กลุ่มสามารถฯ ปรับโครงการซีเอสอาร์ ปีที่ 10 ดันโครงการ Samart Innovation เป็นบิ๊กโปรเจ็กต์ เน้นแจกทุน สนับสนุนโนเฮาว์ และนวัตกรรม จับมือสวทช.ดันโครงการ “เถ้าแก้น้อย” หวังต่อยอดให้เกิดผลเชิงพาณิชย์
นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่กลุ่มบริษัทสามารถได้จัดโครงการ Samart Innovation Awards เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมนักพัฒนาซอฟต์แวร์ของไทย โดยนอกเหนือจากการประกวดแล้ว ทางกลุ่มสามารถฯ ยังเพิ่มเติมความรู้และทักษะทางการตลาด อาทิ การจัดอบรมพิเศษต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่โลกธุรกิจให้แก่นักพัฒนารุ่นใหม่อีกด้วย
โดยในปี 2554 ที่ผ่านมา ทางโครงการฯ ได้มีการกำหนดโจทย์ในการสร้างสรรค์ซอฟต์แวร์ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับความร่วมมือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและสมาคมโรงแรมไทย ในการถ่ายทอดความต้องการของตลาดและร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากจำนวนและคุณภาพของผลงานที่ส่งเข้าร่วมประกวดแล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยมีจำนวนผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้นกว่า 150 ผลงาน มีผลงานที่ได้รับรางวัล 13 ผลงาน ในจำนวนนั้นมีผลงานที่ได้รับรางวัล Gold awards ถึง 4 รางวัล แสดงให้เห็นถึงการตอบรับและความตื่นตัวของนักพัฒนาซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ที่พร้อมจะเปิดรับโอกาสในการก้าวสู่โลกของมืออาชีพอย่างแท้จริง
มาในปีนี้ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ของโครงการฯ ทางบริษัทฯ มีเป้าหมายในการสนับสนุนให้เกิดการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ยิ่งขึ้นสำหรับผลงานที่มีความพร้อม ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวสอดคล้องกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่มุ่งผลักดันให้เกิด “คนคุณภาพ” ในโลกของเทคโนโลยี จึงได้ร่วมมือกันในโครงการ “เถ้าแก่น้อย” โดยกลุ่มสามารถ ให้การสนับสนุน ด้วยการเติมเต็มความรู้ธุรกิจและเทคโนโลยีสนับสนุนทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และพร้อมมอบเงินรางวัล มูลค่า 2 แสนบาท สำหรับสุดยอดเถ้าแก่น้อยจากการประกวดในปี 2555 นี้
นางสาวกนกวรรณ จันทร์สว่างภูวนะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า ตลอดเวลาที่กลุ่มสามารถฯ ดำเนินโครงการนี้มา ถือว่า ประสบความสำเร็จที่ทำให้เกิดคอมมูนิตี้ทางด้านซอฟต์แวร์ขึ้นมา ถึงแม้ว่า จะมีโครงการที่ผลักดันในเชิงพาณิชย์จะยังไม่มากนัก ประมาณ 7-8 แอปพลิเคชัน ซึ่งในปีนี้การที่ทางกลุ่มสามารถฯ เข้าร่วมในครั้งนี้นั้นส่วนหนึ่งก็เพื่อปรับเปลี่ยนโครงการ Samart Innovation Awards ให้เป็นภาพที่ใหญ่ขึ้น โดยจะตัดชื่อในส่วน Awards เหลือแต่ Samart Innovation แทน
“โครงการ Samart Innovation จะแบ่งรูปแบบการส่งเสริมเป็น 3 รูปแบบ คือ 1. รูปแบบของการเสริมทักษะความรู้ หรือเข้าอบรมให้ความรู้แก่องค์กรต่างๆ ตามความถนัด 2. การให้ทุนการศึกษาหรือทุนวิจัยด้านเทคโนโลยี และ 3. ส่งเสริมการประกวดความคิดสร้างสรรค์โดยผสานความร่วมมือเข้าร่วมกับองค์กรใดๆที่มีแนวคิดร่วมกันเป็นสำคัญ”
โครงการ “เถ้าแก่น้อย” นอกจากจะเป็นโครงการแรกในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่มีการผลักดันผลงานที่มีแนวคิดและความพร้อมมีความเป็นไปได้ทางการตลาดสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีรุ่นใหม่ที่จับต้องได้แล้วนั้น ยังเป็นโครงการที่เน้นการสร้างคนคุณภาพ โดยกลุ่มสามารถฯ สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาผลงานต้นแบบโดยต้องการให้เห็นผลงานเป็นรูปธรรมมากขึ้น เสนอผลงานโดยตรงกับองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศที่เป็นทั้งเจ้าของธุรกิจ หรือแหล่งเงินทุนเพื่อต่อยอดในการดำเนินธุรกิจ ที่สำคัญยังรองรับการทำธุรกิจต่อเนื่องผ่านศูนย์บ่มเพาะ ของสวทช.
ส่วนโครงการเข้าซื้อกิจการทางด้านซอฟท์แวร์ทางด้านธุรกิจเพื่อเป็นการเติมเต็มกลยุทธ์การสร้างรายได้จากธุรกิจในระยะยาวนั้น คาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2 เดือนถึงจะให้รายละเอียดของบริษัทใหม่ดังกล่าวได้ ซึ่งช่วงนี้น่าจะรอส่งเรื่องให้ทางบอร์ดผู้บริหารและผู้ถือหุ้นก่อน
“เรื่องนี้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของกลุ่มบริษัทฯ ที่มองหาแหล่งสร้างรายได้ในระยะยาว ปัจจุบันรายได้จากโปรเจ็กต์ต่างๆ สูงถึง 60-70% ในอนาคตทางกลุ่มสามารถฯ ต้องการที่เพิ่มสัดส่วนรายได้ในตลาดคอนซูเมอร์ให้ได้ 60-70% ในระยะเวลา 3-5 ปีข้างหน้า”
Company Related Link :
สามารถฯ