กสท.เตรียมออกไลเซนส์ให้ช่องรายการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ทีวีดาวเทียม-เคเบิลทีวี ต.ค.นี้
นายพสุ ศรีหิรัญ รักษาการผู้อำนวยการกลุ่มงานวิชาการและจัดการทรัพยากรกระจายเสียงและโทรทัศน์ ในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท. เปิดเผยว่า หลังจากที่ร่างประกาศ 3 ฉบับ คือ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ และหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ มีผลบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษาเดือน ต.ค. ขั้นตอนต่อไป กสท.จะเปิดให้ใบอนุญาต (ไลเซนส์) กับกิจการช่องรายการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ คือทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี เช่น จีเอ็มเอ็ม แซท, พีเอสไอ, ไอพีเอ็ม, ดีทีวี, ซันบ็อกซ์ และสามารถ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน วันนี้ (27 ก.ย.) กสท.จัดรับฟังความเห็นสาธารณะ หรือประชาพิจารณ์ ร่างประกาศ เรื่องค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะเรียกเก็บในอัตรา 2% จากรายได้ทั้งหมด โดยที่ในเดือน ธ.ค.จะเริ่มให้ไลเซนส์โครงข่ายในระบบดิจิตอล
อย่างไรก็ดี ในตอนนี้อยู่ระหว่างการสรุปว่าจะใช้วิธีประมูล หรือบิวตี้คอนเทสต์ ให้ผู้ที่สนใจ รวมถึงให้ไลเซนส์ช่องรายการสาธารณะจำนวน 12 ช่องด้วย ก่อนเปิดประมูลช่องรายการธุรกิจเดือน ก.พ. 2556
นอกจากนี้ กสท.เตรียมกำหนดเงื่อนไขการเปลี่ยนผ่านการออกอากาศจากแอนะล็อกสู่ระบบดิจิตอล ห้ามผู้ที่ได้รับใบอนุญาต หรือไลเซนส์ เก็บค่าบริการเรียงช่องรายการ ซึ่งทำให้ผู้ผลิตรายการที่จ่ายค่าธรรมเนียมพิเศษสามารถผูกขาดเลขช่องเดิมได้
ทั้งนี้ เงื่อนไขดังกล่าวเป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ที่กำหนดให้ผู้ได้รับไลเซนส์โครงข่ายที่รวบรวมช่องรายการ (Multiplexer) ต้องจัดสรรเลขช่องตามที่ กสท.กำหนดใหม่คือ 60 ช่อง และห้ามเก็บค่าบริการเรียงช่องอีก ดังนั้น ฟรีทีวีปัจจุบันจะไม่ได้เลขช่องเดิมอีก คือ ช่อง 3 เลข 1 ช่อง 5 เลข 2 เป็นต้น
นายพสุกล่าวว่า แนวทางการจัดเรียงช่องรายการใหม่นั้นจะจัดเรียงเป็นหมวดหมู่ โดยเลขช่องต้นๆ จะเป็นช่องรายการสาธารณะ ตามด้วยช่องรายการสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว แล้วจึงเป็นช่องรายการธุรกิจ ซึ่ง กสท.ได้กำหนดสัดส่วนช่องรายการสาธารณะ 12 ช่อง ช่องชุมชน 12 ช่อง และช่องธุรกิจ 36 ช่อง
สำหรับในช่วงเดือนธันวาคมจะมีการกำหนดให้เริ่มทดลองออกอากาศทีวีในระบบดิจิตอลเป็นครั้งแรกของประเทศไทยภายใต้ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน โดยจะอนุญาตให้ทดลองออกอากาศเฉพาะในกลุ่มของผู้ที่มีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการโครงข่าย ผู้ที่ออกอากาศในระบบทีวีแอนะล็อกเดิม หรือผู้ที่ได้รับใบอนุญาตในประเภททีวีสาธารณะที่จะมีการพิจารณาจัดสรรใบอนุญาตทีวีดิจิตอลเป็นประเภทแรกในเดือนธันวาคมนี้
ขณะที่ใบอนุญาตประเภทธุรกิจ คาดจะมีการเปิดประมูลใบอนุญาตได้ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. 56 และการให้ใบอนุญาตประเภททีวีชุมชนจะมีขึ้นในช่วงสิ้นปี 56 เนื่องจากต้องรอให้การขยายโครงข่ายครอบคลุมพื้นที่เสียก่อน ซึ่งผู้ประกอบการ 1 รายจะสามารถเป็นเจ้าของช่องรายการได้ไม่เกิน 1 ประเภทเท่านั้น
Company Relate Link :
กสทช.