การเปิดบริการ 3G ของค่ายมือถือ กลายเป็นเรื่องการตลาดชิงดีชิงเด่นแบบรายวัน สวนทางกับการใช้งานจริงของผู้บริโภคที่ต้องทนกับความเร็วของสัญญาณที่เคลมกันนักหนาว่าเร็ว แต่เพียงแค่เปิดหน้าเว็บบางแห่งก็ต้องใช้เวลานานเกือบนาที ปัญหาเหล่านี้สร้างความสับสนให้ผู้บริโภคว่าแท้ที่จริงแล้ว 3G ค่ายไหนเหมาะสำหรับการใช้งานมากที่สุด และท้ายที่สุดเราหรือนายควรเลือกค่ายไหนดี
เอไอเอสในช่วงที่ผ่านมามีการใช้ย่านความถี่ 900 MHz ทั้ง2G และ 3G บนความถี่เดียวกัน ทำให้การใช้งานในช่วงเริ่มต้นเกิดปัญหาเป็นอย่างมาก ต่อเมื่อเริ่มมีการแยก 3G มาใช้บนย่านความถี่ 2100 MHz ปัญหาดังกล่าวจึงลดลง ส่วนดีแทคปัจจุบันเปิดให้บริการ 3G บนย่านความถี่ 850 MHz เพียงอย่างเดียว ก็สร้างปัญหาให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดคิดว่าเปิดในย่านความถี่ 2100 MHz แล้ว เมื่อเปิดใช้บริการโดยไม่ตรวจสอบว่าเครื่องของตนนั้นไม่รองรับการใช้งาน 3G บนย่านความถี่ที่ดีแทคเปิดให้บริการ ความเร็วของอินเทอร์เน็ตก็จะอยู่เพียงแค่ EDGE เท่านั้น
แน่นอนว่า 3G บนย่านความถี่ 850 MHZ นั้นมีเครื่องมือถืออยู่ในตลาดน้อยมากเมื่อเทียบกับมือถือ 3G บนย่านความถี่ 2100 MHz ทำให้ช่วงก่อนการเปลี่ยนผ่าน 3G ไปสู่ความถี่ 2100 MHz ของดีแทค เราจึงได้เห็นเครื่องเฮาส์แบรนด์ยี่ห้อดีแทคราคาถูกรองรับ 3G บนย่าน 850 MHz 2100 MHz และ1800 MHz เพื่อรองรับการใช้งาน
ด้านทรูมูฟเอชเปิดให้บริการ 3G บนย่านความถี่ 850 MHz และ 2100 MHz และมีการทดลองเปิดให้บริการ 4G หรือ LTE ภายในกรุงเทพฯ ซึ่งใช้คลื่นความถี่ 2100 MHz ในการทำ 4G/LTE ร่วมกัน ขณะที่ทีโอทีเปิดให้บริการ 3G บนย่านความถี่ 2100MHz เพียงอย่างเดียว และถือเป็นรายแรกสำหรับการเปิดให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์ แต่แม้ว่าจะเปิดให้บริการก่อนใครด้วยรูปแบบ MVNO (ให้เช่าโครงข่ายสำหรับผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง) แต่ก็ไม่สามารถครองตลาดได้ด้วยรูปแบบการบริหารที่ผิดพลาดของทีโอทีเอง
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการเลือกใช้บริการไม่ว่าค่ายใดต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัยด้วยกัน คือ1.ตัวเครื่องรองรับ 3G ย่านความถี่ไหน 2. ผู้ให้บริการรายใดที่เปิดบริการ 3G บนย่านความถี่นั้น และ 3.โปรโมชันใดที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด
การเปิดตัว 3G ของไทยที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความตื่นเต้นและเร้าใจ โหมโฆษณากันอย่างเอิกเกริก แต่การใช้งานจริงกลับพบว่ายังใช้งานได้เพียงบางพื้นที่เท่านั้น ถึงแม้บางรายจะประกาศว่ามีสถานีฐานที่ครอบคลุมทั่วประเทศแต่ก็ใช่ว่าจะใช้งานได้จริงและสวยหรูอย่างที่พรีเซนเตอร์มาแสดงให้เห็นผ่านจอทีวี เพราะยังเป็นการใช้งาน 3G บนคลื่นความถี่เดิมที่มีกำลังไม่เพียงพอที่จะให้บริการได้ตามที่ต้องการ
เอไอเอสมีจำนวนสถานีฐาน บนคลื่นความถี่ 900 MHzทั้งสิ้น 14,000 สถานีฐาน และจะไม่ขยายสถานีฐานเพิ่มเติม ส่วนจำนวนสถานีฐานบนความถี่ 2100 MHzในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 5,000 สถานีฐาน และในสิ้นเดือนสิงหาคมจะเพิ่มเป็น 8,000 สถานีฐาน จนถึงสิ้นปีคาดว่าจะเพิ่มเป็น 10,000 สถานีฐาน ปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าที่อัปเกรดเป็น 3G 2100 MHzแล้ว 2.6 ล้านราย โดยคาดว่าภายในสิ้นปี 2556 นี้ จะมีลูกค้า 3G 2100 MHzประมาณ 10 ล้านราย จากลูกค้าเดิมที่ปัจจุบัน 37 ล้านเลขหมาย
ดีแทค ขณะนี้มีสถานีฐาน3G 850MHz ทั่วประเทศแล้วกว่า 5,000 สถานี ส่วนสถานีฐานโครงข่าย 3G 2100 MHz เมื่อถึงสิ้นเดือนกรกฏาคมจะมีประมาณ 3,000 สถานีฐาน โดยดีแทคจะเปิดบริการ 3G 2100 MHzกลางเดือนก.ค.นี้ และจะมีเพิ่มอีกในเดือน ต.ค. อีกราวกว่า 5,000 สถานีฐาน แต่ไม่ได้แจ้งว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีจำนวนเท่าไหร่ ส่วนจำนวนลูกค้าในขณะนี้ ดีแทคมีลูกค้าที่ใช้คลื่นความถี่ 3G 850MHz ประมาณ 3.5 ล้านราย
ทรูมูฟ เอช มีสถานีฐาน3G บนความถี่ 850 MHz และ 2100 MHz (ไม่มีรายละเอียดว่าความถี่ใดมีเสาจำนวนเท่าไร) รวม 13,000 สถานีฐาน ใน 77 จังหวัดโดยในปีนี้ทรูมูฟ เอช จะขยาย 3G 850 MHz เพิ่มเป็น 14,000 สถานีฐานภายในสิ้นปี และ 3G 2100 MHz เพิ่มอีกประมาณ 5,000 แห่ง ทำให้ ทรูมูฟ เอช มีสถานีรวมกว่า 21,000 สถานีฐานภายในสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าโดยพื้นฐานของความถี่ 850MHz จะให้สัญญาณที่ไกล ครอบคลุมพื้นที่ในวงกว้าง แต่จะไม่สามารถทะลุทะลวงได้ดีนักทำให้มีคุณภาพที่ด้อยกว่าในด้านของความเร็วในการ Download-Upload ที่ลดลง ต่างจากความถี่ 2100 MHzจะมี Bandwidth capacity สูงกว่าทะลุทะลวงได้ดีกว่าจึงมีคุณภาพสัญญาณที่ดีกว่าและมีความเร็วในการ Download-Upload สูงกว่า แต่ก็ส่งสัญญาณไปได้ไม่ไกลนัก จึงต้องมีจำนวนสถานีฐานที่มากกว่า
*** 4G LTE ฝันหวานในวงแคบๆ
ดังนั้นจำนวนสถานีฐานและปริมาณของลูกค้าไม่สามารถวัดได้ว่าค่ายใดค่ายหนึ่งมีความเร็วเหนือกว่าค่ายอื่น เพราะในการใช้งานจริงแล้วยังขึ้นอยู่กับการวางเครือข่ายในแต่ละพื้นที่ ในเขตเมืองใหญ่ที่การใช้งานสูงต้องมีการลงเสาสัญญาณที่ถี่ขึ้น แต่หากการใช้งานมีความหนาแน่นมากเกินไปก็จะทำให้ความเร็วลดลงเช่นกัน ต่างจากในพื้นที่ซึ่งมีจำนวนสถานีฐาน 3G น้อย แต่ในพื้นที่นั้นมีการใช้งานน้อยก็ทำให้ความเร็วที่ได้สูงกว่าเช่นกัน ขึ้นอยู่ที่ว่าความหนาแน่นของลูกค้าที่มีต่อสถานีฐานนั้นๆ เป็นจำนวนเท่าไร และการจัดการของแต่ละเครือข่ายดีเพียงใด
นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของการแชร์การใช้งานระหว่าง 2G และ 3G ในความถี่ 850 MHz และ 900 MHz ที่มีผลทำให้ความเร็วในการใช้งานด้อยลงไปอีก ดังนั้นการลงทุนในส่วนของ ความถี่ 2100 MHz จึงเป็นสิ่งที่ทุกค่ายต้องเร่งทำเพื่อเสริมประสิทธิภาพของ 3G ให้ดียิ่งขึ้น
ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้ผู้ผลิตอุปกรณ์ด้านโทรคมนาคมสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการรวมความถี่ โดยทุกความถี่สามารถนำมาให้บริการ 3G ได้ และจะทำให้ได้ความถี่ที่กว้างขึ้น และเป็นที่มาของ TriNet ดีแทคที่จะผสานความถี่ทั้ง 850 MHz 1800 MHz และ 2100 MHz เพื่อให้บริการ 3G แต่การรวมเครือข่ายนี้ลูกค้าจะต้องรอถึงกลางเดือนกรกฎาคมถึงจะได้สัมผัสกับ 3G ที่มีประสิทธิภาพแท้จริงของดีแทค และจะเป็นลูกค้าเพียง 1 แสนรายในเบื้องต้นเท่านั้น ส่วนลูกค้ารายอื่นที่อยู่นอกพื้นที่ยังต้องรอต่อไป
ด้านทรูที่เคลมว่าจะมีเครือข่าย 3G ครอบคลุมที่สุด และขยายเสาสัญญาณได้เร็วที่สุด นั่นเป็นเพราะการเป็นพันธมิตรกับบริษัท กสทโทรคมนาคมที่มีเสาสัญญาณเดิมอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงทรูก็ยังต้องมีการแชร์ใช้เครือข่ายระหว่าง 2G และ3G เช่นกัน นอกจากนี้การเป็นผู้ให้บริการ 4G LTE รายแรกของไทยนั้นก็ยังมีข้อจำกัดเพราะเป็นการแบ่งช่วงความถี่มาจาก 2100 MHz เพียง 5 MHz เท่านั้น จึงยังไม่ต้องคาดหวังการใช้งานที่ครอบคลุมมากนัก
แถมยังจะไปส่งผลต่อคุณภาพความถี่ 3G 2100 MHz ที่เหลือเพียง 10 MHz เท่านั้น ซึ่งแม้จะมีการออกมาประกาศเช่นเดียวกันว่าได้มีการรวมคลื่น 850 MHz และ 2100 MHz เพื่อให้บริการ 3G ร่วมกัน ก็ยังถือได้ว่ามีความกว้างของสัญญาณน้อยกว่าค่ายอื่นอยู่ดี
***พรีเซ็นเตอร์ตัวช่วยใหม่เอไอเอส
หลังยืนยันหนักแน่นมาตลอดว่าแบรนด์แข็งแรง แต่เอไอเอสยังต้องเลือกใช้บริการ เจมส์ จิรายุ ตั้งศรีสุข ดาวรุ่งพุ่งแรงดังเพียงชั่วข้ามคืน มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ เพื่อสร้างแบรนด์ใหม่อย่าง AIS 3G 2100 เนื่องจากเป็นดาราดาวรุ่งหน้าใหม่ที่ฉายแววความเป็นตัวจริงเบอร์ 1 คนต่อไปของวงการ มีความสามารถหลายด้าน รวมถึงมีบุคลิกภาพโดดเด่น สดใสร่าเริง ที่จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจแก่แบรนด์ AIS 3G ให้เข้าถึงประชาชนในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสงครามครั้งนี้ใครก็เพลี่ยงพล้ำไม่ได้ หลังจากค่ายทรูผูกปิ่นโตกับณเดชน์-ญาญ่า และเสริมความฮอตด้วยบอย-มาร์กี้
*** เอไอเอส VS ทรู 2.1 GHz ใครแจ๋ว
กสทช. ระบุว่า ภายหลังจากผู้ประกอบการ 2100 MHz เพื่อให้บริการ 3G ทั้ง 2 รายคือเอไอเอสและทรู ที่ได้เปิดให้บริการผ่านมาแล้ว 1 เดือนพบว่า คุณภาพการให้บริการ 3G บนความถี่ 2100 MHz ในการใช้บริการดาต้าเพื่อดาวน์โหลดระหว่างวันที่ 25 พ.ค.-12 มิ.ย. 56เอไอเอส 3G บนคลื่นความถี่ 900 MHz มีความเร็วดาวน์โหลด 1.9 Mbps เอไอเอส 3G บน 2.1 GHz (AWN) มีความเร็ว 1.5 Mbps ทรูมูฟ เอช 3G บน 850 MHz มีความเร็ว 1.7 Mbps ทรูมูฟ เอช บน 2100 MHz ความเร็ว 2.4 Mbps
ส่วนการทดสอบการโทร.พบว่า เอไอเอส 3G บน 900 MHz ทดสอบการโทร.จำนวน 1,065 ครั้ง โทร.สำเร็จ1,062 ครั้ง เอไอเอส 3G บน2100 MHz (AWN) ทดสอบการโทร. 1,235 ครั้ง โทร.สำเร็จ 1,230 ครั้ง ทรูมูฟ เอช 3G บน 850 MHz ทดสอบการโทร. 984 ครั้ง โทร.สำเร็จ 983 ครั้ง เรียลฟิวเจอร์ บนคลื่น 2100 MHz ทดสอบการโทร. 803 ครั้ง โทร.สำเร็จ 801 ครั้ง
ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังการเปิดให้บริการ 3G ของ 2 ค่ายทั้งเรื่องความเร็วของการใช้งานดาต้า และการลดอัตราค่าบริการลง15% ตามเงื่อนใบอนุญาตนั้น ในเบื้องต้นสำนักงาน กสทช.กำลังหารือกับผู้ประกอบการทั้ง 2 รายว่าหากผู้ใช้บริการใช้ความเร็วตามโปรโมชันที่สมัครมาหมดแล้วให้คงความเร็วอินเทอร์เน็ตไม่ต่ำกว่า 345 kbpsได้หรือไม่ เพราะในขณะนี้ผู้ประกอบการทุกรายปรับความเร็วให้ลดลงเพียง 64-128 kbps เท่านั้น ซึ่งงานนี้ยังคงต้องรอดูความชัดเจนกันต่อไปเพราะยังไม่ได้ข้อสรุปจากทางกสทช.
โดยสาเหตุที่ทำให้ความเร็วการใช้งานดาต้าต่ำลงนั้นเนื่องจากเมื่อผู้ใช้บริการใช้ความเร็วสูงสุดครบตามโปรโมชันที่สมัครไว้แล้วระบบจะทำการลดความเร็วลงอัตโนมัติตามกฎที่ผู้ประกอบการตั้งกันขึ้นมาโดยมีชื่อเรียกว่า Fair Usage Policy (FUP) ให้มาอยู่ที่ 64 - 128 Kbps ต่อวินาที
สำหรับค่าบริการที่ทุกรายจะต้องลดลง 15% นั้นล่าสุดได้มีการนำโปรโมชันเก่าจากระบบ 2G มาให้บริการบน 3G ทั้ง 2 รายมีการปรับลดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ในขณะที่โปรโมชันใหม่ทางเอไอเอสมีการลดอัตราค่าบริการ 15% เฉพาะในบริการประเภทเสียงเท่านั้น ในขณะที่ SMS, MMS และอินเทอร์เน็ตยังไม่มีการลดค่าบริการ เช่นเดียวกับของทรูที่ไม่มีการลดอัตราค่าบริการลง 15% เลย
โดยในเบื้องต้นผู้ประกอบการทั้ง 2 รายเอไอเอส และทรูอ้างว่าการให้บริการ3G นั้นมีทั้งบนคลื่นความถี่เดิม และคลื่นความถี่ใหม่ทำให้ยังสับสนในการปรับลดค่าบริการลง 15%
งานนี้ท้ายที่สุดคงต้องรอให้เอไอเอส และทรูไปแยกรายละเอียดของโปรโมชันให้ชัดเจนว่า แพกเกจใดใช้คลื่น 900 MHz และแพกเกจใดใช้คลื่น 2100 MHz เช่นเดียวกับทรู ต้องแยกให้ชัดเจนระหว่างคลื่นความถี่ 850 MHz และคลื่น 2100 MHz ก่อนจะส่งข้อมูลทั้งหมดกลับมายังกสทช.อีกครั้ง เพื่อดูว่าเป็นไปตามเงื่อนไขใบอนุญาตหรือไม่ต่อไป
***ใครเร็วกว่าบน 2100 MHz วัดกันชัดๆ อีกทีปลายปี
นาทีนี้แม้จะมีการให้บริการ 3G ความถี่ 2100 MHz กันแล้ว แต่ยังคงไม่สามารถวัดกันชัดๆ ในขณะนี้ คงต้องทิ้งเวลาไว้สักระยะหนึ่งก่อน ซึ่งก็น่าจะเป็นไตรมาสสุดท้ายหรือก่อนปีใหม่ ขณะเดียวกันแม้จะมีการเปิดให้บริการแต่ไม่ใช่ลูกค้าทุกรายจะสามารถเข้าใช้งานได้ ต้องรอรับข้อความยืนยันจากโอเปอเรเตอร์อีกที เพราะแม้วันนี้คุณจะเป็นผู้เลือกใช้แต่ถ้าเขายังไม่เลือกคุณ ก็ต้องรอกันต่อไป
ดังนั้นหากจะชี้วัดจากการใช้งานในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะเป็นการวัดกันที่ 3G บนความถี่เดิม 850 MHz และ 900 MHz ที่แต่ละค่ายต่างก็มีข้อเด่นข้อด้อยของสัญญาณไม่ต่างกันมากนัก ขึ้นอยู่กับพื้นที่และความหนาแน่นของการใช้งาน หากมีการให้บริการ 3G ความถี่ 2100 MHz กันอย่างพร้อมเพรียงในปลายปีนี้ คงจะวัดได้ว่าใครเหนือกว่าใครและใครน่าใช้มากกว่ากัน อีกสัก 6 เดือนลูกค้าในกลุ่มที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจะได้รับคำตอบว่าเลือกค่ายไหนดีที่สุด