ทรู อินเทอร์เน็ตประกาศความพร้อมให้บริการ IPv6 หลังเตรียมการมาตั้งแต่ 7 ปีที่แล้วด้วยงบลงทุนระบบกว่า 100 ล้านบาท โดยเริ่มจากกลุ่มลูกค้าองค์กรก่อนกระจายสู่ผู้ใช้งานทั่วไป เชื่อช่วงแรกยังต้องใช้งานควบคู่กับ IPv4 เพราะระบบหลายที่ยังไม่พร้อม คาดภายใน 5 ปีพร้อมใช้หมด
นายธนะพล จันทวสุ ผู้อำนวยการสายงานโครงข่าย บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต จำกัด กล่าวถึงความพร้อมในการเปลี่ยนถ่ายการให้บริการอินเทอร์เน็ตจาก IPv4 ให้รองรับ IPv6 ตอบรับการเปิดใช้งาน IPv6 ทั่วโลกในวันที่ 6 เดือน 6 ปี 2012 หลังเตรียมความพร้อมล่วงหน้ามาแล้วกว่า 6 ปี พร้อมผลักดันให้องค์กรหันมาใช้งานควบคู่กันไปก่อน
“การที่องค์กรจะเปลี่ยนมาใช้งาน IPv6 ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละองค์กรเอง เพราะในมุมของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตปัจจุบันพร้อมให้บริการแล้ว แต่ทั้งนี้ปัจจุบันในการใช้งานยังจำเป็นต้องใช้ IPv4 คู่กับ IPv6 เนื่องจากยังมีซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมบางประเภทที่ยังไม่สามารถผลัดเปลี่ยนมาใช้งานเฉพาะ IPv6 ได้”
โดยถ้ามองในแง่ของระบบปฏิบัติการไมโครซอฟท์ วินโดวส์ ตั้งแต่เวอร์ชันเอ็กซ์พีเป็นต้นมาสามารถรองรับการใช้งาน IPv6 ได้แล้ว เพียงแต่อาจต้องมีการลงส่วนเสริมของโปรแกรมในเอ็กซ์พีเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นวินโดวส์ 95 หรือต่ำกว่านั้นอาจต้องอัปเกรดขึ้นมาเพื่อให้รองรับการใช้งาน
สำหรับทรูใช้งบในการลงทุนพัฒนาให้อุปกรณ์รองรับการใช้งาน IPv6 ประมาณ 100 ล้านบาท โดยเบื้องต้นจะให้ลูกค้าในกลุ่มองค์กรใช้งานก่อนจะขยายการให้บริการไปสู่ผู้บริโภคทั่วไปในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งทางทรูยืนยันว่า IPv4 ที่ทรูมีอยู่ในปัจจุบันสามารถให้บริการไปได้ถึงปลายปีหน้า
ดร.ธัชพล โปษยานนท์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลเสริมถึงแนวโน้มการเติบโตด้านการใช้งานแบนด์วิดท์ทั่วโลก จะมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงอุปกรณ์การสื่อสารที่มีจำนวนมากขึ้นทำให้ไอพีแอดเดรสไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนจาก IPv4 เป็น IPv6 เพื่อให้รองรับการใช้งานจำนวนมากขึ้น
“IPv6 ไม่ใช่แค่การแจกไอพีรูปแบบใหม่ แต่ยังรวมไปถึงการช่วยให้สามารถเข้าถึงการระบุตัวตนของผู้ใช้งานได้มากขึ้น ความปลอดภัยของข้อมูล ทำให้ในจุดนี้ต้องมีการเปลี่ยนอุปกรณ์อย่างไฟร์วอล หรือเกตเวย์ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และคาดว่าภายใน 5 ปีนับจากนี้ผู้บริโภคไทยจะเข้าถึงการใช้งาน IPv6 กันหมด”
สำหรับลูกค้าซิสโก้ในประเทศไทยได้มีการเตรียมการรับ IPv6 ตั้งแต่ปี 2000 และได้พัฒนาให้สอดคล้องเพื่อรองรับมาตรฐานใหม่ๆ แก่ผู้ให้บริการ ดังนั้นลูกค้าองค์กรหรือผู้บริโภคทั่วไป อาจจำเป็นต้องเลือกผู้ให้บริการที่รองรับการทำงานบนมาตรฐานดังกล่าวเพื่อให้สามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้สะดวกยิ่งขึ้น
ผศ.ดร.โปรดปราน สิริธีรศาสตร์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนพัฒนาและเทคโนโลยี ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่พัฒนาระบบให้รองรับการใช้งาน IPv6 แล้ว และปัจจุบันเริ่มใช้งานทั้ง 2 รูปแบบควบคู่กัน (Dual Stack) ไปก่อน และพร้อมที่จะใช้งานเฉพาะ IPv6 เมื่อทุกซอฟต์แวร์ และแอปพลิเคชันรองรับการใช้งานทั้งหมด
“สิ่งที่ผู้บริโภคจะรู้สึกได้คือความเสถียรของการใช้งานเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจากอุปกรณ์พกพาต่างๆ เนื่องจากไม่ต้องทำการเชื่อมต่อค่าไอพีบ่อยๆ เนื่องจากมีไอพีให้ใช้งานจำนวนมากขึ้น รวมถึงการผลิตแอปพลิเคชันให้รองรับการใช้งาน IPv6 จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการใช้งานด้วย”
Company Relate Link :
True