ASTVผู้จัดการ - บริษัทเกมสัญชาติญี่ปุ่นไอเดียเจ๋ง เชื่อมโยงผู้เล่นเกมปลูกเชอร์รีบนมือถือเข้ากับเกษตรกรปลูกเชอร์รีจริง ทำให้ผู้เล่นเกมได้ผลตอบแทนเป็นผลผลิตจริง ขณะที่เกษตรกรก็ได้ประโยชน์หลายด้าน โดยเฉพาะไม่ต้องเสี่ยงกับราคาพืชผลที่ผันผวน และลดต้นทุนค่าแรง
วานนี้ (24 ก.ค.) บริษัทการกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งญี่ปุ่น หรือสำนักข่าวเอ็นเอชเคได้รายงานข่าวเกี่ยวกับธุรกิจเกมแนวใหม่ในญี่ปุ่น ที่บริษัทเกมเชื่อมโยงผู้เล่นเกมปลูกผลไม้บนแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือเข้ากับเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้จริงๆ ทำให้เมื่อผู้เล่นเกมประคบประหงมต้นไม้ในโทรศัพท์จนได้ผลจริงแล้ว ยังสามารถได้ลิ้มลองผลไม้ของจริงจากสวนอีกด้วย
สำหรับเจ้าของไอเดียบรรเจิดดังกล่าวคือบริษัทเกมชื่อ แอลดี อิงก์ (LD Inc.) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในมหานครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งฮิซาโตะ มิยาซากิ ประธาน บ.แอลดี อิงก์ กล่าวกับเอ็นเอชเคว่า “ถึงทุกวันนี้โลกแห่งความเป็นจริงกับโลกเสมือนจริงถูกทำให้แยกออกจากกัน แต่เราคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้โลกทั้งสองสามารถเชื่อมโยงกันได้”
คาซูเอะ คาตายามา แม่บ้านที่อาศัยอยู่ในเมืองคาวาซากิ ใกล้กับกรุงโตเกียว ผู้เล่นเกมนี้บนโทรศัพท์มือถือเพื่อฆ่าเวลาระหว่างที่อยู่บ้านเลี้ยงลูกและทำงานบ้าน ระบุว่า เกมปลูกเชอร์รีในสวนผลไม้ช่วยเธอได้มาก เพราะรอบๆ ที่พักอาศัยของเธอไม่มีพื้นที่ให้ปลูกอะไรได้ ดังนั้นเธอจึงรู้สึกสนุกสนานกับการเล่นเกมปลูกเชอร์รีในสวนเสมือนจริงผ่านโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้เมื่อเธอปลูกเชอร์รีในเกมจนได้ผลก็จะมีเชอร์รีจริงๆ มาส่งถึงบ้าน
วิธีการของเกมดังกล่าวมีดังนี้ คือ ผู้เล่นต้องซื้อปุ๋ยและยาฆ่าแมลงเพื่อปลูกต้นเชอร์รีในเกมผ่านบริษัทเกม โดยเมื่อต้นเชอร์รีในเกมโตขึ้นและใกล้จะออกผล บริษัทก็จะมีคำสั่งซื้อผลเชอร์รีไปที่เกษตรกรผู้ปลูก ซึ่งบริษัทติดต่อไว้เป็นเครือข่าย และเมื่อต้นเชอร์รีในเกมออกผล เกษตรกรก็จะส่งผลเชอร์รีจริงๆ ไปให้ผู้เล่นเกมถึงบ้าน โดยเกษตรกรได้รับค่าเชอร์รีจากบริษัทเกม
สำหรับเชอร์รีจริงขนาด 2 กิโลกรัม คาตายามาผู้เล่นเกมเปิดเผยว่าเธอใช้เงินในการเล่นเกมไปราว 70 เหรียญสหรัฐ หรือราว 2,100 บาท
ขณะเดียวกัน มิตซูฮิโระ คอนตะ ผู้ปลูกเชอร์รีรายหนึ่งในจังหวัดยามากาตะ เกษตรกรในเครือข่ายผู้เข้าร่วมกับบริษัทเกมในปีนี้ก็ให้สัมภาษณ์ว่า เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้อย่างเขาได้รับประโยชน์หลายอย่างจากเกมนี้ ประการแรกคือ จากเดิมที่ราคาผลผลิตทางการเกษตรมีความผันผวนมากจากกลไกตลาด แต่ในเกมดังกล่าวเนื่องจากราคาถูกตั้งไว้แน่นอนแล้ว ราคาขายจึงค่อนข้างมีเสถียรภาพ ประการต่อมา เกษตรกรสามารถลดต้นทุนด้านแรงงานได้ เนื่องจากแต่ก่อนต้องใช้แรงงานบรรจุเชอร์รีใส่กล่องที่มีรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อนำไปส่งตามร้านค้าที่แตกต่าง แต่สินค้าที่ส่งให้ลูกค้าของบริษัทเกมปลูกเชอร์รีนั้นมีรูปแบบตายตัวคือ กล่องขนาด 1 กิโลกรัม นอกจากนี้เกษตรกรอย่างเขายังมีโอกาสได้รับเสียงตอบรับจากผู้บริโภค เพื่อนำมาปรับปรุงคุณภาพของผลผลิตด้วย
“ผมยินดีที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเป็นหนทางในการเพิ่มยอดขาย” คอนตะระบุ
ชมคลิป : Cherry-Picked Profits โดย NHK World