แท็บเล็ตกลายเป็นกระแสฮิตสำหรับการใช้งานแบบโมบิลิตี้ ที่นับวันเริ่มจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในปัจจุบันการเชื่อมต่อสังคมออนไลน์ การท่องโลกอินเทอร์เน็ต รวมทั้งการใช้งานอีบุ๊กต่างๆ กลายเป็นไลฟ์สไตล์ของชีวิตดิจิตอล
ความฮอตฮิตที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ผลิตแต่ละแบรนด์ต่างนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มากมายหลากรุ่นและหลายราคา เข้าสู่ตลาดที่โอกาสเปิดกว้าง ไม่จำกัดผูกขาดเฉพาะแบรนด์ใหญ่อย่างไอแพด หรือ ซัมซุง โดยเฉพาะในระดับราคาประเภทจับต้องได้ง่ายไม่กี่พันบาทที่เหล่าแท็บเล็ตสายเลือดมังกรยึดครองอยู่ จนค่ายอินเตอร์แบรนด์ทั้งหลายต่างต้องชายตามองและหันมาให้ความสำคัญกับตลาดรากหญ้า อย่างเอเซอร์ เจ้าพ่อตลาดโน้ตบุ๊ก
โดยหากจะแบ่งการใช้งานแท็บเล็ตแล้วในปัจจุบันเอเซอร์ได้แบ่งรูปแบบการใช้งานออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.View & Play เป็นการใช้แท็บเล็ตเบื้องต้นสำหรับการใช้งานด้านการศึกษา โซเซียลมีเดีย เล่นแอปพลิเคชันเนื่องจากใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 2.Work & Play แท็บเล็ตเพื่อการใช้งาน ซึ่งจะมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 8 ซึ่งอาจใช้งานด้านความบันเทิงได้บ้าง และ 3.Work & Play & Entertainment เป็นแท็บเล็ตที่ครบครันในทุกสิ่งและสเปกสูงขึ้น
ที่ผ่านมาตลาดมักจะคุ้นเคยแท็บเล็ตในรุ่นกลางๆ มากที่สุด ส่วนรุ่นใหญ่นั้นมีการทำตลาดไม่กี่รุ่น ส่วนรุ่นล่างนั้นมักจะรู้จักกันในนามของแท็บเล็ตเด็ก ป.1 และแท็บเล็ตแบรนด์จีนที่ออกขายตามกระแส จากบริษัทนำเข้าสินค้าไอทีรายต่างๆ
อย่างจิรศักดิ์ เปรมพจน์วัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสเทรค (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทเตรียมนำเข้าสินค้ากลุ่มแท็บเล็ตภายใต้แบรนด์ 'เอสเทรค' จากจีนเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ในช่วงระดับราคา 3,990 - 5,990 บาท เบื้องต้นตั้งเป้ายอดขายเดือนละ 1.2 หมื่นเครื่อง และคาดว่าทั้งปีจะจำหน่ายได้ 1.44 แสนเครื่อง
'แม้สินค้าของเอสเทรคจะเป็นเฮาส์แบรนด์ แต่ถ้าเทียบกับอินเตอร์แบรนด์ที่สเปกและประสิทธิภาพเท่ากัน ราคาจะต่ำกว่าครึ่ง โดยจะทยอยนำรุ่นขนาด 7 นิ้ว และ 8 นิ้ว เข้ามาจำหน่ายได้ราวไตรมาส 2 ปีนี้เป็นต้นไป'
เช่นเดียวกับณัฐวุฒิ พิริยะจีระอนันต์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยร่วมค้าเดอะซิสเต็ม หรือ แอดไวซ์ ผู้ให้บริการหลังการขายบริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนต์ ในไทย ก็มีสินค้าที่เป็นแท็บเล็ตในระดับราคาดังกล่าววางจำหน่ายเกือบ 10 รุ่นด้วยกัน
'แนวทางทำตลาดแท็บเล็ตจีนในปีนี้จะลดลงให้เหลือ 3 แบรนด์หลักคือ สโคแพด ไอโก และอยู่ระหว่างการคัดเลือกอีก 1 ยี่ห้อ ส่วนอินเตอร์แบรนด์ก็จะรับเป็นตัวแทนจำหน่ายทุกยี่ห้อทุกระดับราคา'
ขณะที่เอเซอร์ซึ่งถือเป็นอินเตอร์แบรนด์รายแรกที่ส่งแท็บเล็ตตลาดล่างออกสู่สายตาผู้บริโภค ในรุ่น Acer ICONIA B1 ด้วยความพร้อมของแบรนด์และความเชี่ยวชาญในการทำตลาดคอมพิวเตอร์ของเอเซอร์ สามารถกดราคาให้ต่ำลงได้และก่อให้เกิดความหวังของคนที่อยากใช้แท็บเล็ตเพื่อการท่องเว็บ เล่นแอป และโซเซียลมีเดียแบบจอใหญ่ไม่ต้องจ่ายแพง ถือเป็นการสร้างประสบการณ์ครั้งแรกของการใช้แท็บเล็ต ด้วยราคาถูกใกล้ๆ กับแท็บเล็ตจีนแต่ได้สิ่งที่เป็นมูลค่าเพิ่มมากว่า และที่สำคัญเวลาถือไปไหนมาไหนไม่ต้องใส่เคสอำพรางสายตาคนที่ยึดติดกับยี่ห้อ
นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบริหารการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ กล่าวว่า การนำเสนอแท็บเล็ตรุ่นดังกล่าวนอกจากจะเป็นการต่อยอดออกผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ครบทุกเซกเมนต์แล้ว ยังจะเป็นการชิงส่วนแบ่งในตลาดรวมแท็บเล็ตปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 3 ล้านเครื่องให้เพิ่มขึ้น เพราะในปัจจุบันยังมีแท็บเล็ตอินเตอร์แบรนด์ระดับราคานี้ไม่มากนักจึงทำการส่ง ICONIA B1 เข้ามาเป็นตัวเลือกใหม่เพราะนอกจากจะมีราคาที่ต่ำแล้วยังมีจุดแข็งในเรื่องของศูนย์บริการ การรับประกันและยังมีในส่วนของAcer Smart App ศูนย์รวมแอปพลิเคชั่นแห่งความรู้ เข้าไปอีกด้วย
นอกจากเอเซอร์ที่มองเห็นโอกาสตลาดรากหญ้าแล้ว ยังมีเอซุสที่เปิดตัวแท็บเล็ตน้องใหม่ 'ASUS MeMo Pad' ที่นำมาลงมาตีตลาดล่างและชนกับเอเซอร์แบบตรงๆ ไม่ว่าจะเป็นขนาดของหน้าจอและสเปกที่ใกล้เคียงกัน แต่อาจจะมีบางฟีเจอร์และฟังก์ชันการทำงานที่เหนือกว่ามาพร้อมกับราคาที่แพงกว่าเอเซอร์เล็กน้อย
แต่สิ่งหนึ่งที่เอเซอร์และเอซุสสร้างความแตกต่างจากแท็บเล็ตแบรนด์จีน คือการเพิ่มแอปพลิเคชันเฉพาะตัวของแต่ละแบรนด์ เพื่อสร้างจุดแข็งสู้กับตลาดล่างอย่างไม่ต้องหวั่นเกรงเรื่องราคา เพราะมีชื่อชั้นที่เหนือกว่าจึงสามารถสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้ แม้ว่าจะต้องจ่ายแพงกว่าแต่เมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้แล้วก็ถือว่าคุ้มค่ากว่ามากนอกจากนี้ยังมีกระแสว่าแบรนด์เอชพีเองกำลังสนใจทำตลาดนี้เช่นกัน และเตรียมที่จะเปิดตัวแท็บเล็ตรากหญ้าอย่างเร็วที่สุดกลางปีนี้หรือช้าที่สุดในไตรมาส 3 ซึ่งรับรองได้ว่าสงครามแท็บเล็ตเครื่องแรกในปีนี้ระอุแน่นอน
อย่างที่เห็นกันภายในงานแฟร์สินค้าไอทีอย่างคอมมาร์ตที่ผ่านมา ยอดขายแท็บเล็ตเติบโตสูสีกับโน้ตบุ๊กที่เป็นพระเอกมาตลอดหลายปี ปฐม อินทโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เออาร์ไอพี ผู้จัดงานคอมมาร์ตให้ข้อมูลถึงยอดจำหน่ายสินค้าภายในงานคอมมาร์ต ไทยแลนด์ 2013ว่ามีเงินสะพัดเกือบ 3 พันล้านบาท โดยอันดับ 1 เป็นโน้ตบุ๊ก ที่ 950 ล้านบาท ส่วนอันดับ 2 กลายเป็นของสินค้าอย่างแท็บเล็ต ที่มียอดขายกว่า 775 ล้านบาท ตามมาด้วยสมาร์ทโฟนที่ 365 ล้านบาท
***เลือกเฮาส์แบรนด์ หรือ อินเทอร์แบรนด์
แน่นอนว่าด้วยความที่แท็บเล็ตรากหญ้าในช่วงระดับราคาต่ำกว่า 5,000 บาท เกือบ 90% เป็นการแบ่งเค้กกันระหว่างเฮาส์แบรนด์ผู้นำเข้าสินค้าจากประเทศจีน โดยมีการสอดแทรกด้วย 2 รุ่นจากอินเตอร์แบรนด์ที่ลงมาจับในตลาดนี้คือเอเซอร์ และเอซุส จากไต้หวัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้ามากขึ้น
สิ่งสำคัญที่ผู้บริโภคควรคำนึงถึงในการเลือกซื้อสินค้าเทคโนโลยี ไม่ใช่แค่เพียงราคา และประสิทธิภาพของตัวเครื่องเท่านั้น แต่ต้องมองลึกไปถึงบริการหลังการขาย ไม่ว่าจะเป็นศูนย์บริการ มาตรฐานการรับประกันสินค้า รวมไปถึงการอัปเดต เฟิร์มแวร์ของระบบปฏิบัติการให้มีความสมบูรณ์ และเสถียรให้มากขึ้นไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ แท็บเล็ตอินเตอร์แบรนด์ จากทางฝั่งไต้หวันทั้ง 2 ค่าย จึงดูมีภาษีในการเลือกซื้อมากกว่า เนื่องจากมีศูนย์บริการเป็นหลักแหล่ง และมีผลิตภัณฑ์รุ่นนี้วางจำหน่ายไปยังทั่วโลก จึงมีทีมที่จะคอยซัปพอร์ตสินค้าให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า
อย่างไรก็ตามแท็บเล็ตแบรนด์จีนเอง ก็มีจุดเด่นอยู่ตรงที่ถ้าต้องการสเปกเทียบเท่ากับอินเตอร์แบรนด์ ราคาอาจถูกกว่าเป็นเท่าตัว หรืออีกแง่หนึ่งคือในระดับราคาเท่ากัน อาจะได้สเปกที่สูงกว่าเท่าตัวเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ต้องชั่งใจเลือกเอาว่า อยากได้เครื่องสเปกดีราคาถูก หรืออยากได้เครื่องสเปกพอตัวแต่บริการหลังการขายไว้ใจได้
เหตุการณ์ทำใจลำบาก รักพี่เสียดายน้องแบบนี้ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น เพราะถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อสมัยฟีเจอร์โฟน 2 ซิม กำลังบูม จะเห็นได้ว่าธุรกิจนำเข้าโทรศัพท์มือถือจากจีนเข้ามาขาย หรือจ้างผลิตที่จีนก็ได้รับความนิยมอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ท้ายที่สุดจากปัญหาของเครื่องที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้จากกว่า 10 เฮาส์แบรนด์ที่เคยนำโทรศัพท์มือถือเข้ามาขาย ปัจจุบันเหลือเพียงที่มีมาตรฐานอยู่ไม่กี่ราย
ดังนั้นจึงเป็นทางเลือกของผู้บริโภคที่จะตัดสินใจว่า จะลงทุนในการซื้อแท็บเล็ตแบบขำๆ กับเฮาส์แบรนด์ หรือเพิ่มเงินเล็กน้อยซื้อความมั่นใจจากอินเตอร์แบรนด์นั่นเอง