สัปดาห์นี้ถือเป็นสัปดาห์ครบรอบวันคล้ายวันเกิดระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) 5 ปีบนเวทีโลก หลังจากเปิดตัวในปี 2007 นักวิเคราะห์เคยปรามาสกูเกิลไว้ว่าปล่อยให้เวลาล่วงเลยนานเกินไปจนอาจไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในตลาดสมาร์ทโฟนได้อย่างที่หวัง แต่ในวันนี้ที่แอนดรอยด์แจ้งเกิดมานาน 5 ปี แอนดรอยด์สามารถกลายเป็นระบบปฏิบัติการอุปกรณ์พกพาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก
เพื่อเฉลิมฉลองสัปดาห์แอนดรอยด์ครบ 5 ขวบปี เราขอนำเสนอข้อมูลสถิติเชิงตัวเลขน่าสนใจที่แอนดรอยด์ได้ข้ามผ่านในเส้นทางสู่แพลตฟอร์มอันดับ 1 ของโลก ซึ่งแต่ละสถิติช่วยตอกย้ำว่าแอนดรอยด์มีอิทธิพลต่อตลาดโลกอย่างรวดเร็วชนิดก้าวกระโดด
2005
แม้แอนดรอยด์จะเปิดตัวในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2007 แต่ปี 2005 คือปีที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะปีดังกล่าวคือปีที่กูเกิลเข้าซื้อบริษัทซึ่งอยู่เบื้องหลังชุดโปรแกรมแอนดรอยด์อย่าง Android Inc.
บริษัทแอนดรอยด์นี้ก่อตั้งในปี 2003 ภารกิจหลักของบริษัทคือการพัฒนาอุปกรณ์พกพาที่เฉลียวฉลาดมากขึ้น สิ่งที่บริษัทแอนดรอยด์พยายามทำคือการสร้างอุปกรณ์ที่สามารถรับรู้ตำแหน่งของผู้ใช้ กูเกิลนั้นเห็นโอกาสเติบโตของโครงการนี้จึงสนับสนุนเงินทุนตั้งแต่การพัฒนาในช่วงแรก ซึ่งเมื่อหลังควบรวมกับกูเกิลแล้ว ผู้ก่อตั้งบริษัทแอนดรอยด์ก็ยังคงทำงานกับกูเกิลอยู่
86
นี่คือตัวเลขของบริษัทฮาร์ดแวร์, ซอฟต์แวร์ และโทรคมนาคมที่รวมตัวกันในชื่อสมาคมอุปกรณ์มาตรฐานเปิดหรือ Open Handset Alliance กลุ่มสมาคมนี้จะอุทิศตัวเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีมาตรฐานเปิดแบบก้าวหน้าสำหรับอุปกรณ์พกพา โดยสมาชิกของกลุ่มนี้มีกูเกิล และผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือแอนดรอยด์อย่างเอชทีซี และซัมซุงรวมอยู่ รวมถึงผู้ให้บริการโทรคมนาคมอย่างที-โมบายล์ด้วย
2008
22 ตุลาคม 2008 คือวันที่สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์รุ่นแรกถูกเปิดตัว สมาร์ทโฟนรุ่นนั้นคือเอชทีซีดรีม (HTC Dream) ซึ่งวางจำหน่ายในสหรัฐฯด้วยชื่อ T-Mobile G1 โทรศัพท์รุ่นนี้ถูกเปิดตัวหลังจากกูเกิลเปิดตัวแอนดรอยด์ราว 1 ปี และวางจำหน่ายหลังจากแอปเปิลเขย่าโลกสมาร์ทโฟนด้วยการเปิดตัวไอโฟน (iPhone) สู่ตลาดเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2007
2010
ปี 2010 คือปีที่กูเกิลเปิดตัวสมาร์ทโฟนตระกูลเน็กซัส (Nexus) เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นพิเศษที่กูเกิลลงมือออกแบบและจัดจำหน่ายเองแต่จ้างผู้ผลิตรายอื่น จุดประสงค์คือการออกแบบสินค้าเรือธงเพื่อเป็นการสาธิตให้นักพัฒนาทั่วโลกเห็นความสามารถที่เหมาะสมของมือถือแอนดรอยด์
กูเกิลนั้นประเดิมตลาดด้วยรุ่นเน็กซัสวัน (Nexus One) ในปีนี้ ขณะเดียวกัน ปี 2010 ยังเป็นปีแรกที่แอนดรอยด์สามารถแซงหน้าซิมเบียน (Symbian) ระบบปฏิบัติการของโนเกียขึ้นเป็นระบบปฏิบัติการสมาร์ทโฟนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก
675,000
นี่คือจำนวนแอปพลิเคชันและเกมที่พร้อมให้บริการแก่ผู้ใช้แอนดรอยด์ผ่านร้าน Google Play Store ในขณะนี้ (ข้อมูลประจำเดือนสิงหาคม 2012)
2.5 หมื่นล้าน
ข้อมูลระบุว่าชาวแอนดรอยด์ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันไปใช้งานมากกว่า 2.5 หมื่นล้านครั้งในช่วงระหว่างปี 2008 ถึงปี 2012 โดยสถิตินี้แอนดรอยด์สามารถข้ามผ่านไปได้ในวันที่ 26 กันยายน 2012 ซึ่งในเวลานั้น กูเกิลเปิดเผยว่าจำนวนการเปิดใช้งานอุปกรณ์แอนดรอยด์นั้นแตะระดับ 500 ล้านเครื่องต่อวัน จนไม่นาน กูเกิลประกาศอีกครั้งว่าจำนวนผู้ใช้แอนดรอยด์นั้นเพิ่มขึ้นราว 1.3 ล้านคนต่อวัน
53%
นี่คืออัตราส่วนเครื่องแอนดรอยด์ที่ยังคงใช้งานระบบปฏิบัติการ Gingerbread หรือแอนดรอยด์เวอร์ชัน 2.3 ซึ่งปรากฏว่าแอนดรอยด์เวอร์ชันใหม่ล่าสุดอย่าง Jellybean (เวอร์ชัน 4.1) ซึ่งเริ่มให้บริการตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนั้นมีสัดส่วนการใช้งานเพียง 2.7% เท่านั้น ทั้งหมดนี้แสดงถึงปัญหาหลักในแอนดรอยด์ซึ่งเป็นผลจากการเป็นซอฟต์แวร์มาตรฐานเปิด
ความเป็นมาตรฐานเปิดทำให้ผู้ผลิตแต่ละรายทั่วโลกสามารถเลือกใช้แอนดรอยด์ได้อย่างเสรี ทั้งในอุปกรณ์ที่ต่างกัน-บนชิปคนละแพลตฟอร์ม-ไดร์ฟเวอร์ที่ไม่เหมือนกัน จุดนี้ทำให้ผู้บริโภคซึ่งซื้อสินค้ากับผู้บริโภคแต่ละรายไม่สามารถอัปเดทซอฟต์แวร์ใหม่ได้เมื่อกูเกิลเปิดตัว แต่ต้องรอให้ผู้ผลิตเหล่านี้พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะ ซึ่งใช้เวลานานและผู้ผลิตบางรายก็ไม่ใส่ใจที่จะพัฒนา
181 ล้าน
นี่คือตัวเลขโทรศัพท์มือถือแอนดรอยด์ที่ถูกจัดส่งในตลาดโลกช่วงไตรมาส 3 ปี 2012 ตัวเลขนี้ทำให้แอนดรอยด์มีส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนสูงถึง 75% ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับแอปเปิลที่ครองส่วนแบ่งเพียง 14.9%
ที่น่าสนใจคือ ยอดจำหน่าย 181 ล้านเครื่องในไตรมาสเดียวนั้นคิดเป็นสัดส่วนมากกว่ายอดจำหน่ายรวมสมาร์ทโฟนช่วงปี 2007 ทั้งปี ซึ่งเป็นปีที่แอนดรอยด์เริ่มเปิดตัว
สุขสันต์แอนดรอยด์ครบ 5 ปี และสุขศรีสื่อเครือ"ผู้จัดการ"อายุครบ 23 ปีด้วยจ้า