 70D เข้ามาวางจำหน่าย เพราะถือเป็นการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพวิดีโอด้วย โดยตั้งเป้าจำหน่ายไว้ที่ 500 ตัวในช่วงแรก

ความสามารถหลักของ EOS 70D คือการแสดงผลภาพบนหน้าจอ Live View ประกอบกับเทคโนโลยีที่นำมาช่วยโฟกัสอย่าง Dual Pixel CMOS AF ทำให้ระบบโฟกัสถ่ายผ่านหน้าจอมองภาพอย่าง Live View ทำได้รวดเร็ว และคมชัดมากยิ่งขึ้น ซึ่งหาไม่ได้ในกล้องดีเอสแอลอาร์รุ่นอื่นๆ

สิ่งที่ได้คือผู้ที่ชื่นชอบในการนำกล้องดีเอสแอลอาร์เพื่อไปถ่ายงานภาพยนตร์หรือหนังสั้น ที่ต้องการให้ภาพที่ออกมามี “ชัดลึกชัดตื้น” จะได้รับความสะดวกในการใช้งานมากขึ้น ประกอบกับการที่เป็นจอสัมผัสด้วย ยิ่งทำให้สามารถเลื่อนจุดโฟกัสได้ไม่แตกต่างจากการลากนิ้วถ่ายภาพบนสมาร์ทโฟน

นอกจากนี้ เทคโนโลยีในการโฟกัสแบบใหม่ยังช่วยให้ตัวกล้องสามารถติดตามวัตถุที่เคลื่อนไหวได้ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นไม่ใช่เฉพาะการตรวจจับใบหน้าแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถจับโฟกัสที่วัตถุเคลื่อนไหวที่ต้องการได้ทันที

ส่วนเจ้าตลาดมิร์เรอร์เลสอย่างโอลิมปัสที่ล่าสุดประกาศว่าสามารถครองส่วนแบ่งกว่า 40% ในตลาดมิร์เรอร์เลส ก็พร้อมเสริมแนวรุกเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งเป็น 50% ได้ภายในสิ้นปีนี้ด้วยมิร์เรอร์เลสอีก 2 รุ่นใหม่

ชินโช อิเคดะ กรรมการและผู้จัดการแผนกผลิตภัณฑ์กล้องถ่ายภาพ บริษัทโอลิมปัส (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลถึงสภาพตลาดกล้องในปัจจุบันว่า สัดส่วนตลาดในกลุ่มมิร์เรอร์เลสปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 60,000 ตัว ดีเอสแอลอาร์ 150,000 ตัว ส่วนกล้องคอมแพกต์คาดว่าน่าจะมียอด 700,000-800,000 ตัวในปีนี้

ซึ่ง 2 แนวรุกใหม่ของโอลิมปัสจะมีทั้งมิร์เรอร์เลสในระดับราคากลางๆ อย่างเพนไลต์ อีพีแอล 6 (OLYMPUS PEN EPL6) ที่เริ่มต้นในระดับราคา 25,900 บาท และราคาสูงในรุ่นโอเอ็มดี อีเอ็ม 1 (OLYMPUS OM-D E-M1) ในระดับราคาเริ่มต้น 49,990 บาท ซึ่งเชื่อว่าทั้ง 2 รุ่นจะช่วยเข้ามากระตุ้นตลาดในช่วงปลายปีได้อย่างแน่นอน

ในฝั่งของโซนี่ที่นอกจากจะส่งมิร์เรอร์เลสออกมาในตลาดอย่างสม่ำเสมอแล้ว ก็ยังได้มีการปรับแนวรุกในตลาดกล้องคอมแพกต์ภายใต้ตระกูลไซเบอร์ช็อต หลังจากปีที่ผ่านมาสร้างปรากฏการณ์ให้โลกได้รับรู้ว่าในกล้องขนาดคอมแพกต์ก็สามารถนำเซ็นเซอร์แบบฟูลเฟรมเช่นเดียวกับในกล้องดีเอสแอลอาร์มาใช้งานได้ ภายใต้รุ่น RX1

พอมาถึงในปีนี้ก็มีการปรับเพิ่มความสามารถของกล้องรุ่นดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่งเริ่มวางจำหน่ายไปในระดับราคา 99,990 บาท ในชื่อรุ่น RX1R (อาร์เอ็กซ์วันอาร์) แต่จากระดับราคาที่สูงมากดังกล่าวส่งผลให้ผู้บริโภคที่ซื้อใช้งานจะเป็นแบบ เฉพาะกลุ่มจริงๆ เท่านั้น ทำให้ทางโซนี่เลือกที่จะนำอีกรุ่นที่มีการอัปเดตประสิทธิภาพพร้อมๆ กัน อย่าง RX 100 II (อาร์เอ็กซ์ 100 มาร์กทู) ในระดับราคา 22,990 บาท เข้ามาวางจำหน่ายด้วย

ทำให้เห็นได้ว่าในตลาดกล้องเอง ตอนนี้โซนี่ก็สามารถมีจุดยืนทั้งในตลาดกล้องมิร์เรอร์เลส ภายใต้ชื่อชั้นแบรนด์อย่าง NEX ซีรีส์ และกล้องคอมแพกต์กึ่งโปรฯ ภายใต้ RX ซีรีส์อยู่แล้ว ส่วนในตลาดกล้องคอมแพกต์ที่มีการหดตัวก็ไม่ได้ถือเป็นตลาดหลักของโซนี่ในช่วงหลังสักเท่าไรนัก

ที่น่าสนใจก็คือการรวมกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์มือถือเข้ามาอยู่กับธุรกิจหลักของโซนี่ ทำให้มีโอกาสเป็นไปได้ที่ทางโซนี่จะนำเทคโนโลยีต่างๆ ที่คิดค้นขึ้นเพื่อกล้องคอมแพกต์มาบรรจุใส่ในสมาร์ทโฟน ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในอุปกรณ์พกพาที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกล้องคอมแพกต์ในระดับราคาต่ำกว่า 1 หมื่นบาท

ประกอบกับแนวคิดในการทำ “One Touch” ช่วยเชื่อมสินค้าในตระกูลโซนี่เข้าด้วยกัน ทำให้ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนสามารถควบคุมกล้องโซนี่รุ่นใหม่ๆ ได้ หรือการโยนภาพที่ถ่ายจากกล้องส่งต่อเข้าไปในสมาร์ทโฟนเพื่อโพสต์ลงไปในโซเชียลเน็ตเวิร์กได้ทันที

เช่นเดียวกับซัมซุง ที่แม้ว่าจะเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดกล้องคอมแพกต์ แต่จากการเปิดตัวด้วยกล้องคอมแพกต์ 2 view จับกลุ่มผู้ใช้เฉพาะทางแล้ว ก็เริ่มนำเทคโนโลยีอย่าง Wi-Fi เข้ามาเป็นจุดขายในการเชื่อมต่อกล้องเข้ากับสมาร์ทโฟน เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่อยากได้ภาพที่มีคุณภาพสูงขึ้นเพื่อโพสต์ต่อไปยังโซเชียลเน็ตเวิร์กได้ทันที

แต่ขณะเดียวกันซัมซุงก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญต่อการทำสมาร์ทโฟนติดกล้อง เพราะดูจากพฤติกรรมของผู้บริโภคแล้วก็พบว่าคนรุ่นใหม่ชอบที่จะถ่ายภาพแล้วแชร์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กทันที ผิดกับสมัยก่อนที่ถ่ายรูปแล้วกว่าจะนำมาโพสต์ได้ต้องผ่านกระบวนการที่ยุ่งยาก จนเกิดสินค้าในตระกูล Galaxy CameraและGalaxy S4zoom

ที่น่าจับตาต่อไปก็คือการนำระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์มาใช้กับกล้องประเภทที่เป็นมิร์เรอร์เลส และกำลังจะวางตลาดในบ้านเราอย่าง Galaxy NX ซึ่งถือเป็นกล้องมิร์เรอร์เลสรุ่นแรกที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และทำให้ผู้ใช้งานได้ภาพที่มีคุณภาพสูง และสามารถแชร์ต่อไปยังโซเชียลเน็ตเวิร์กได้ทันทีอีกด้วย

ขณะที่แบรนด์ใหญ่อีกค่ายอย่างนิคอนก็มองว่าตลาดกล้องคอมแพกต์ในปีนี้ไม่ค่อยสวยงามเท่าไรนัก โดยเคยให้ข้อมูลไว้ว่าตลาดกล้องจะหดตัวลงเหลือราว 1 ล้านเครื่อง เนื่องจากตลาดกล้องคอมแพกต์ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดหดตัวลงจากการมาของสมาร์ทโฟน แต่ด้วยการที่นิคอนปรับจุดโฟกัสมาอยู่ที่ตลาดกล้องมิร์เรอร์เลสและกล้องดีเอสแอลอาร์อยู่แล้ว ด้วยการนำกล้องรุ่นใหม่ๆ ทยอยเข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าตลาดมิร์เรอร์เลสในปีนี้น่าจะเติบโตกว่า 45% และตลาดกล้องดีเอสแอลอาร์ก็จะเติบโตราว 6%

ในส่วนของพานาโซนิคก็มองไปในทิศทางที่คล้ายกันว่า ตลาดกล้องคอมแพกต์ในช่วงครึ่งปีแรกลดลงไปกว่า 40% เนื่องมาจากผู้บริโภคหันไปใช้สมาร์ทโฟนในการบันทึกภาพแทน ทำให้พานาโซนิคต้องมีการปรับตัวไปรุกในตลาดคอมแพกต์ไฮเอนด์ และมิร์เรอร์เลสมากขึ้น

โทชิฮิโร มาจิมะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดมิร์เรอร์เลสยังถือเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตที่ดีอยู่ ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกพานาโซนิคมียอดขายกล้องมิร์เรอร์เลสเพิ่มขึ้นถึง 6% ส่วนในตลาดกล้องดีเอสแอลอาร์ที่พานาโซนิคไม่มีผลิตภัณฑ์เข้าไปเจาะตลาดก็จะมีการเติมไลน์สินค้าที่ใกล้เคียงกันเข้ามาแทน

โดยล่าสุดพานาโซนิคได้ส่งกล้องดิจิตอลรุ่นใหม่ที่เรียกว่า DSLM (Digital Single Lens Mirrorless) เพื่อเข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาดกล้องในครึ่งปีหลัง ด้วยรุ่น Lumix GX7 ซึ่งเป็นพัฒนาการล่าสุดในกลุ่ม G Series ที่ได้รับการพัฒนาประสิทธิภาพจากรุ่น GX1 มาพร้อมเทคโนโลยีช่องมองภาพ Live View Finder ที่ปรับได้ 90 องศา และถือเป็นผู้ผลิตรายแรกในตลาดที่ผลิตช่องมองภาพแบบปรับพับได้สำหรับกล้องมิร์เรอร์เลสที่ติดมากับตัวกล้อง

ที่สำคัญคือ เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 4 สมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ที่มีกล้องประสิทธิภาพสูงทั้งจากโนเกีย ที่มี Lumia 1020 โซนี่ที่ส่ง Xperia Z1 ซัมซุงก็มี Galaxy Note 3 หรือแม้แต่แอลจีที่อัด G2 เข้ามาในตลาด ยังไม่นับรวมกับ iPhone 5S ที่จะเข้ามาอีก ยิ่งย้ำชัดว่าประสิทธิภาพของกล้องสมาร์ทโฟนเกินหน้าคอมแพกต์ในบางแง่มุมไปเรียบร้อยแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น