เป็นที่รู้กันว่าตลาดโมบายแอปพลิเคชันในประเทศไทยขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น จากอัตราการเติบโตของสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการผลักดันของโอเปอเรเตอร์ผู้ให้บริการเครือข่ายในประเทศไทย ทำให้เหล่านักพัฒนาเริ่มมองหาเส้นทางที่จะเป็นทางลัดช่วยกระจายแนวคิดไปยังผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนทั่วโลก
ข้อมูลการสำรวจอุตสาหกรรมโทรคมนาคมล่าสุดจาก ดร.ภาสกร ประถมบุตร ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยสารสนเทศการสื่อสาร และการคำนวน ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คาดการณ์ว่ามูลค่าคลาดรวมโทรศัพท์มือถือในปีนี้จะอยู่ที่ 6.5 หมื่นล้านขณะที่ในด้านการให้บริการเครือข่ายจะอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท
โดยมีผลการสำรวจอีกว่าจะมีผู้บริโภคซื้อสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นอีก 17.7% ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดของสมาร์ทโฟนในสิ้นปีนี้ในประเทศไทยน่าจะเกิน 27.7% และคาดการณ์ว่าในส่วนของตลาดแอปพลิเคชันจะมีอัตราการเติบโตจากปีที่ผ่านมาราว 35.6% เนื่องจากเป็นตลาดใหม่ที่ยังสามารถขยายตัวได้
"ผลการสำรวจตลาดในต่างประเทศพบว่าหลายๆประเทศส่วนใหญ่ เมื่อถึงจุดอิ่มตัวและขายเครื่องโทรศัพท์รุ่นใหม่ๆได้น้อยลง รายได้หลักกว่า 70% ของอุตสาหกรรมจะเกิดจากการให้บริการ ดังนั้นจึงเป็นแนวโน้มของประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน"
แน่นอนว่าหนึ่งในระบบนิเวศน์ของการบริการที่ต้องการมีแอปพลิเคชันดีๆ เพื่อข่วยให้ยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นคงหนีไม่พ้นทางฝั่งผู้ให้บริการ ซึ่งในจุดนี้ทั้งทางทรูมูฟ และเอไอเอส ได้เริ่มเปิดโครงการเพื่อให้นักพัฒนาเข้ามาเรียนรู้ เพื่อต่อยอดการสร้างเพื่อให้เกิดรายได้จากการพัฒแอปฯ จากฐานลูกค้าผู้ใช้งานทั่วโลก
แรกเริ่มเดิมทีเหล่านักพัฒนาและผู้ใช้งานคงคุ้นหูกับ True App Center ที่ถูกผลักดันมา 4 ปีพร้อมๆกับการนำไอโฟนเข้ามาจำหน่ายของทรูมูฟ โดยทรูวางได้เปิดการประกวด True App Center Awards ขึ้นมา เป็นเหมือนพื้นที่สอนชาวไทยให้เรียนรู้ ถึงวิธีการพัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนทุกๆระบบปฏิบัติการ ซึ่งในขณะนั้นถือว่าเป็นอะไรที่ใหม่มากสำหรับคนไทย
โดยผู้ที่เข้าร่วมในโครงการก็จะได้สิทธิพัฒนาแอปฯขึ้นมาเพื่อส่งประกวด และนำไปให้บริการแก่ลูกค้าของทรูมูฟ และกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งในขณะนั้นทรูคัดเลือกผู้ชนะ 3 อันดับแรก เพื่อให้เงินพัฒนาต่อ ทำให้หลักๆแล้วแอปฯที่ผลิตออกมาก็จะเป็นแอปฯที่นำระบบคอนเวอร์เจนซ์ของกลุ่มทรูเข้ามาให้บริการบนสมาร์ทโฟนเป็นหลัก
ส่วนนักพัฒนาใดจะนำข้อมูลที่ได้เรียนรู้ไปต่อยอดเพื่อพัฒนาแอปฯออกวางจำหน่ายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
กลับกันในฟากฝั่งของเอไอเอส ล่าสุดได้มีการแยกหน่วยธุรกิจใหม่ออกมาพร้อมเปิดโครงการ 'AIS The StartUP' เพื่อรองรับพันธมิตรทางธุรกิจรุ่นใหม่ๆ ที่เป็นทั้งตัวนักพัฒนาแอปฯ หรือบริษัทรายย่อย และถือเป็นการขยายฐานคอนเทนต์โพรไวเดอร์ของเอไอเอสให้กว้างขึ้น จากเดิมที่ผูกอยู่กับพันธมิตรรายหลักๆเท่านั้น และเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้นักคิด นักพัฒนารุ่นใหม่ ได้เข้าร่วมกับเอไอเอสในการต่อยอดแอปฯเพื่อสร้างรายได้แก่ฐานลูกค้าในกลุ่มสิงเทล
นายปรัธนา ลีลพนัง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานบริการเสริม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ให้ข้อมูลการเติบโตของสมาร์ทดีไวส์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าจะมีจำนวนกว่า 117 ล้านเครื่องภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ในประเทศไทยปัจจุบันมีมากกว่า 10 ล้านเครื่องแล้ว และปีนี้คาดว่าจะมีเพิ่มอีก 5 ล้านเครื่อง นอกจากนี้ยังมีการสำรวจว่าภายในอีก 12 เดือนข้างหน้าผู้บริโภค 30% ต้องการซื้อสมาร์ทโฟน และ 20% มีความต้องการใช้งานแท็บเล็ต
"เมื่อเห็นตัวเลขการเติบโตเหล่านี้ทางเอไอเอสในฐานะเซอร์วิสโพรไวเดอร์ จึงต้องทำการขยายอีโคซิสเต็มส์จากการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ มาเป็นทำงานร่วมกับเหล่านักพัฒนาโดยตรง จากเดิมที่มีคอนเทนต์โพรไวเดอร์ราว 250 − 300 บริษัท ก็จะขยายไปสู่หลักพันจนถึงหลักหมื่นรายในอนาคต"
สิ่งที่เหล่านักคิดผู้มีไอเดีย และเหล่านักพัฒนาที่มีฝีมือจะได้จากการเข้าร่วมในโครงการนี้คือ และผ่านการคัดเลือกคือฐานลูกค้าของเอไอเอสที่ปัจจุบันมีมากกว่า 34 ล้านคน ยังไม่นับรวมในเครือสิงเทลอีก 412 ล้านราย รวมถึงในกลุ่มที่พร้อมจะตอบรับแอปพลิเคชันเข้าไปสู่ในระดับภูมิภาค และจนถึง SingTel innov8 ซึ่งเป็นบริษัทที่รวมกลุ่มนักลงทุนในเครือของสิงเทลที่จะช่วยเข้ามาเป็นต้นทุนในการพัฒนาแอปฯจนผลิตออกมาสู่ตลาด
แนวคิดง่ายๆของโครงการ 'AIS The StartUP' คือการเปิดพื้นที่ให้เป็นเหมือนโรงเตี้ยม ให้เหล่าผู้ใช้ และนักพัฒนาได้เข้ามาพบปะแลกเปลี่ยนกัน โดยมีขั้นตอนตั้งแต่การสอนพัฒนาแอปฯ ให้เครื่องมือในการพัฒนาครอสแพลตฟอร์ม การเลือกใช้เครื่องมือในการผลิต การเข้าถึงอินฟราสตรัคเจอร์ ร่วมกันปรับปรุงแก้ไข เมื่อเสร็จแล้วก็พร้อมวางจำหน่ายให้แก่ลูกค้าของเอไอเอส และกลุ่มพันธมิตรในเครือ
โดยนักคิดและนักพัฒนาที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถนำเสนอแนวคิดที่น่าสนใจผ่านหน้าเว็บไซต์ http://www.ais.co.th/thestartup/ เมื่อได้รับการคัดเลือกก็จะนัดเข้ามาพูดคุยกับทีมงานของเอไอเอส ซึ่งในส่วนนี้ถ้าทางทีมงานเห็นว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ นอกจากการหาแนวทางการร่วมธุรกิจกับทางเอไอเอสแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เหล่านักพัฒนาได้นำไอเดียไปเสนอแก่นักลงทุนผ่านเครือข่ายของเอไอเอสด้วยเช่นกัน
นายปรัธนา กล่าวยืนยันในส่วนของการพัฒนาแอปฯว่า มีหลากหลายแนวทางความร่วมมือทางธุรกิจให้เลือก ตามความพึ่งพอใจ เพียงแต่เมื่อมีการร่วมทุนกันแล้วทางเไอเอส ก็ต้องพยายามรักษาสิทธิพิเศษให้แก่ลูกค้าในการใช้งาน เช่น อาจจะได้ใช้งานก่อนใคร มีฟีเจอร์พิเศษเฉพาะลูกค้าเอไอเอส แต่จะไม่จำกัดสิทในการขายให้แก่ผู้บริโภคทั่วไป
"โครงการนี้คือคาดว่าจะมีผู้เข้าเสนอผลงานสัก 200 − 300 ผลงาน และตั้งเป้าว่าถึงสิ้นปีน่าจะมีผลงานที่สำเร็จ 2-3 ชิ้น ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีแล้ว ซึ่งถ้าถามว่ารายได้จากส่วนนี้ของเอไอเอสคืออะไร ก็คงหนีไม่พ้นรายได้ในการให้บริการดาต้าแก่ลูกค้าอยู่เช่นเดิม หรืออาจจะมีรูปแบบการทำตลาดอื่นๆในอนาคตก็เป็นได้"
***5 แอปฯ เตรียมเกิดจาก AIS Startup Weekend
Chatterbox แอปฯ ที่ช่วยให้ผู้ชมรายการโทรทัศน์สามารถสื่อสารกับผู้ชมคนอื่น ๆ ได้ในขณะชมรายการ และยังช่วยให้เจ้าของรายการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม พร้อมเปลี่ยนประสบการณ์ในการดูรายการทีวี
ShopSpot แอปฯ บนแนวคิดที่ว่า “ทำให้การซื้อของขายของเป็นเรื่องง่ายเหมือนการทวีต” เพียงถ่ายรูป โพสต์ แชร์ ก็ขายได้ เปิดให้ดาวน์โหลดบน iOS และเตรียมที่จะขยายไปยังแอนดรอยด์ในไม่กี่เดือนข้างหน้า
Like Me แอปฯสำหรับใช้รับสิทธิพิเศษจากแบรนด์ที่ชื่นชอบมาให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟน โดยเริ่มมีแบรนด์เข้ามาสนับสนุน และจะเริ่มเปิดให้ดาวน์โหลดในช่วงเดือน กรกฎาคมนี้
Got it แอปฯที่นำสมาร์ทโฟนมาใช้แทนบัตรสมนาคุณที่เป็นกระดาษแข็งหรือบัตรพลาสติก ช่วยสร้างความสัมพันธ์ให่แก่ร้านค้าและลูกค้าจากบัตรสะสมแต้ม และนำเสนอโปรโมชันใหม่ๆให้แก่ลูกค้าขาประจำได้ง่ายขึ้น
Flowz แอปฯ ในรูปแบบ Privilege Platform ที่ช่วยให้บริษัทสามารถสร้างช่องทางการประชาสัมพันธ์ผ่านโปรแกรมให้แก่ลูกค้า กำลังเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน ทั้ง iOS และ Android