กสทช.โหมโรงเปิดประชาพิจารณ์ แผนแม่บทฯ 3 แผน ผู้ให้บริการ ผู้ประกอบการ ภาคประชาชนต่างแสดงจุดยืน ตั้งประเด็นใหญ่เสนอเรื่องระยะเวลาอายุใบอนุญาต ฝั่งกทค.เร่งทำแผนก่อนหมดอายุสัมปทาน 1 ปีขณะที่กสท. กังวลการเปลี่ยนผ่านจากระบบแอนาล็อกสู่ดิจิตอลก่อนคลื่นคืน ด้านดีแทคยืนยันไม่เอาประกาศครอบงำฯ ส่วนเอไอเอสของความชัดเจนเรื่อง รี-ฟาร์มมิ่ง
พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ต่อร่างแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ร่างแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และร่างแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม
โดยการรับฟังความคิดเห็นร่างแผนแม่บท กสทช.วันนี้มีผู้สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นประมาณ 1,150 คน ซึ่งหากรวมกับเวทีตามภูมิภาคที่ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดจะมีผู้เข้าร่วมงานทั้งหมด 1,900 คน
อย่างไรก็ดีตลอดทั้งเดือนกุมภาพันธ์นี้ กสทช.จะเดินสายทำประชาพิจารณ์แผนแม่บททั้ง 3 แผนแม่บทฯทั่วประเทศ โดยเฉพาะเวทีใหญ่ที่กรุงเพทฯในวันนี้ 10 ก.พ. ที่เมืองทองธานี ส่วนในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ จัดที่จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่จังหวัดสงขลา และวันที่ 21 จังหวัดอุบลราชธานี จะไม่มีแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ซึ่งคาดว่าการรับฟังความคิดเห็นแผนแม่บททั้ง 3 แผนจะรับฟังแล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ.นี้
สำหรับขั้นตอนต่อไปหลังจากทำประชาพิจารณ์เรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะนำความเห็นที่ได้จากการรับฟังทั้งหมดมาปรับปรุงเนื้อหาแผนแม่บทฯทั้ง 3 แผน ก่อนนำร่างแผนแม่บทที่ปรับปรุงเข้าสู่ที่ประชุมกสทช.เพื่อขอความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง โดยคาดว่าจะสามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ภายในปลายเดือน มี.ค.นี้
ขณะที่ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกสทช. ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า หลังจากรับฟังความคิดเห็นวันนี้ประเด็นที่หยิบมาพูดมากที่สุดคือในเรื่องการครอบครองคลื่นความถี่ ซึ่งปัจจุบันวิทยุถือครองได้ 5 ปี โทรทัศน์ 10 ปี กิจการโทรคมนาคม 15 ปี จากเดิมที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาการครอบครอง
“ประเด็นที่มีการพูดถึงมากที่สุดในแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงคือเรื่องระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่ ที่กำหนดให้กิจการกระจายเสียงสามารถถือครองคลื่นได้สูงสุด 5 ปี ส่วนกิจการโทรทัศน์สามารถถือครองคลื่นความถี่ได้สูงสุด 10 ปี กิจการโทรคมนาคม 15 ปี”
จากนั้นจะนำความเห็นที่ได้ไปปรับปรุงแก้ไขก่อนนำเสนอบอรด์กสทช.ต่อไป โดยในเบื้องต้นคาดว่าประชาพิจารณ์เสร็จจะมีเนื้อหาทั้งส่วนที่แก้ไข และส่วนที่ไม่แก้ไข แน่นอนซึ่งทางกสทช.จะนำขึ้นเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนที่สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้อีกครั้ง หากกสท.เห็นว่าไม่มีสาระสำคัญต้องแก้ไขแล้วก็จะส่งแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
นอกจากนี้หลังจากแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ประกาศใช้แล้ว ภายใน 6 เดือนจะสามารถออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการได้ทันที ส่วนผู้ประกอบการสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับสัมปทานปัจจุบันก็จะได้รับใบอนุญาตตามอายุสัมปทานที่ยังเหลืออยู่ แต่เมื่อหมดอายุสัมปทานแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการตามแผนแม่บทของกสทช.ต่อไป คือสามารถถือครองคลื่นได้สูงสุด 5 ปีสำหรับวิทยุ และ 10 ปี สำหรับโทรทัศน์
“หน่วยงานภาครัฐ อาทิเช่น กองทัพ มีความกังวลในเรื่องการคืนคลื่น เนื่องจากกสทช.ควรที่จะเปลี่ยนผ่านจากระบบอะนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอลก่อนที่จะเรียกคืนคลื่นจากภาครัฐ และการออกใบอนุญาตใหม่ ในขณะที่ บมจ. อสมท. มีความกังวลในเรื่องการลงทุนซ้ำซ้อน เพราะหากมีการเรียกคืนคลื่นก่อนจะปรับเปลี่ยนระบบจากอะนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอล”ผู้เข้าร่วม เสนอแนะ
ด้าน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวภายหลังรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่แล้วเสร็จพบว่า ผู้เข้าร่วมฟังส่วนใหญ่เป็นห่วงเกี่ยวกับเรื่องรายละเอียดซึ่งจะระบุไว้ในแผนปฏิบัติการ ซึ่งแผนแม่บทฯจะระบุเพียงแผนในเรื่องยุทธศาสตร์เท่านั้น
ที่สำคัญประเด็นที่ผู้ร่วมงานอยากให้แก้ไข คือ การกำหนดอายุของใบอนุญาต เนื่องจากแผนแม่บทฯ กำหนดให้ใบอนุญาตที่ไม่เคยมีการกำหนดวันหมดอายุมาก่อน ให้มีอายุใบอนุญาตสูงสุด 5 ปี ในส่วนใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุ โทรทัศน์มีอายุสูงสุด 10 ปี และกิจการโทรคมนาคมมีอายุสูงสุด 15 ปี
“ในประเด็นเรื่องที่จะเปลี่ยนแปลงภายหลังรับฟังประชาพิจารณ์ และที่อาจจะปรับคือในประเด็นอายุการคืนคลื่นที่อาจจะมีการปรับลดลงจากเดิม 5-10-15 นอกจากนี้ควรจะระบุในแผนแม่บทฯให้ชัดเจนว่าเมื่อหมดอายุสัมปทานแล้วจะต้องคืนคลื่นให้กับกสทช.เท่านั้น ซึ่งในแผนแม่บทฯฉบับเก่าไม่ได้ระบุว่าต้องคืนให้กสทช.”
สำหรับสิ่งที่ผู้ร่วมงานเสนอถือว่ามีน้ำหนักพอสมควร ซึ่งกสทช.ต้องนำไปพิจารณ์ทางเศรษฐศาสตร์ และทางเทคนิคอีกครั้ง ซึ่งกสทช.ต้องมองในทุกมุมมองแล้วนำมาพิจารณ์ให้ละเอียดก่อนจะนำเรื่องเข้าบอร์ดกทค.ต่อไปเพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขอีกครั้ง ก่อนนำเข้าบอร์ดกสทช.อีกครั้งกลางเดือน มี.ค. นี้เพื่อลงมัติอีกครั้ง
ส่วนกรณีที่มีผู้เข้าร่วมเสนอว่าในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ไม่มีความชัดเจนในประเด็นการบริหารจัดการสัญญาสัมปทานนั้น ทั้งนี้เนื่องจากแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ไม่สามารถเขียนลายละเอียดได้ทั้งหมด จึงเขียนเพียงภาพรวมเท่านั้น เนื่องจากสัญญาสัมปทานมีความซับซ้อน และวันเวลาสิ้นสุดสัญญาสัมปทานไม่เหมือนกัน ฉะนั้นการเรียกคืนคลื่นความถี่ต้องศึกษา และวิเคราะห์ให้รอบคอบก่อนซึ่งคาดว่าจะต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในบอร์ดกทค.ก่อนเพื่อจะนำเสนอต่อบอร์ดกสทช.ต่อไป
“อย่างไรก็ดี 1 ปีก่อนสัญญาสัมปทานหมดลง หรือภายในเดือนกันยายนปี 2555 นี้ กสทช.จะต้องมีแผนรองรับภายหลังหมดสัญญาสัมปทานให้กับผู้ให้บริการทั้งฝั่งกิจการโทรคมนาคม และกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ “
***ดีแทค ยันเหมือนเดิม ไม่เอาประกาศครอบงำกิจการฯ
ดร.ดามพ์ สุคนธทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคยังคงยืนยันที่ไม่เห็นด้วยกับประกาศครอบงำกิจการโดยต่างด้าวพ.ศ.2554 ตั้งแต่มีการประกาศใช้มาในสมัยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ปฏิบัติหน้าที่ แทน (กสทช.) เนื่องจากมีการประกาศใช้ก่อนจัดตั้งกสทช.เพียง1สัปดาห์เท่านั้น จึงไม่ควรนำมาใช้
อีกทั้งไม่ใช่เฉพาะดีแทคเพียงรายเดียวที่มีผู้ถือหุ้นเป็นต่างชาติ ยังมีผู้ให้บริการรายอื่นๆด้วย ที่สำคัญยังส่งผลให้เกิดการกีดกัน และเสียโอกาสของผู้ประกอบการต่างชาติรายใหม่ที่จะเข้ามาในตลาด จึงอยากแนะนำให้ควรยกเลิกประกาศดังกล่าว
“ไม่เข้าใจว่าประกาศดังกล่าวออกมาเพื่ออะไร เพราะมีแต่ยิ่งทำให้เกิดปัญหา มากกว่าประโยชน์ ดังนั้นเราจึงไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้นควรจะรีบยกเลิกในทันที”
นอกจากนี้ยังอยากเสนอให้เปิดทางให้ผู้ประกอบการรายย่อยให้เข้ามาในตลาดโทรคมนาคม โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นการประมูลใบอนุญาตเพียงอย่างเดียว อาจจะหาแนวทางรูปแบบใหม่เพื่อขอใบอนุญาต
สำหรับเรื่องแรกภายหลังการประกาศใช้แผนแม่บทคลื่นความถี่ แผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และโทรทัศน์ และแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ทั้ง 3 ฉบับเสร็จ แล้ว อยากให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เร่งดำเนินการเปิดประมูลใบอนุญาต (ไลเซ่น) 2100 ไอเอ็มที แอดวานซ์ หรือ 3จี ย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ในทันที โดยดีแทคพร้อมเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต 3G ซึ่งได้เตรียมเงินลงทุนไว้กว่า 15,000 ล้านบาท
“เราเตรียมความพร้อมที่จะประมูล 3G และ 4G มาตั้งแต่ปี 2554 แล้ว ดังนั้นจึงอยากให้เปิดการประมูลคลื่นใหม่โดยเร็วที่สุด เนื่องจากตอนนี้ประเทศไทยถือได้ว่าช้าที่สุดแล้วขนาดประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว และเวียดนามยังมีการใช้งานมาได้สักพักแล้ว”
ส่วนคดีฟ้องร้องที่ก่อนหน้านี้ดีแทคฟ้องกสทช.นั้น เป็นการฟ้องร้องตัวประกาศมิใช่เป็นการฟ้องร้องคณะกรรมการกสทช.แต่อย่างใด โดยในตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนไต่สวนในเรื่่องดังกล่าว
***เอไอเอส แนะกสทช.ชัดเจนเรื่อง รี-ฟาร์มมิ่ง
นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า เราอยากจะเสนอให้กสทช.มีความชัดเจนในเรื่องแผนการเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อมาจัดสรรใหม่ (รี-ฟาร์มมิ่ง)หลังหมดอายุสัมปทาน เนื่องจากบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด หรือดีพีซีบริษัทในเครือเอไอเอส ที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งใช้คลื่นความถี่ ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งจะหมดสัมปทานลงภายในเดือนกันยายน 2556 นั้น เพื่อที่จะได้เตรียมเงินลงทุน และเตรียมแผนในการดำเนินงานต่อไป รวมไปถึงลูกค้าที่อยู่ในระบบจะได้ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่สามารถใช้โทรศัพท์ได้
ปัจจุบันมีลูกค้าจำนวน 10,000 กว่าราย ซึ่งสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงในเดือน ก.ย.2556 ฉะนั้น กสทช. ควรจะกำหนดแผนเรียกคืนคลื่นให้ชัดเจน ส่วนการประมูล 3G เอไอเอส เตรียมพร้อมเงินลงทุนไว้ 45,000 ล้านบาท
“จะให้ประมูลหรือให้ทำอะไรก็ระบุให้ชัด และทำล่วงหน้า เราจะได้เตรียมตัวว่าทำยังไงกับลูกค้า เนื่องจากการวางแผนธุรกิจต้องวางล่วงหน้าเป็นปี ๆ”
ส่วนแผนแม่บทฯทั้ง3แผนที่มีการทำประชาวิจารณ์ในวันนี้้ (10ก.พ.) เราคิดว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น ซึ่งเมื่อมีการประกาศใช้แผนแม่บทฯดังกล่าวเมื่อไรก็จะสามารถเปิดประมูล 3G หรือ 4G ขึ้นได้ทันที
Company Relate Link :
กสทช.
Dtac
AIS