เฟซบุ๊ก (Facebook) เครือข่ายสังคมยักษ์ใหญ่เปิดตัวคุณสมบัติใหม่ที่จะทำให้ผู้ใช้มากกว่า 1.15 พันล้านคนสามารถใช้เฟซบุ๊กเป็นแหล่งอ้างอิงที่มาของข่าวสารได้ โดยให้ชื่อคุณสมบัตินี้ว่าเอ็มเบ็ดโพสต์ (Embed post) ซึ่งองค์กรข่าวและเว็บไซต์เผยแพร่ข่าวสารสามารถฝังภาพ วิดีโอ และข้อความอัปเดตสถานะไว้ในเรื่องราวได้โดยที่ยังผูกกับต้นตอที่แท้จริงของเรื่อง
Embed post ของเฟซบุ๊กจะมีลักษณะเดียวกับที่ทวิตเตอร์ (Twitter) และยูทิวบ์ (YouTube) ให้บริการ เมื่อผู้ใช้รายใดสามารถเข้าถึงคุณสมบัตินี้ ผู้นั้นจะสามารถเลือกเมนู “Embed post” เพื่อรับชุดคำสั่งหรือโค้ดที่ผู้ใช้สามารถตัดและวางลงในบทความหรือเว็บไซต์เผยแพร่ข่าวสารได้ในรูปภาษาเอชทีเอ็มแอล (HTML)
ไม่เพียงเฟซบุ๊ก เครือข่ายสังคมอย่างอินสตาแกรม (Instagram) ก็เป็นเครือข่ายสังคมอีกรายที่เปิดให้บริการ Embed post แล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้เฟซบุ๊กในเมืองไทยยังต้องรอต่อไปเนื่องจากคุณสมบัติ Embed post นี้เปิดใช้งานเฉพาะกลุ่มผู้ใช้บางส่วนเท่านั้น
นักวิเคราะห์มองความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของเฟซบุ๊กว่าเป็นความพยายามยกระดับให้เฟซบุ๊กสามารถเป็นเครือข่ายสนทนาแห่งสาธารณชนมากขึ้น จุดนี้เฟซบุ๊กระบุว่าโพสต์ที่จะสามารถฝังหรือ embed บนเว็บไซต์อื่นได้นั้นจะต้องตั้งค่าเป็น public หรือการยินยอมเปิดเผยต่อสาธารณชน กรณีนี้เฟซบุ๊กใช้เรื่องราวการประสูติของเจ้าชายน้อยแห่งราชวงศ์อังกฤษมาเป็นตัวอย่าง ซึ่งเว็บไซต์ข่าวสารสามารถฝังโพสต์ภาพถ่ายจากเฟซบุ๊กลงในเพจได้อย่างน่าเชื่อถือ
ระยะแรก รายงานระบุว่าองค์กรสื่อในสหรัฐฯ เช่นสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN), เดอะฮัฟฟิงตันโพสต์ (The Huffington Post), บลีเชอร์ รีพอร์ต (Bleacher Report) และนิตยสารพีเพิล (People) รวมถึงอีกหลายสื่อจะเป็นกลุ่มแรกที่สามารถใช้งานคุณสมบัตินี้
นอกจากนี้ Embed post ยังสามารถทำงานร่วมกับ hashtag หรือป้ายคำที่เฟซบุ๊กเพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเพื่อให้ชาวเฟซบุ๊กและสื่อมวลชนสามารถติดตามบทสนทนาบนเฟซบุ๊กในหลากหลายประเด็นได้ง่ายขึ้น จุดนี้ Embed post จะสามารถใช้กับป้ายคำเพื่อให้ผู้ใช้ได้คลิกอ่านบทสนทนาต่อไป
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของ Embed post ที่รองรับเฉพาะโพสต์ที่ตั้งค่าเปิดกว้างให้ทุกคนเข้าถึงหรือ public เท่านั้นยังเป็นความท้าทายของเฟซบุ๊ก เนื่องจากการสำรวจล่าสุดพบว่าผู้ใช้มากกว่า 72% นั้นตั้งค่าบัญชีเฟซบุ๊กเป็นแบบส่วนตัว หรือ private