เปิดตัวแล้วสำหรับแอปพลิเคชัน #Music ซึ่ง Twitter สร้างสรรค์มาให้ชาว Twitter สามารถฟังเพลงของแบรนด์ที่ติดตามหรือ Follow ได้ทั้งบนไอโฟนและทางเว็บไซต์บนคอมพิวเตอร์ สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ Twitter การันตีบริการนี้ว่าเป็นบริการสำหรับการค้นหาเพลงที่จะสามารถบอกเทรนด์เพลงฮิตที่ถูกพูดถึงในขณะนั้นได้ โดยที่ Twitter ไม่มีทีท่าวางแผนปูทางหารายได้ทั้งจากการขายเพลงและจากโฆษณาในบริการเพลงแม้แต่น้อย
แล้วทำไม Twitter จึงต้องลงมาเล่นในสังเวียนการค้นหาเพลง?
#Music เป็นแอปพลิเคชันล่าสุดที่ Twitter เปิดให้ผู้ใช้บางประเทศดาวน์โหลดไปใช้งานแล้วในขณะนี้ ตัวแอปจะแสดงเทรนด์หรือแนวเพลงฮิตที่ประมวลมาจากกระแสบน Twitter นอกจากเพลงฮิต แอปยังรวบรวมเพลงใหม่แหวกแนวน่าสนใจที่พบในบรรดาข้อความ Tweet รวมถึงนำเสนอศิลปินที่คาดว่าผู้ใช้รายนั้นน่าจะชื่นชอบ ซึ่งจะประมวลผลจากข้อมูลศิลปินและบริการเพลงที่ผู้ใช้แต่ละคนติดตาม
ตัวแอปยังมีส่วน #NowPlaying เพื่อแสดงเพลงที่เพื่อนกำลังฟังหรือส่งข้อความ Tweet เกี่ยวกับเพลงนั้น โดยจะรวมข้อมูลข้ามค่ายบริการฟังเพลงออนไลน์ทั้ง iTunes, Spotify และ Rdio จุดนี้ Twitter ระบุว่ากำลังเจรจาเพิ่มรายชื่อบริการเพลงออนไลน์เจ้าอื่นให้มากขึ้น
นักการตลาดเชื่อว่า Twitter หวังให้เพลงเป็นเครื่องมือดึงดูดผู้ใช้ให้อยู่กับบริการของ Twitter นานและมากขึ้น ขณะเดียวกัน เพลงยังเป็นอีกช่องทางที่ทำให้ชาว Twitter สามารถเผยข้อมูลของตัวเองได้อย่างแนบเนียน ซึ่งจะทำให้ Twitter สามารถเข้าถึงผู้ใช้ได้ดีขึ้น
เรื่องนี้ต้องย้อนไปถึงจุดอ่อนหลักที่ Twitter มี โดยการสำรวจที่ผ่านมาพบว่า Twitter นั้นตามหลังเครือข่ายสังคมยักษ์ใหญ่ Facebook อยู่มากในเรื่องระยะเวลาการใช้งาน เรียกว่าชาว Twitter จะอ่านหรือพิมพ์ข้อความ Tweet เพียงครู่เดียว แต่ชาว Facebook ใช้เวลาอ่านและชมภาพนานทั้งวัน
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา Twitter รู้ดีถึงจุดอ่อนนี้และพยายามสร้างสีสันให้ตัวเองเป็น media hub หรือศูนย์กลางสื่อมัลติมีเดียที่หลากหลายเพื่อให้ผู้ใช้สามารถค้นพบสิ่งใหม่ได้ตลอดเวลา จุดนี้ Clark Fredricksen รองประธานบริษัทวิจัย eMarketer เชื่อว่าการเปิดบริการ #Music นั้นอิงจากนโยบายนี้ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้มีเหตุจูงใจให้เข้าไปอ่านหรือชมข้อมูลบน Twitter ถี่ขึ้น รวมถึงใช้เวลานานขึ้นในการสอดส่องว่าเพื่อนกำลังฟังเพลงอะไรอยู่
ระยะเวลาการใช้งานของผู้ใช้ที่นานขึ้นจะเป็นโอกาสที่ทำให้ Twitter มีรายได้จากการโฆษณามากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากนี้ พบว่าพฤติกรรมการฟังเพลงจะทำให้นักการตลาดมีข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มตลาดบน Twitter มากขึ้น ซึ่งจะทำให้บริการของ Twitter มีคุณค่ามากขึ้นหากสามารถระบุตัวตนของกลุ่มตลาดได้จากความสนใจ นอกเหนือจากบริการอื่นที่ระบุได้เฉพาะเพศ วัย และถิ่นที่อยู่
ไม่เฉพาะบริการด้านเพลงเท่านั้น Twitter ยังรุกหนักด้วยการเปิดตัวบริการ keyword targeting เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้นักการตลาดสามารถแสดงโฆษณาตามคีย์เวิร์ดที่มีผู้ส่งข้อความ Tweet ถึง จุดนี้เชื่อว่าหากผู้ใช้ Twitter ยอมเปิดเผยว่าเป็นแฟนเพลงของ Jay-Z หรือ Brad Paisley (หรือทั้งคู่) ก็จะยิ่งช่วยให้ Twitter สามารถขายโฆษณาได้มากขึ้น
เบื้องต้น มีการประเมินว่า Twitter จะได้ประโยชน์แท้จริงหากบริการ #Music สามารถทำให้ผู้ใช้ Twiiter ราว 40% ซึ่งเป็นผู้บริโภคสามารถส่งข้อความ Tweet ได้เป็นประจำ จุดนี้สะท้อนว่านักวิเคราะห์ยังไม่วางใจว่าบริการ #Music จะประสบความสำเร็จได้แน่นอน เนื่องจากคู่แข่งอย่าง Facebook ที่มีผู้ใช้มากกว่า 1 พันล้านคนนั้นมีการผูกบริการแนบแน่นกับค่าย Spotify แล้ว แม้จะยังไม่ได้รับความนิยมในฐานะบริการค้นหาเพลงฮิตก็ตาม
สำหรับแอพ #Music นั้นเริ่มเปิดให้ดาวน์โหลดบน App Store แล้วในสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยยังจำกัดบริการเฉพาะบน iOS เท่านั้นในขณะนี้
Related Links :
music.twitter