xs
xsm
sm
md
lg

ดิจิตอลทีวี ไม่หมูอย่างที่คิด !!! (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การจะเป็นทีวีดิจิตอลเต็มรูปแบบนั้นต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปี และต้องมีการพัฒนาในหลายๆ ด้านพร้อมกัน
ทีวีดิจิตอลกำลังเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจ เพราะถือเป็นการเปลี่ยนรูปแบบของการดูทีวีปัจจุบันไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยการส่งผ่านเสียงและวิดีโอผ่านสัญญาณดิจิตอลที่มีประสิทธิภาพสูง ที่นอกจากจะสร้างภาพที่มีความคมชัดและเสียงสมจริงมากกว่าเดิมแล้ว ยังสามารถส่งข้อมูลได้มากกว่าแบบอนาล็อกในหนึ่งช่องสัญญาณหรือที่เรียกว่า Multicasting อันก่อให้เกิดลูกเล่นมากมาย มากกว่าการดูทีวีเพียงอย่างเดียว

Set Top Box กลายเป็นเรื่องใหญ่ในการเปลี่ยนผ่านระบบทีวีของเมืองไทยในครั้งนี้ เพราะเป็นตัวเปลี่ยนสัญญาณให้เป็นดิจิตอลก่อนที่จะส่งเข้าสู่ทีวีที่ปัจจุบันยังคงต้องรอแนวทางที่ชัดเจนของ กสทช.ว่ารูปแบบของกล่องเป็นอย่างไร โดย Set Top Box จะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบสามสายเหมือนที่เชื่อมต่อกับเครื่องวิดีโอทั่วไป และสายแบบ HDMI ซึ่งอย่างหลังนี้จะเป็นดิจิตอลเต็มตัว แต่การเข้าสู่ดิจิตอลในเบื้องต้นนั้นสามารถนำกล่องแบบสามสายเข้ามาติดกับเสาก้างปลาแล้วเชื่อมเข้ากับทีวีเดิมก็สามารถใช้ได้

แต่มุมมองของประชาชนทั่วไปที่เคยใช้เสาก้างปลาธรรมดาอย่างเดียวก็สามารถเชื่อมสัญญาณถึงทีวีได้โดยตรงอยู่แล้ว ย่อมมองว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เดิมไม่มีกล่องก็ดูได้ แต่ระบบใหม่นี้ต้องเชื่อมต่อกับกล่องอีก จึงน่าจะสร้างความหนักใจในการใช้งานไม่น้อย Set Top Box กลายเป็นตัวปัญหาในเบื้องต้นที่พวกเขาคิดว่าอาจจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นได้ ดังนั้นในเรื่องนี้ต้องมีการทำความเข้าใจกันก่อนว่ารูปแบบใหม่นี้จะเป็นอย่างไร รายการที่ส่งมาเป็นแบบไหนทำไมต้องมีกล่องมาคั่นกลางและเวลาดูจะเสียเงินหรือไม่เสียเงิน ก่อนที่จะปล่อยระบบออกมาใช้งานจริง

***ทีวีดิจิตอลต้องค่อยเป็นค่อยไป ควบคู่กันทั้ง 2 ระบบ

อนุพนธ์ เตจ๊ะวันโน ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญด้านทีวีดิจิตอล บริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในต่างประเทศได้มีการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีทางด้านนี้กันไปพอสมควรแล้ว ในยุโรปมีการสวิตซ์ออฟ อนาล็อกระบบเดิมแล้วกว่า 90% โดยประเทศอย่าง แอฟริกา เยอรมัน เดนมาร์ก ฝรั่งเศส และสแกนดิเนเวีย ขึ้นสู่ดิจิตอลเต็มตัว แต่ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ยังค่อยปรับไปทั้งอนาล็อกและดิจิตอล ส่วนเอเชียยังอยู่ในระหว่างเปลี่ยนผ่านโดยกระบวนการเปลี่ยนผ่านส่วนใหญ่จะมีการออกอากาศไปพร้อมๆ กับระบบอนาล็อกแบบเดิม และรูปแบบการเปลี่ยนผ่านนี้ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับประเทศไทยเช่นกัน

แต่การจะเป็นดิจิตอลเต็มรูปแบบนั้นต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปี และต้องมีการพัฒนาในหลายๆ ด้านพร้อมกัน โดยเฉพาะคอนเทนต์ที่จะนำเสนอ ดังนั้นถึงแม้วันนี้หรือพรุ่งนี้จะเริ่มถ่ายทอดระบบดิจิตอลได้แล้ว แต่จะให้เต็มรูปแบบจริงๆ คงยังต้องรอต่อไป

ประโยชน์ของการส่งโทรทัศน์ระบบดิจิตอลในส่วนของผู้ประกอบการ คือความสามารถใช้ประโยชน์จากช่องสัญญาณได้มากขึ้น เช่นจากเดิม 1 ช่องใช้ได้ 1 ช่องรายการ เมื่อหันมาใช้ระบบดิจิตอลจะมีการบีบอัดสัญญาณ (Digital Compression) ซึ่งจะทำให้1 ช่องสามารถส่งได้มากกว่า 5 ช่องรายการ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการออกอากาศต่อ 1 รายการลดลง เพราะเครื่องส่ง 1 เครื่อง สามารถส่งได้หลายรายการและสามารถให้บริการฟรี (Free to Air) หรือบริการเก็บค่าสมาชิก (Pay TV) ได้ นอกจากนี้ยังจะช่วยประหยัดพลังงานในการส่งโทรทัศน์ เนื่องจากเครื่องส่งใช้กำลังออกอากาศลดลง

ส่วนผู้รับชมจะสามารถได้รับอรรถรสที่ดีขึ้น เนื่องจากจะได้คุณภาพในการรับชมดีขึ้น กลายเป็นโทรทัศน์ความคมชัดสูง (HDTV) และมีการรบกวนของสัญญาณน้อยมาก สามารถรับชมขณะอยู่ในพาหนะเคลื่อนที่อย่างเช่นรถยนต์ส่วนบุคคลได้ ซึ่งรถใหม่หลายๆ รุ่นจะมี Digital Tuner ติดตั้งมาให้ แต่สิ่งที่จะต้องเสียคือการที่ต้องควักกระเป๋าซื้อตัวแปลงสัญญาณ และคนที่อาศัยในอพาร์ทเมนต์ หรือคอนโดจะต้องเปลี่ยนระบบใหม่ รวมไปถึงช่องเคเบิลต่างๆ ก็ต้องปรับตัวเป็นดิจิตอล

'ผู้บริโภคเมืองไทยต้องการช่องเพิ่มขึ้นเห็นได้จากการใช้งานดาวเทียมที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อความบันเทิงที่มากกว่า ดังนั้นหากโครงการแจกคูปองของกสทช.เพื่อการเปลี่ยนผ่านเป็นทีวีดิจิตอลมีความทั่วถึง คนไทยจะมีช่องเยอะๆ เป็นทางเลือกเพิ่มจากทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี คอนเทนต์จะมีความหลากหลาย มีช่อง HD เพิ่มขึ้น และที่สำคัญระบบ DVB -T2 ใช้กับหนวดกุ้งได้ การขับเคลื่อนครั้งนี้จะให้บริการ HD ได้ดีกว่าทีวีดาวเทียม เนื่องจากแบนด์วิดท์ดีกว่า'
อนุพนธ์ เตจ๊ะวันโน ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญด้านทีวีดิจิตอล บริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย)
***คอนเทนต์ปรับตัวก็รุ่ง ไม่ปรับก็ร่วง

การขึ้นสู่ดิจิตอลเต็มรูปแบบในต่างประเทศนั้นจะเริ่มต้นจากการเลือกเป็นเขตว่าจะสวิตซ์ออฟที่เขตไหนก่อน สำหรับเมืองไทยจะยังอยู่ในเฟสแรกมี Set Top Box มาเป็นตัวกลาง ซึ่งจะยังคงเป็นในรูปแบบของ Free to Air อยู่ และอาจจะมีช่อง Pay TV เพิ่มขึ้นมาให้เป็นทางเลือกสำหรับคนมีกำลังซื้อ ส่วนการสื่อสารแบบอินเทอร์แอ็กทีฟจะเป็นในอนาคต ซึ่งการก้าวเข้าสู่ดิจิตอลจะทำให้เสาก้างปลามีจำนวนช่องเพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่มีช่องรายการอยู่เพียง 6 ช่องรายการ

'ปัจจุบันในเมืองไทยใช้เสาก้างปลาอยู่ที่ 50% เป็นเคเบิล 25% และอีก 25% เป็นดาวเทียม ซึ่งการเข้าสู่ดิจิตอลจะช่วยส่งผลทางด้านเศรษฐกิจเกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น เกิดการบริโภคภายในประเทศ เพราะหลายล้านครัวเรือนดูทีวีกันทุกบ้านอยู่แล้ว ผู้ผลิตอุปกรณ์ทีวี ทั้งในและส่งออกจะเติบโตมากขึ้น ดังนั้นโอกาสที่อุตสาหกรรมเสาก้างปลาจะกลับมาบูมก็มีโอกาสเป็นไปได้สูง'

ผู้ผลิตทีวีก็จะมีไลน์การผลิตใหม่ๆ เพราะอายุสัมปทานก็กำลังจะหมดไป อนาล็อกก็กำลังจะหมดไป การปรับตัวมีทางออกอยู่ 3 ทาง คือ 1.Content Provider 2. Facility Provider และ 3.Network Provider อันเป็นไลเซ่นส์ที่กสทช.กำลังจะออกมา ซึ่งช่องฟรีทีวีเดิมที่มีอยู่ น่าจะเลือกข้อ 2 หรือ ข้อ3 ก็ต้องเลือกว่าจะอยู่ในกลุ่มใดแต่ต้องลงอุปกรณ์เพิ่มเป็นดิจิตอล ส่วนผู้ที่จะเข้ามาสู่ธุรกิจใหม่น่าจะใช้เงินลงทุน 3,000 ล้านบาทต่อหนึ่งเน็ตเวิร์ก

นอกจากนี้ผู้ผลิตคอนเทนต์ประเภท วิดีโอ ละคร สารคดี จะมีโอกาสในการนำเสนอเข้าสู่แพลตฟอร์มนี้ ก่อให้เกิดความหลากหลายในเชิงวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ศิลปะ ดนตรี ที่จะสามารถนำเสนอมาให้เลือกชมได้มากขึ้น ดังนั้นคนที่เป็นคอนเทนต์ก็ต้องพยายามเข้าถึงผู้ชมให้มากที่สุด ด้วยการพัฒนาคอนเทนต์ของตัวเองให้สามารถอยู่บนทุกแพลตฟอร์ม รวมไปถึงช่องหลักต่างๆ จะต้องเข้าไปอยู่ในทุกแพลตฟอร์ม แต่หากยังคงจำกัดตัวเองอยู่ในแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งจะอยู่ได้ยาก

'ที่ผ่านมาเราไม่มีแพลตฟอร์มที่หลากหลาย มีแพลตฟอร์มเดียวจึงเป็นตัวจำกัดทางเลือก ทำให้บางคนที่อยู่ในจุดอับสัญญาณก็ไม่สามารถรับชมทีวีได้ การเข้าสู่ดิจิตอลจะทำให้ผู้ชมมีทางเลือกมากขึ้นสามารถเลือกใช้อุปกรณ์ตัวรับได้หลากหลาย เช่นในออสเตรเลีย คนที่อยู่นอกเขตที่มีระบบสาย รัฐบาลจะซัปพอร์ตทีวีดาวเทียมให้ หรือในฝรั่งเศสและเบลเยี่ยม การใช้ดาวเทียมจะไม่ค่อยดี เนื่องจากจะทำให้เสียภาพลักษณ์ของตึกรามบ้านช่องที่มีศิลปะที่สวยงาม จึงมีการใช้เคเบิลกันมาก ซึ่งในไทยก็น่าจะมีทางเลือกไม่ต่างกัน'

นอกจากนี้ในส่วนของคอนเทนต์ที่เพิ่มมากขึ้น มีช่องท้องถิ่นและรายการที่หลากหลายมากขึ้น กสทช.จะต้องเป็นผู้กำกับดูแลในเรื่องการร้องเรียนของผู้บริโภคให้ครอบคลุมมากขึ้นด้วย ซิสโก้มองว่าผู้บริโภคควรมีทางเลือกที่ดี ไม่ใช่ต้องจำใจใช้แบบเดียวเหมือนที่ผ่านมา

Set Top Box ที่กำลังจะได้ข้อสรุปกันในเร็ววันนี้ กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปทันทีเมื่อเทียบกับสิ่งที่จะต้องเตรียมพร้อมเมื่อดิจิตอลทีวีกำลังจะมา เพราะด้วยองค์ประกอบที่มากมายโดยเฉพาะการควบคุมในส่วนของเนื้อหาที่จะเพิ่มมากขึ้นเป็นเรื่องที่ กสทช.คงจะต้องนำไปพิจารณาว่าจะจัดการอย่างไร เพราะเท่าที่มีอยู่ทุกวันนี้ บางเนื้อหา บางรายการ ยังหลุดรอดออกมาให้เป็นที่ครหาในสังคมวงกว้าง แล้วนับประสาอะไรกับช่องทีวีใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีก 40-50 ช่องที่จะก่อให้เกิดเนื้อหาเป็นหมื่นเป็นแสน งานนี้เหมือนจะดูเป็นเรื่องง่ายๆ แต่กลับยากกว่าที่คิดไว้มาก.
กำลังโหลดความคิดเห็น