“ไตรรัตน์” ประกาศยกเครื่องซิป้า ซอยแผนงานเป็น 3 ระยะ ยกเครื่องภายใน-สร้างเครือข่ายภายนอก-เปิดตลาดต่างประเทศ พร้อมชู 6 ซอฟต์แวร์ไทยรับมือ “AEC” คาด 1 ปีจากนี้เห็นผลงานเป็นรูปธรรม
นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า เปิดเผยว่า หน้าที่แรกหลังเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการซิป้าคือการสร้างความเชื่อมั่นให้เป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน โดยมีพันธกิจสำคัญคือสร้างการเติบโตให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ภายใต้โจทย์ใหญ่คือการรับมือการเปิดเสรีทางการค้าในภูมิภาคอาเซียน หรือ AEC
ทั้งนี้ ได้กำหนดทิศทางการดำเนินงานโดยการแบ่งแผนงานออกเป็น 3 ระยะ คือ 3 เดือนแรกเร่งรัดงานตามวัตถุประสงค์เดิมของปีงบประมาณ 2555 ให้ลุล่วงตามตัวชี้วัด เนื่องจากเข้ามารับตำแหน่งช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณพอดี โดยเฉพาะปรับการบริหารงานภายในทั้งหมดเพื่อให้เข้ากับยุทธศาสตร์ควบคู่กันไป
ระยะกลาง 6 เดือน จะเน้นเรื่องของการสร้างตลาดภายในประเทศ พร้อมทั้งเร่งดำเนินมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในด้านต่างๆ เช่น เงินทุน, องค์ความรู้, การวิจัย, การตลาด ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมไปถึงสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในฐานะเป็นแกนกลางให้ทุกสมาคม อีกทั้งการเข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการต่างๆ ของกระทรวงไอซีทีตามความเหมาะสมสอดคล้องไปตามนโยบาย
ขณะที่ระยะยาว 12 เดือนจะมุ่งขยายการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โดยขยับออกไปทำตลาดในต่างประเทศ พร้อมกับสร้างบุคลากรโดยผสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ให้น้ำหนักไปกับการเสริมจุดเด่นที่มีอยู่แล้ว เพื่อสร้างจุดเด่นทั้งภายใน และนานาชาติ
“อีกทั้งเราต้องเร่งแต่งตั้งที่ปรึกษาเพื่อทำงานเชิงรุกทั้งใน และต่างประเทศ โดยที่ปรึกษาเหล่านี้จะต้องเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย สามารถผลักดันให้ลูกค้ากลุ่มต่างๆ เข้ามาใช้บริการซอฟต์แวร์ไทยได้”
นายไตรรัตน์กล่าวอีกว่า ภารกิจสำคัญอีกอย่างคือการส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญา หรือ Intellectual Property (IP) พยายามดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เป้าหมายหลักคือการสร้างให้เกิดซอฟต์แวร์ใหม่ไม่น้อยกว่า 20 รายการต่อปี และต้องตีมูลค่าทางพาณิชย์ได้ เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่สามารถสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์จากทรัพย์สินทางปัญญาด้านซอฟต์แวร์ได้เท่าที่ควร
ส่วนโจทย์ใหญ่ในการรับมือการเปิดเสรีทางการค้าในภูมิภาคอาเซียน หรือ AEC โดยซิป้าจะเน้นการพัฒนาคุณภาพบุคลากรใน 6 กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยที่มีศักยภาพ ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว, ขนส่ง, การแพทย์, การศึกษา, เกษตร, และอัญมณี และการคิดริเริ่มตั้งแต่การคิดค้นลิขสิทธิ์ใหม่ ไปจนถึงรูปแบบการขายบริการซอฟต์แวร์ เพื่อทำให้ประเทศที่จะเข้ามาแข่งขันไม่สามารถแย่งตลาดได้ เบื้องต้นตั้งเป้าจะสามารถสร้างบุคลากรระดับเชี่ยวชาญเฉพาะด้านประมาณ 2,000 คนต่อปี
“โดยงบประมาณของซิป้าในปีงบประมาณ 2556 จะเริ่มวันที่ 1 ต.ค ซึ่งได้งบประมาณ 305 ล้านบาท จากปี 2555 ที่ได้ 290 ล้านบาท โดยจะแบ่งเป็นการบริหารจัดการภายในองค์กร 25-30% ที่เหลือใช้สำหรับสนับสนุนโครงการต่างๆ ในอุตสาหกรรม”
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 1 ปีต่อจากนี้ นอกจากตัวชี้วัดตามความคาดหวังของคณะกรรมการบริหาร คือการเข้าไปมีส่วนร่วมผลักดันการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ภาครัฐ โดยมี 2 กระทรวงหลักคือ กระทรวงไอซีที และกระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงนำร่อง รวมถึงจัดให้มีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการใช้ซอฟต์แวร์และบริการในประเทศมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ความคืบหน้าการจัดทำ “เอดูแท็บเล็ต สโตร์" ซึ่งเป็นคลังแอปพลิเคชันที่ใช้โมเดลเดียวกับ App Store และ Android Market เพื่อใช้ในการรองรับโครงการแท็บเล็ตพีซีเพื่อการศึกษาไทย “One Tablet per Child : OTPC” สำหรับนักเรียนประถม 1 ซึ่งล่าสุดได้เปลี่ยนกรอบการทำงานเป็น “เอดูเคชัน คอนเทนต์ เฟรมเวิร์ก” เพื่อให้การสนับสนุนที่ครอบคลุมมากขึ้นกว่าเดิม
Company Relate Link :
SIPA