เปิดศึกฟ้องยักษ์ใหญ่เครือข่ายสังคม “เฟซบุ๊ก (Facebook)” ระบุเฟซบุ๊กละเมิดเทคโนโลยีวิธีการและระบบโฆษณาบนเว็บไซต์ของยาฮูมากกว่า 10 จุด ศึกใหญ่ครั้งแรกระหว่างบริษัทไอทีในสังคมโซเชียลมีเดียนี้เริ่มต้นขึ้นโดยไม่ระบุค่าความเสียหาย สื่อนอกเชื่อมีโอกาสสูงที่ทั้งคู่จะลงเอยด้วยการยอมความและจบลงด้วยการจ่ายเงินค่าสิทธิบัตรเทคโนโลยีเหมือนคดีอื่นๆ
โจนาธาน ธาว (Jonathan Thaw) โฆษกเฟซบุ๊กให้สัมภาษณ์ว่าบริษัทได้อ่านคำฟ้องผ่านสื่อแล้ว โดยในเบื้องต้นบริษัทไม่เห็นด้วยต่อการฟ้องร้องครั้งนี้ของยาฮู ซึ่งที่ผ่านมายาฮูเป็นพันธมิตรกับเฟซบุ๊กมายาวนานและได้รับประโยชน์จากความร่วมมือกับเฟซบุ๊กมาตลอด ขณะที่ยาฮูออกแถลงการณ์ทางอีเมลโดยเชื่อว่าบริษัทจะได้รับชัยชนะในการฟ้องร้องครั้งนี้
“การเจรจากับเฟซบุ๊กนั้นไม่ทำให้ปัญหาดังกล่าวคลี่คลาย บริษัทจึงดำเนินการขออำนาจศาลเพื่อคุ้มครองบริษัท” ยาฮูระบุ
ยาฮูยื่นฟ้องเฟซบุ๊กต่อศาลแคลิฟอร์เนียในเมืองซานโฮเซ เมื่อวันจันทร์ที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมาตามเวลาสหรัฐฯ คดีดังกล่าวถือเป็นอีกคดีใหญ่ในวงการเว็บไซต์ หลังจากบริษัทไอทียักษ์ใหญ่พร้อมใจเปิดศึกในวงการสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมาก่อนหน้านี้ โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ร่วมชุลมุนในศึกครั้งก่อนนี้ได้แก่แอปเปิล (Apple), ไมโครซอฟท์ (Microsoft) และโมโตโรลา (Motorola)
ยาฮูนั้นเป็นหนึ่งในบริษัทผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมออนไลน์ของโลก แต่เพราะยุคสมัยและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทำให้รายได้ของยาฮูลดลงต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา พร้อมกับที่ดาวรุ่งอย่างเฟซบุ๊กและกูเกิลขึ้นมาครองเจ้าตลาดแทน โดยเดือนมกราคมที่ผ่านมา ยาฮูได้แต่งตั้งสก็อตต์ ทอมป์สัน (Scott Thompson) อดีตประธานบริการชำระเงินออนไลน์ชื่อดังอย่าง PayPal ขึ้นดำรงตำแหน่งซีอีโอแทนคารอล บาร์ตซ์ (Carol Bartz) ซึ่งถูกปลดในเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ยาฮูเคยเปิดเผยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่ากำลังอยู่ระหว่างการเรียกเก็บค่าสิทธิบัตรเทคโนโลยีจากเฟซบุ๊ก เช่นเดียวกับที่หลายเว็บไซต์ยินยอมชำระให้ยาฮู ในครั้งนั้น ยาฮูกล่าวหาเฟซบุ๊กว่าละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยีมากกว่า 20 รายการ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าสำนวนฟ้องร้องที่ยาฮูระบุอย่างเป็นทางการ
การฟ้องร้องของยาฮูครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเฟซบุ๊กมีแผนจะเสนอจำหน่ายหุ้นครั้งแรก หรือ IPO ซึ่งอาจทำให้เฟซบุ๊กกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดมากกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จุดนี้คอลลีน เชน (Colleen Chien) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของสถาบัน Santa Clara Law ในซิลิกอนวัลเลย์เชื่อว่ายาฮูจงใจรอเวลาฟ้องร้องที่เหมาะสมเช่นนี้ เนื่องจากคดีด้านการละเมิดสิทธิบัตรนั้นมักจะมีน้ำหนักมากขึ้นในระหว่างขั้นตอนการเปิดจำหน่าย IPO ของบริษัทที่ถูกฟ้อง
เช่นเดียวกับ อีริน-มิเชล จิล (Erin-Michael Gill) กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท MDB Capital ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่เน้นการลงทุนเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นพิเศษ เคยวิเคราะห์และเขียนบทความพยากรณ์ว่าศึกสิทธิบัตรระหว่าง ยาฮู และ เฟซบุ๊ก จะเกิดขึ้นเป็นคนแรก พร้อมกับเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ Forbes.com ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่่ผ่านมา
จิลให้สัมภาษณ์ว่าช่วงเวลาที่เฟซบุ๊กกำลังดำเนินการเปลี่ยนแปลงบริษัทเป็นองค์กรมหาชนนั้น ถือเป็นเวลาที่สมบูรณ์แบบสำหรับยาฮูในการทวงสิทธิ์ในสิทธิบัตรเทคโนโลยีจากเฟซบุ๊กต่อหน้าสาธารณชน โดยเชื่อว่าการขู่ฟ้องร้องในช่วงเวลานี้จะทำให้การเจรจาเพื่อยอมความเป็นไปได้เร็วขึ้น พร้อมกับยกตัวอย่างว่าทั้ง Google และ Pandora คือกรณีศึกษาที่ยิ่งใหญ่ในฐานะ 2 บริษัทไอทีที่เคยต้องเผชิญกับคดีละเมิดสิทธิบัตรในช่วงเวลาเข้าตลาดหุ้นมาแล้ว
ก่อนหน้านี้ ยาฮูเคยฟ้องร้องกูเกิล (Google) ระหว่างการเข้าตลาดในปี 2004 เป็นผลให้กูเกิลยินยอมออกหุ้นให้ยาฮูก่อนการวางจำหน่าย IPO อย่างเป็นทางการราว 9 วัน ก่อนจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมากกว่า 201 ล้านเหรียญที่เกิดจากธุรกรรมครั้งนั้น ทั้งหมดนี้ทำให้นักสังเกตการณ์เชื่อว่าครั้งนี้ ยาฮูอาจจะได้รับประโยชน์เต็มที่จากการทำในสิ่งเดียวกันกับเฟซบุ๊ก
นอกจากนี้ จิลพบว่าเฟซบุ๊กนั้นเป็นบริษัทไฟแรงสร้างเทคโนฯใหม่รวดเร็วแต่จดสิทธิบัตรช้า โดยพบว่าทรัพย์สินทางปัญญาที่เฟซบุ๊กถือครองนั้นมีจำนวนน้อยกว่าบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่มากนัก เช่น ยาฮูที่ถือครองสิทธิบัตรเทคโนโลยีมากกว่า 1,000 รายการ เทียบกับเฟซบุ๊กที่ถือครองไม่ถึง 100 รายการ
สำหรับสิทธิบัตรที่ยาฮูอ้างว่าเฟซบุ๊กละเมิดนั้นได้แก่ระบบจัดการโฆษณา, การปรับแต่งหน้าเว็บส่วนตัว และการส่งข้อความ โดย 2 ใน 10 จุดเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านเครือข่ายสังคมโดยตรง เบื้องต้นมีการประเมินว่ายาฮูอาจต้องการค่าธรรมเนียมใช้เทคโนโลยีจากเฟซบุ๊กในราคาไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9 หมื่นล้านบาท
Company Related Link :
Yahoo