xs
xsm
sm
md
lg

ซีอีโอลาออก อนาคตยาฮูจะเป็นอย่างไร ?? (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สก็อต ทอมป์สัน
สก็อต ทอมป์สัน (Scott Thompson) ซีอีโอคนที่ 3 ในรอบ 3 ปีของยาฮู (Yahoo) ลาออกจากชายคายักษ์ใหญ่เสิร์ชเอนจิ้นแล้ว คำถามใหม่แต่เป็นเรื่องเก่าคือยาฮูจะเป็นอย่างไรต่อไป

คำถามนี้ได้รับความสนใจจากนักสังเกตการณ์หลายคน โดยเฉพาะเมื่อทอมป์สันตกเป็นข่าวฉาวว่าให้ข้อมูลการศึกษาระดับปริญญาตรีผิดพลาด ทั้งที่เริ่มทำงานในตำแหน่งนี้มาเพียง 4 เดือน

ข่าวฉาวทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มผู้ถือหุ้นยาฮูนามเติร์ดพอยต์ (Third Point) ได้กล่าวหาว่าทอมป์สัน"โกหก"วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยประวัติของทอมป์สันซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ของยาฮูนั้นระบุว่าเขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี 2 สาขาคือบัญชีและวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัย Stonehill College แต่การตรวจสอบพบว่าสถาบันดังกล่าวไม่เปิดสอนสาขาวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ในปีที่ทอมป์สันอ้าง เท่ากับซีอีโอยาฮูสำเร็จการศึกษาวิชาบัญชีเท่านั้น

ทอมป์สันปฏิเสธว่าไม่เคยโกหก เขาไม่เคยส่ง"เรซูเม"หรือประวัติส่วนตัวด้านการศึกษาและประสบการณ์ให้กับยาฮู แน่นอนว่าทั้งหมดไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการ แต่เป็นข่าวที่ออกมาจาก"คนวงใน" ซึ่งยาฮูไม่ให้ความเห็นใดๆ

ยังมีข่าวอีกกระแสที่ระบุว่า ทอมป์สันลาออกเพราะการตรวจพบโรคมะเร็ง ทำให้เขาต้องเข้ารับการรักษาอย่างจริงจัง

กรณีที่เกิดขึ้นน่าสนใจมาก เพราะปกติแล้วการว่าจ้างผู้บริหารตำแหน่งสูงอย่างซีอีโอ ทอปม์สันนั้นต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบประวัติอย่างเคร่งครัด ไม่เพียงประวัติการทำงาน แต่ยังต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบประวัติการถูกจับกุมและลักษณะการร่วมงานโดยละเอียด ในเบื้องต้น ยาฮูเรียกความผิดที่เกิดขึ้นว่าเป็น "ความผิดพลาดที่ไม่ตั้งใจ" คณะกรรมการบริหารยาฮูพยายามแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการจ้างทีมตรวจสอบนอกบริษัท เพื่อทบทวนและตรวจสอบความผิดที่เกิดขึ้น

เรื่องนี้เว็บไซต์อย่าง All Things D รายงานว่าทอมป์สันนั้นถูกแต่งตั้งเป็นซีอีโอโดยตรงจากบอร์ดยาฮู ซึ่งเป็นเพราะประวัติการทำงานที่เข้าตาและได้รับการพิจารณาว่าเหมาะสม ทั้งหมดนี้ยาฮูยังไม่ออกมาตอบรับหรือปฏิเสธรายงานข้อสันนิษฐานนี้ แต่ผู้อำนวยการยาฮูซึ่งเป็นผู้นำทีมกรรมการสรรหาซีอีโอ และได้เลือกทอมป์สันมาเป็นซีอีโอในที่สุด ได้ประกาศว่าจะลาออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว

ข้อกล่าวหาเรื่องการปลอมวุฒิการศึกษาจึงถูกมองเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะยาฮูนั้นจ้างทอมป์สันเป็นซีอีโอเพราะผลงานที่โดดเด่นในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาในวงการอินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาที่เรียนมาเมื่อครั้งซีอีโอรายนี้อายุ 22 ปี โดยทอมป์สันมีดีกรีเป็นอดีตผู้บริหารบริการจ่ายเงินออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่างเพย์พาล (PayPal)

ทอมป์สันเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนสหรัฐฯว่า ภารกิจอันดับหนึ่งของการรับหน้าที่ซีอีโอให้ยาฮูคือการพาบริษัทให้เติบโตต่อไป ทั้งในแง่การเพิ่มรายรับและการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับนักลงทุนซึ่งผิดหวังกับยอดรายรับที่พลาดเป้ามาหลายปี โดยยอมรับว่าเป็นภารกิจที่ต้องใช้ความอดทนมากกว่าผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนรายใดของยาฮู

ก่อนหน้าทอมป์สัน ยาฮูมีเทอร์รี่ ซีเมล (Terry Semel), เจอร์รี่ หยาง (Jerry Yang) และคารอล บาร์ตซ์ (Carol Bartz) เป็นซีอีโอซึ่งพาชีวิตของยาฮูผ่านเนินลุ่มดอนคละเคล้ากันไปในเวลาไม่ถึง 5 ปีที่ผ่านมา ผลประกอบการที่พลาดเป้าบวกกับภาพภาวะผู้นำในการสร้างสรรค์นวัตกรรมแก่โลกออนไลน์ซึ่งถูกดาวรุ่งอย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) และกูเกิล (Google) แซงหน้าไป ทั้งหมดนี้ส่งผลให้หุ้นยาฮูมีมูลค่าไม่เกิน 20 เหรียญสหรัฐมานานถึง 3 ปี ทั้งที่เคยมีมูลค่าถึง 33 เหรียญ เมื่อครั้งไมโครซอฟท์เสนอซื้อบริษัทด้วยเงิน 4.75 หมื่นล้านเหรียญในเดือนพฤษภาคมปี 2008

พันธกิจเร่งด่วนอันดับ 1 ของยาฮูนับจากนี้จึงเป็นการสรรหาตัวซีอีโอคนใหม่อีกครั้ง
รอสส์ เลวินซอห์น
ยาฮูประกาศให้รอสส์ เลวินซอห์น (Ross Levinsohn) รับตำแหน่งซีอีโอชั่วคราว ประธานฝ่ายสื่อหรือมีเดียของยาฮูระดับโลก (global media) คนนี้ถูกรายงานว่าเป็นที่ถูกใจของกลุ่มผู้ถือหุ้นยาฮูเพราะเลวินซอห์นเป็นผู้ที่คลุกคลีกับธุรกิจมีเดียมานาน โดยเคยเป็นประธานของบริษัท Fox Interactive Media ใต้ชายคาบริษัท News Corporation และมีประสบการณ์กับสถานี CBS Sportsline รวมถึง HBO มาก่อน

สิ่งที่นักวิเคราะห์รอคอยในขณะนี้ คือท่าทีของกรรมการบริหารยาฮูว่าจะประกาศชื่อใครเป็นผู้ดำรงตำแหน่งซีอีโอต่อไป เพราะตำแหน่งและความถนัดของซีอีโอนั้นจะแสดงทิศทางอนาคตของบริษัทได้ เช่นหากเป็นเลวินซอห์น ความรอบรู้เรื่องวงการโฆษณาและสื่อก็อาจทำให้ยาฮูกลายเป็นยักษ์ใหญ่มีเดียในอนาคตก็ได้

ก่อนหน้านี้ ยาฮูนั้นเป็นผู้เล่นอันดับ 1 ในวงการแชร์ไฟล์ภาพ บริการอย่าง Flickr ถือเป็น 1 ในดวงใจของช่างภาพที่ต้องการโชว์ภาพความละเอียดสูงของตัวเองไว้บนอินเทอร์เน็ต แต่การขาดนวัตกรรมทำให้บริการอื่นได้รับความนิยมแซงหน้า Flickr ซึ่งหากยาฮูสามารถปรับตัวเองขึ้นมาเป็นบริษัทนวัตกรรมได้ ยาฮูก็มีโอกาสกลับมาโลดแล่นอีกครั้ง

พันธกิจอันดับ 2 ของยาฮูคือการจัดการกรรมการบริหาร ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงมากมายนับตั้งแต่ครั้งผู้ก่อตั้งยาฮูอย่างเจอร์รี่ หยาง ถอดใจและโบกมือลายาฮูไปเมื่อปี 2011 กรรมการยาฮูถูกนักลงทุนผู้ถือหุ้นแทรกแซงจนไม่เป็นตัวของตัวเอง นำไปสู่การเปลี่ยนตัวซีอีโอหลายคนในช่วงเวลาไม่กี่ปี

พันธกิจอันดับ 3 คือการตัดสินอนาคตให้หุ้นอาลีบาบา (Alibaba) และยาฮูเจแปน (Yahoo Japan) หุ้นบริษัทอีคอมเมิร์ชจีนรายใหญ่ของอาลีบาบากว่า 40% ซึ่งยาฮูถือครองอยู่นี้ถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุดของยาฮู วันนี้อาลีบาบาประสบความสำเร็จและเป็นที่หมายตาของกลุ่มนักลงทุน และยื่นข้อเสนอซื้อหุ้นจากยาฮูในราคางาม แต่การยาฮูยังไม่สรุปผลการตัดสินใจ ทำให้ผู้ถือหุ้นยาฮูบางส่วนไม่พอใจฐานขาดรายได้

พันธกิจที่ 4 นั้นเป็นพันธกิจที่สำคัญที่สุดในระยะยาว การตอบคำถามให้ได้ว่า "ยาฮูคืออะไร ?" นั้นเป็นคำถามที่นักสังเกตการณ์ทั่วโลกถามกันมานาน วันนี้ยาฮูไม่สามารถเจาะตลาดเสิร์ชเอนจิ้นทั่วโลกได้ ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถเป็นเบอร์ 1 ในบริการที่ยาฮูมี นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ยาฮูจำเป็นต้องมีโรดแมปหรือแผนนโยบายบริษัทในระยะยาวที่ได้ผลและทำได้จริง

..ถ้าทำไม่ได้ ยาฮูตกกระป๋องแน่นอน..
กำลังโหลดความคิดเห็น