ไขความในใจ "น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา" กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ที่วันนี้กลายเป็นเสียงเดียวในระบอบเผด็จการกทค.หรือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม แม้ที่ผ่านมามีความเห็นแย้ง และเป็นเพียงเสียงเดียวที่โหวตแพ้อีก 4 เสียง วันยันค่ำ คืนยันรุ่ง
แต่ยังฝืนยิ้มรับด้วยความพอใจ เพราะแม้ถูกมติเสียงส่วนใหญ่มัดมือชกมาตลอด และก็ยังไม่ได้กังวลอะไรมากนัก เพราะเชื่อว่าเสียงเดียวของตนเองยังพอช่วยให้มติต่างๆของกทค.ที่ออกมา ไม่ถึงกับนอกลู่นอกทางจนเกินงาม
น.พ.ประวิทย์ กล่าวว่าทุกวันนี้การปฎิบัติหน้าที่ได้ให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริง และข้อกฏหมายเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจในมติต่างๆ ถึงแม้ในการประชุม กทค. แต่ละครั้งตนจะเป็นเพียงเสียงข้างน้อยในการโหวตก็ตาม เนื่องจากเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีความเห็นขัดแย้งกันในการประชุม เพราะบอร์ดมีถึง 5 คนดังนั้นจะให้ทุกคนมีความเห็นเป็นไปทิศทางเดียวกันคงเป็นเรื่องยาก ซึ่งมติต่างๆที่ตนพยายามแย้ง ไม่เห็นด้วย และสงวนความคิดเห็นก็เพื่อที่จะให้มติต่างๆ เหล่านั้นออกมาแล้วอยู่ในกรอบไม่ออกนอกลู่นอกทางก็เพียงพอแล้ว
'มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ความเห็นในที่ประชุมจะมีประเด็นที่ขัดแย้งกันบ้าง แต่ผมมีจุดยืนที่เน้นเรื่องข้อเท็จจริง และข้อกฏหมายเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ส่วนใครจะไม่สนใจ ก็ต้องปล่อยให้รับผิดชอบผลที่ตัวเองทำกันเอง'
ส่วนเรื่องการตรวจสอบมติของบอร์ดที่ผ่านมาคงต้องฝากให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือ ซูเปอร์บอร์ดที่จะเข้ามาตรวจสอบหลังจากนี้มากขึ้น โดยเฉพาะมติที่เคยออกไปก่อนหน้านี้ที่ไม่ค่อยคำนึงถึงเสียงของสังคม หรือไม่คำนึงถึงข้อเสนอของสำนักงาน ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลให้มติในที่ประชุมต่อไปนี้จะต้องมีความระมัดระวังกันมากขึ้น
'คงต้องรอดูว่าซูเปอร์บอร์ดจะจริงจังในการตรวจสอบมากแค่ไหนในแต่ละเรื่อง เพราะถือเป็นหน่วยงานแรกที่จะเข้ามาตรวจสอบเนื่องจากมีอำนาจหน้าที่โดยตรง'
*** จับตาค่าบริการ3Gจะลดจริงหรือไม่
น.พ.ประวิทย์ กล่าวว่า บทเรียนล่าสุดที่ทำให้บอร์ดกทค.เริ่มตระหนักมากขึ้น คือเรื่องสัญญาการให้บริการโทรศัพท์มือถือ3G ความถี่ 2.1GHz ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องลดอัตราค่าบริการลงโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า15% ซึ่งเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังการประมูลใบอนุญาต3G ในลักษณะเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต ซึ่งก่อนการประมูลไม่มีใครเคยคิดมาก่อนว่าจะต้องมีการลดค่าบริการลง แต่เนื่องจากมีเสียงคัดค้านจากสังคมในการประมูลดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
สุดท้ายจึงมีการหยิบยกเรื่องลดค่าบริการขึ้นมาเพื่อกลบกระแสเรื่องการคัดค้านการประมูล แต่มาถึงตอนนี้กลับมีแนวโน้มบอกว่าไม่ต้องลดราคาลงก็ได้แต่สามารถเพิ่มสิทธิประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ อาทิ เพิ่มค่าโทร. เพิ่มปริมาณการใช้งานดาต้า เป็นต้น
ดังนั้นตอนนี้เชื่อว่าผู้บริโภคจำนวนมากนอกจากจะตั้งหน้าตั้งตารอการเปิดให้บริการ3G 2.1GHz อย่างเป็นทางการแล้วที่สำคัญยังรอดูค่าบริการ3G ว่าจะมีการลดราคาลง15% จริงอย่างที่บอร์ดกทค.เคยให้คำสัญญาไว้กับผู้บริโภคในตอนออกใบอนุญาตให้เอกชนทั้ง3รายเมื่อปลายปีที่ผ่านมาหรือไม่
'เชื่อว่าไม่นานเกินรอสังคมจะเป็นผู้ตรวจสอบเองว่าทำไมถึงไม่มีการลดราคาเหมือนที่เคยออกมาระบุไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งสุดท้ายบอร์ดคงต้องกลับมาดูว่าแนวทางที่วางไว้ ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมอย่างไรต่อไป'
ส่วนที่ผู้ประกอบการออกมาระบุว่าจะเพิ่มปริมาณการใช้งานหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆให้กับผู้บริโภคแทนการลดค่าบริการ15% นั้น มองว่าหากจะให้เห็นด้วยกับข้อเสนอนั้นผู้ประกอบการจะต้องทำรายงานพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคแต่ละรายว่ามีการใช้งานจริงเท่าไร เพราะหากผู้บริโภคใช้งานการโทร.ออกน้อยอยู่แล้วแต่กลับไปยัดเยียดเพิ่มปริมาณการโทร.ออกให้สามารถใช้งานได้มากขึ้นก็เหมือนเป็นการเล่นละครตบตามากกว่า แต่หากเพิ่มความเร็วการใช้งานดาต้าให้กับผู้บริโภคแทนอันนี้ก็พอรับได้โดยคงต้องขอดูรายละเอียดอีกครั้งก่อน
***ผลสอบ BFKT จบแต่เจ็บ
เช่นเดียวกับผลสอบบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) ที่ได้ทำสัญญาเกี่ยวกับการให้บริการโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่บนความถี่ 800 MHz กับบริษัท กสท โทรคมนาคม ซึ่งในตอนแรกคณะทำงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวออกมาระบุว่าBFKTไม่มีเจตนาในการกระทำความผิด แต่พอมุมกฏหมายไม่สามารถนำผลสรุปดังกล่าวมาใช้ได้ ผลสอบก็เปลี่ยนมาเป็น BFKT 'ไม่เข้าข่ายเป็นผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม' ทำให้เรื่องเป็นอันจบลง ทั้งๆที่สำนักงาน กสทช.เสนอและยืนยันมาโดยตลอดอย่างชัดเจนว่าเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมก็ตาม
'กรณี BFKT ที่บอร์ดสรุปไปแล้วนั้นเป็นเพียงความเห็นทางกฏหมายเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางอาญา จึงยังไม่ถือว่าเริ่มต้นกระบวนการยุติธรรม ซึ่งหากซูเปอร์บอร์ดมีความเห็นว่า BFKTถือเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคม บอร์ดกทค.จะต้องนำเรื่องดังกล่าวกลับมาพิจารณาทางกฎหมายใหม่อีกครั้ง โดยหากเป็นก็ต้องเริ่มกระบวนการยุติธรรม แต่ถ้าไม่เป็นก็ถือว่ายุติ'
นอกจากนี้คงต้องรอดูหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกสทช.กำหนดว่าจะออกภายใน 30 วันหลังจากมีมติในเรื่องผลสอบBFKT ซึ่งหากครบกำหนดแล้วยังไม่มีความคืบหน้าคงต้องฝากให้ซูเปอร์บอร์ดตามจี้ด้วยว่าเข้าข่ายทำงานบกพร่องหรือไม่ หรือไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน เช่นเดียวกันต่อไปหากมีมติกำหนดเป็นระยะเวลาในการทำงานต่างๆ ก็จะถูกตรวจสอบและติดตามอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น
น.พ.ประวิทย์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามผลสอบของบอร์ดกทค.เป็นเพียงความเห็นทางข้อกฎหมายเท่านั้น แต่ไม่ได้แปลว่ากระบวนการยุติธรรมจะจบ หากมีใครไปร้องเรียนหน่วยงานต่างๆ ก็จะเริ่มนับหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมทันที ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นหน่วยงานที่เข้ามาสอบก็จะหยิบยกผลสอบของบอร์ดกทค.นำมาพิจารณาประกอบด้วยเท่านั้น จึงไม่ได้เรียกว่ากรณี BFKT จบแล้ว
'ส่วนที่ผมดำเนินการอยู่คือการสงวนความเห็นในมติดังกล่าวให้รัดกุมที่สุด เพราะเข้าใจว่าจะถูกใช้ในการอ้างอิงของหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้คนอ่านเป็นผู้ตัดสินว่าของใครมีเหตุมีผลมากกว่ากัน'
สำหรับรายงานมติที่ประชุมอย่างเป็นทางการยังไม่ออกในตอนนี้ ซึ่งตามกฏหมายจะต้องเผยแพร่รายงานการประชุมภายใน30วันหลังมีมติในที่ประชุม ดังนั้นเชื่อว่าเมื่อมีคนเห็นมติ และรายงานการประชุม รวมไปถึงคำสงวนความเห็นของผมอย่างเป็นทางการแล้วจะมีคนออกมาเคลื่อนไหวต่อแน่นอน หากอ่านแล้วไม่เห็นด้วยกับมติในที่ประชุมบอร์ดกทค.กรณี BFKT
***ลุ้นระทึก1800 MHz ใครได้สิทธิ
ส่วนกรณีความถี่ 1800 MHz ที่จะหมดอายุสัญญาสัมปทานเร็วๆนี้ บอร์ดกทค.จะให้เอกชนรายเดิมให้บริการต่อไป ทั้งๆที่ข้อกฏหมายระบุไว้ชัดเจนว่าเอกชนไม่มีสิทธิในการถือครองความถี่ต่อเมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง แถมโครงข่ายต่างๆก็ต้องคืนรัฐวิสาหกิจด้วย แล้วจะใช้อะไรในการบริการความถี่ต่อ ซึ่งในเรื่องนี้คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากหากเกิดปัญหาขึ้น
ที่สำคัญคงต้องรอดูต่อไปว่าบอร์ดกทค.จะได้บทเรียนอะไรจากกรณีดังกล่าวหลังจากมีมติออกไปแล้ว
'ถ้าจะมีใครให้บริการต่อในคลื่น1800 MHz หลังหมดสัญญาสัมปทาน คนๆนั้น จะต้องเป็น กสท ไม่ใช่เอกชนเพราะไม่มีทั้งใบอนุญาต ไม่มีทั้งโครงข่ายจะสามารถไปบริหารจัดการได้อย่างไร ถ้าได้ก็ถือเป็นเรื่องที่พิสดารมาก ในขณะที่บริษัท กสท โทรคมนาคมซึ่งยังมีใบอนุญาตอยู่ กสทช.อาจจะเข้าไปแก้กฏหมายให้อนุญาตใช้คลื่นต่อไปได้อีก1ปีก็ได้ เพื่อให้หามาตรการเยียวยาลูกค้า'
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้เชื่อว่าวงการกฏหมายจะจับตามองบอร์ดกทค.มากยิ่งขึ้นว่าจะมีมติอะไรออกมาแปลกๆอย่างที่ผ่านมาหรือไม่
'การที่บอร์ดกทค.ออกมาระบุว่าเตรียมประมูล1800 MHz ไม่ทันภายในปีนี้ ทั้งๆที่รู้ล่วงหน้าโดยตลอดว่าสัญญาสัมปทานจะหมดเมื่อไร เชื่อว่าเป็นข้ออ้างมากกว่าเพราะความเป็นจริงแล้วไม่ได้ทำอะไรเลย ยกตัวอย่างการประมูล3G ยังใช้เวลาไม่ถึง 1ปี เพราะประกาศต้นปี มาประมูลปลายปี และหากจะเริ่มดำเนินการจริงๆตั้งแต่ตอนนี้ จริงหรือที่ปลายปีนี้จะประมูลไม่ทัน หรือว่าตั้งใจแล้วตั้งแต่ตอนแรกให้มันไม่ทันเพื่อให้เอกชนบริการต่อ'
ดังนั้นในอนาคตเมื่อสัมปทานความถี่ 900 MHz หรือ 850 MHz หมดอายุลง ก็อาจจะประมูลไม่ทันอีก เพราะขนาดความถี่ 1800 MHzยังต้องใช้เวลาถึง2ปี สุดท้ายก็เอื้อเอกชนให้บริการต่อ ซึ่งจะมีผลประโยชน์มหาศาลมากกว่าในตอนนี้เพราะมีลูกค้าอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก
***มติต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม
ส่วนมติต่างๆที่ผ่านมาแล้วไม่ว่าจะเป็นการประมูล3G หรือ ผลสอบBFKT ล้วนแล้วแต่เอกชนได้ประโยชน์ทั้งนั้น ในขณะที่รัฐเป็นผู้เสียประโยชน์ดูได้จากกรณี 3G เนื่องจากรัฐได้เงินน้อยกว่าควรจะได้ ส่วนกรณี BFKTที่ผลสรุปออกมาว่าไม่เข้าข่ายประกอบกิจการ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมประกอบกิจการ ,ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO) แต่หากผลสรุปออกมาตรงกันข้าม รัฐก็จะได้ผลประโยชน์กลับมาในค่าธรรมเนียมเหล่านั้น และในส่วนอื่นๆด้วย
เช่นเดียวกับ 1800 MHz ถ้าบอร์ดมีมติให้เอกชนให้บริการต่อคนได้ประโยชน์ก็คือเอกชน แม้จะมีการอ้างว่าผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ก็ตาม ทั้งที่จริงแล้วมีทางเลือกอื่นให้เลือกอีก โดยคำถามที่ตามมาคือบริการหลังจากนั้นเอกชนจำเป็นต้องส่งส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐหรือไม่ ในเมื่อไม่ได้อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานแล้ว ซึ่งหากไม่ต้องส่งเอกชนก็จะได้กำไร2ต่อในทันที และได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมUSO รวมไปถึงค่าธรรมเนียมต่างๆด้วย เอกชนก็มีแต่ได้กับได้
***เรื่องยากที่อยากจะทำ “ผู้เล่นหน้าใหม่”
ตลอดเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของบอร์ดกทค.ชุดนี้ผ่านมาแล้วประมาณ 2 ปีเรื่องที่ยังไม่สามารถทำได้เลยคือการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ในตลาดโทรคมนาคมของไทย ซึ่งสาเหตุหลักดูได้จากบทเรียนที่ผ่านมา อาทิ การประกาศเชิญชวนการประมูล3G ในระยะเวลาเพียง1เดือนซึ่งสุดท้ายก็ไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่บริษัทใดที่จะเตรียมตัวทันอย่างแน่นอน ซึ่งในเรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นอีกในการประมูล 1800 MHz โดยถือว่าเป็นการล็อกสเปกให้ผู้ประกอบการรายเดิมทั้งสิ้น แต่หากบอร์ดต้องการสร้างการแข่งขันจริงจะต้องประกาศเชิญชวนอย่างน้อยล่วงหน้า 6 เดือน แต่ถ้าไม่มีรายใหม่มาจริงก็เป็นไปตามกฏกติกา ไม่ใช่เป็นไปตามการผูกขาดของตลาด
ขณะที่นโยบายสนับสนุนการให้เอกชนเช่าใช้โครงข่ายเพื่อให้บริการ หรือ MVNO ก็ถือเป็นการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่อีกหนึ่งทางเลือก แต่ทุกวันนี้ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด แม้แต่การกระตุ้น และส่งเสริมให้เกิดก็ตาม