ดีเอสไอเผยเหตุสอบสวนคดี กสท-ฮัทช์ ล่าช้าเนื่องจากต้องรอให้ “ธาริต” แต่งตั้งหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนขึ้นมาใหม่ แทน “พ.ต.อ.ประเวศร์” ที่ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม เชื่อหากมีการมอบหมายแล้วจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ทันที เนื่องจากมีการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ยันการสืบสวนต้องมีความรอบคอบเป็นพิเศษ เพราะการยกเลิกสัญญามีเงื่อนงำ และยังพบจุดที่มีการปลอมแปลงเอกสารด้วย
พ.ต.ท.ชินโชติ แดงสุริศรี ผู้บัญชาการสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในกรณีที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ร้องขอให้ตรวจสอบการยกเลิกสัญญาซื้อขายกิจการระหว่างบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย (ฮัทช์) กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จนทำให้กลุ่มทรูสามารถเข้าซื้อกิจการฮัทช์แทน กสท ว่า ที่เกิดความล่าช้าเนื่องจากต้องรอการแต่งตั้งหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนขึ้นมาใหม่ แทนที่ พ.ต.อ.ประเวศร์ มูลประมุข เนื่องจากได้รับการแต่งตั้งให้ไปตำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น
โดยก่อนหน้านี้ หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าวคือ พ.ต.อ.ประเวศร์ มูลประมุข ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับการแต่งตั้งไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ส่งผลให้ปัจจุบันยังต้องรอการแต่งตั้งหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนขึ้นใหม่ จากนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
“ตอนนี้ทางสำนักคดีฯ ได้ส่งหนังสือให้นายธาริต เพื่อสรรหาหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการแต่งตั้ง และเชื่อว่าเมื่อแต่งตั้งคณะทำงานแล้วจะสามารถหาข้อสรุปได้ไม่ยาก เพราะข้อมูลการตรวจสอบในสมัย พ.ต.อ.ประเวศร์ได้เก็บรวบรวมไว้ส่วนหนึ่งแล้ว”
พ.ต.ท.ชินโชติกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ทางดีเอสไอได้ส่งหนังสือเพื่อขอเอกสารจาก กสท เพื่อนำมาตรวจสอบ เพิ่มเติมจากเอกสารที่กระทรวงไอซีทีส่งมาให้ เพื่อให้ได้ความสมบูรณ์มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็เห็นว่าคดีดังกล่าวได้ถูกส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช.ด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ
“ด้วยเหตุที่คดีดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องกันระหว่าง 2 รัฐบาล ส่งผลให้มีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหลายคน ดังนั้นในการสืบสวนจึงจำเป็นต้องมีความรอบคอบเป็นพิเศษ เพราะอย่างที่รู้กันว่าการยกเลิกสัญญาก็มีเงื่อนงำ และยังพบจุดที่มีการปลอมแปลงเอกสารด้วย”
ไอซีทีส่งให้ดีเอสไอตั้งแต่ พ.ค. 2555
ก่อนหน้านี้ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีทีได้ส่งข้อมูลให้ดีเอสไอตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2555 ประกอบด้วยสำเนาเอกสารสัญญาซื้อขายกิจการระหว่างบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ฮัทชิสัน เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์(ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ฮัทชิสัน มัลติมีเดีย เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ขาย และฮัทชิสัน เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ซื้อ ที่มีการลงนามในสัญญาเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 โดยเกิดขึ้นก่อนที่นายจุติ ไกรฤกษ์ จะเข้ามารับตำแหน่ง รมว.ไอซีที
แต่หลังจากนั้น สัญญาดังกล่าวกลับถูกยกเลิกและไม่มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาแต่อย่างใด เหมือนถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง และเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อกิจการฮัทช์แทนด้วยมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท
“ไอซีทีได้ส่งเรื่องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไปว่าการกระทำดังกล่าวในการฉีกสัญญาว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายข้อใดบ้าง” น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว
เมื่อไอซีทีได้สัญญาดังกล่าวมาได้มีการตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว พบว่าเป็นสัญญาที่มีการลงนามของทั้ง 2 บริษัทจริงซึ่งมีความผิดเข้าข่ายมาตรา 46 ตาม พ.ร.บ. กสทช.สัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นห่างจากระยะเวลาที่ทรูซื้อกิจการฮัทช์ประมาณ 6 เดือน แต่เป็นราคาเดิมที่ยังไม่ได้มีคำสั่งจากอดีตรัฐมนตรีไอซีทีสั่งให้ไปเจรจาราคาซื้อขายใหม่ในราคาราว 7,000 กว่าล้านบาทแต่อย่างใด
“สัญญาฉบับนี้ได้รับการยืนยันจากอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท ว่าได้เซ็นจริง แต่ไม่ได้ถูกดำเนินการต่อในเรื่องการซื้อขาย เพราะการเมืองสั่งให้ยกเลิก ซึ่งถือเป็นการกระทำที่เย้ยกฎหมายทั้งภายในและภายนอกประเทศ”
Company Relate Link :
DSI