ไอโมบาย มือถือเฮ้าส์แบรนด์เพียงรายเดียวที่ยังสามารถยืนหยัดอย่างสง่างามในตลาดเมืองไทย ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรง และหลังจากการเปิดตัวเซกเมนต์ใหม่ ภายใต้ชื่อ “ไอคิว” (IQ) ผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม สมาร์ทโฟนระดับพรีเมี่ยมของไอ-โมบาย ในระดับราคาที่ไม่สูงนัก ทำให้เฮ้าส์แบรนด์รายนี้ก้าวเข้ามาชิงส่วนแบ่งในตลาดสมาร์ทโฟนได้อีกตลาดหนึ่ง ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนผ่านจากยุคมือถือแบบฟีเจอร์โฟนขึ้นสู่ระดับสมาร์ทโฟน อันเป็นพฤติกรรมในอนาคตอันใกล้ของลูกค้าที่ใช้งานมือถือในเมืองไทย
IQ1, IQ2, IQ5 คือสมาร์ทโฟนพรีเมี่ยมราคากลางๆ ของไอโมบายที่นำเสนอออกสู่ตลาดและได้รับการตอบรับที่ดี มียอดขายรวมกันถึง 400,000 เครื่องในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา ทำให้เป็นที่คาดหวังว่าจะทำให้ธุรกิจของไอโมบายสามารถสร้างกำไรได้เป็นกอบเป็นกำมากขึ้นในปีนี้ หลังจากในปี 2555 มียอดขายที่ไม่ค่อยสวยงามนัก โดยไอโมบายได้ตั้งเป้าหมายรายได้ในปี 2556 นี้ ไว้ที่ 11,000 ล้านบาท ซึ่งรายได้ 70-80% มาจากดีไวซ์ และคาดหวังกำไรเพิ่มขึ้นถึง 200% ถือเป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญของธุรกิจโมบายล์ของกลุ่มสามารถ
เป้าหมายดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวนักเพราะเมื่อมองถึงโอกาสทางธุรกิจอันเนื่องมาจากการขยายเครือข่าย 3G อย่างจริงจังและรวดเร็วหลังจากที่ได้รับไลเซ่นส์ของโอเปอเรเตอร์ทั้งสามราย รวมไปถึงการมีธุรกิจ MVNO ภายใต้ i-m0bile 3GX ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้น และเตรียมที่จะลงนามในสัญญาฉบับใหม่กับบริษัท ทีโอที ในการเป็น MVNO ภายใต้ i-mobile 3GX ที่คาดว่าจะมีความจุของโครงข่ายทั้งหมด 7.2 ล้านเลขหมาย
โดยไอโมบายได้สิทธิ์ทำตลาดรวม 2.8 ล้านเลขหมาย และคาดหวังจะเพิ่มลูกค้าอีก 1 ล้านราย จากเดิมที่มี 2-3 แสนรายในขณะนี้ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นโอกาสดีที่จะสร้างแพกเกจที่น่าสนใจให้กับลูกค้าของไอโมบาย เพราะเมื่อมีจำนวนเลขหมายเพิ่มขึ้นแล้ว โอกาสในการทำโปรโมชันดีๆ ร่วมกับมือถือรุ่นใหม่ๆ จะทำได้ง่ายขึ้น
ดังนั้นการตั้งเป้ายอดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือในปี 56 ไว้จำนวน 3.2 ล้านเครื่อง แบ่งเป็นสมาร์ทโฟน 2.2 ล้านเครื่อง หรือ 70% ของจำนวนเครื่องทั้งหมด จึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวจนเกินไป ซึ่งล่าสุด สามารถไอ-โมบายประกาศเปิดตัว iQ6 โดยคาดหวังว่าจะเป็นตัวไฮไลท์ในไตรมาสที่ 1 เพราะด้วยความเพียบพร้อมในทุกๆ ด้าน ด้วยราคาสมเหตุสมผล และสอดคล้องกับการออกผลิตภัณฑ์ใหม่นับจากนี้ ที่ไอโมบายจะเน้นการนำเสนอสมาร์ทโฟนที่นอกจากจะมีสเปกภายในที่น่าสนใจแล้ว ยังมาพร้อมกับรูปลักษณ์และคุณสมบัติที่โดดเด่นไม่ว่าจะเป็น หน่วยประมวลผลแบบดูอัลคอร์ หน้าจอไอพีเอส ภาพคมชัดระดับ HD จอภาพกันรอยขีดข่วน
แต่ที่เหนือกว่าไฮไลท์ในปีนี้คือไอโมบายยังพร้อมที่จะเปิดตัวโทรศัพท์มือถือรองรับเครือข่ายยุคใหม่อย่าง 4G หรือ LTE ประมาณไตรมาส 3 ของปีนี้ จากโทรศัพท์มือถือที่นำเสนอออกสู่ตลาดประมาณ 20 รุ่น ยังไม่นับรวมสิ่งที่ผู้บริโภคจะได้เห็นก่อนหน้านั้นที่จะทะยอยนำเสนออย่างต่อเนื่อง อาทิ สมาร์ทโฟนหน้าจอ Full HD หน่วยประมวลผลระดับควอดคอร์ รวมถึงหน้าจอที่กว้างถึง 5.7 นิ้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นระบบ ปฏิบัติการแอนดรอยด์ส่วนระบบปฏิบัติการวินโดวส์โฟน คงต้องใช้เวลาศึกษาตลาดสักระยะเนื่องจากราคาเครื่องจะแพง เนื่องจากต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ไม่เหมือนกับแอนดรอยด์ที่เป็นระบบเปิด จึงอาจไม่คุ้มกับการลงทุนหากตลาดยังไม่ตอบรับ
ธนานันท์ วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย ย้ำว่า ในปี 2556 นี้จะเป็นปีแห่งการเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจโมบายและคอนเทนต์ อันเนื่องมาจากการขยายเครือข่าย 3G อย่างจริงจังและรวดเร็วของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกค่ายที่อยู่ในตลาด ประกอบกับการที่ผู้ให้บริการจะพยายามย้ายให้ลูกค้าไปสู่การใช้งาน 3G มากขึ้น เนื่องจากหลายค่ายกำลังจะหมดสัญญาสัมปทานเดิมที่มีอยู่ จึงจะส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งหันมามามองมือถือ 3G ในราคาไม่แพงเพิ่มมากขึ้นด้วย ส่งผลให้เกิดโอกาสทางการตลาดอย่างมหาศาล
'ในปีนี้ไอโมบาย จะมีโปรดักส์น่าใช้งานและมีคุณภาพมากขึ้นโดยที่ผ่านมาเราได้ไปตรวจที่โรงงานอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สินค้าออกมามีคุณภาพดีที่สุด เพราะรู้ดีว่าหากเครื่องที่นำมาจำหน่ายเสียเยอะจะทำให้ความมั่นใจของลูกค้าหายไปด้วย และทำให้ต้นทุนของเราแพงขึ้นจากของเสียดังกล่าว'
ธนานันท์ กล่าวว่า ในปีนี้ไอโอบายมั่นใจว่าจะฟื้นกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เพราะนอกจากจะมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้นแล้ว พฤติกรรมของผู้บริโภคในเมืองไทยเริ่มมีการใช้งานสมาร์ทโฟนมากขึ้น และเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้โทรศัพท์มือถือจอใหญ่ เพราะทุกคนอยากเห็นข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น ต้องการแชทและแชร์รูปภาพ ทำให้เกิดความต้องการทางด้านดาต้าสูงมากขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับการแจกแท็บเล็ตทำให้ตลาดเกิดการเรียนรู้ในเรื่องเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น และมีความต้องการสินค้าในราคาไม่แพง ซึ่งไอโมบายสามารถตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้ และมั่นใจได้ว่าด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะนำเสนออย่างต่อเนื่องจะทำให้ไอโมบายสามารถกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้งหนึ่ง
'ปัจจุบันเทรนด์ของสมาร์ทโฟนมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไอโมบายมองว่าในเมืองไทยสัดส่วนของสมาร์ทโฟนจะมีส่วนแบ่งมากกว่า 45% ขึ้นไปถึง 70% เช่นเดียวกับสัดส่วนในประเทศจีนที่ปัจจุบันมีสัดส่วนของสมาร์ทโฟนขึ้นสู่ระดับดังกล่าวแล้ว และปัจจุบันคู่แข่งในตลาดลดลงมาเนื่องจากไม่มีความพร้อมที่จะผลิตและทำตลาดอย่างจริงจัง ซึ่งไอโมบายมีความพร้อมที่จะดำเนินการทั้งการจัดหาชิ้นส่วน อย่างเช่นการสั่งซื้อกล้องของโซนี่ 13 ล้านพิกเซล รวมถึงกล้องหน้าของโตชิบา 5 ล้านพิกเซลไว้ล่วงหน้าแล้ว ทำให้ไอโมบายมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นำเสนอออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่องไม่ติดขัดจึงส่งผลดีต่อการทำตลาดในอนาคต'
เช่นเดียวกับส่วนประกอบอื่นๆ ที่ไม่ได้ละเลยอย่างเช่นแบตเตอรี่ที่ขณะนี้ได้ใช้ลิเทียมโพลิเมอร์ และจะมีการพัฒนาความจุเพิ่มขึ้นเพื่อรับมือกับหน่วยประมวลผลที่ใหญ่ขึ้นระดับดูอัลคอร์และควอดคอร์ โดยคาดว่าความจุจะอยู่ที่ 2,500-3,000 มิลลิแอมป์ ภายใต้หน้าจอ 5.3 นิ้ว ที่สำคัญไอโมบายเตรียมนำเสนอโทรศัพท์มือถือรองรับเครือข่ายยุคใหม่อย่าง LTE ประมาณไตรมาส 3 ของปีนี้ ทำให้ไอโมบาย มีความพร้อมทางด้านสมาร์ทโฟนอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ยังได้มีการเตรียมจับมือกับโอเปอเรเตอร์ 3 ค่ายทั้งเอไอเอส ดีแทค และกลุ่มทรูในการนำเสนอโทรศัพท์มือถือ พร้อมโปรโมชันพิเศษร่วมกัน ส่วนทางด้านช็อปหรือหน้าร้านนั้น ปัจจุบันไอโมบายมีช็อปที่เป็นเจ้าของเองเพียง 20 ช็อปเท่านั้น นอกนั้นเป็นร้านของดีลเลอร์ที่บริหารจัดการเอง ทำให้การทำธุรกิจนับจากนี้จะมีต้นทุนที่ลดลงเนื่องจากไอโมบายจะทำหน้าที่เป็นผู้ผลิต นอกจากนี้ในส่วนของอุปกรณ์เสริมนั้น ไอโมบายจะนำเสนอออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสามารถสร้างรายได้และกำไรให้มากเช่นกัน แม้วันนี้จะมีสัดส่วนไม่ถึง 5% ของยอดขายทั้งหมดแต่มีโอกาสเติบโตสูง
'หน้าจอ 5.7 นิ้ว หน่วยประมวลผลควอดคอร์ และสมาร์ทโฟนที่รองรับ 4G อาจเป็นเรื่องที่ไกลเกินไปสำหรับลูกค้าในต่างจังหวัดที่ส่วนใหญ่จะมีกำลังซื้อไม่มากนัก เพราะสินค้าในท้องตลาดยังมีราคาที่สูงมาก ดังนั้นการเข้ามาทำตลาดสมาร์ทโฟนที่สเปกสูงแต่ราคาไม่แพง จึงน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะทำให้ไอโมบายสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดและสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจโมบายนี้ และที่สำคัญการส่งต่อให้คนอื่นเป็นผู้จัดการหน้าร้านแทน จะยังเป็นการช่วยลดต้นทุนและสามารถสร้างกำไรได้ในระยะยาว'