กสทช.เดินหน้าจัดทำร่าง USO คาดเสร็จมี.ค.นี้ พร้อมชูโมเดล 2 จังหวัดภาคเหนือ และอีสาน ใช้งบ 500 ล้านบาท จากกองทุนปี 54 ที่มีกว่า 2,900 ล้านบาท คาดการ์มีเงินเข้ากองทุน 5 ปี ปีละ 5,000 ล้านจากผู้ที่ได้รับใบอนุญาตซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียมส่งเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนาฯในอัตรา 3%
พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือกสทช.เปิดเผยถึง ร่างแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม Universal Service Obligation (USO) ประจำปี 2555-2559 ว่าล่าสุดว่า จะสามารถประกาศใช้แผนประกาศUSO ฉบับใหม่ได้ภายในเดือนมีนาคม 2555 นี้
โดยในตอนนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงรายละเอียดร่างฉบับดังกล่าวให้เหมาะสมก่อนให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ลงมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทยูเอสโอได้อย่างเร็วที่สุด ภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ จากนั้น จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.อีกครั้ง
ทั้งนี้สาเหตุที่ต้องเร่งดำเนินการ เนื่องมาจากที่ประชุมบอร์ดกสทช.หากมีการอนุมัติ หรือมติแล้ว จำเป็นต้องรอให้มีการรับรองมติอีกครั้งหนึ่งด้วย ดังนั้น ถ้ากสทช.ไม่เร่งดำเนินการจะทำให้แผนแม่บทยูเอสโอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาไม่ทัน แผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ในช่วงเดือนมี.ค.นี้
อย่างไรก็ดีกสทช.จะนำร่องแผน USO ก่อนใน 2 จังหวัดเบื้องต้น โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณจังหวัดละ 250 ล้านบาท รวม 500 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณดังกล่าวเป็นการยกยอดจากกองทุนเดิมในปี 2554 มาใช้จากที่มีจำนวนเงินทุนกว่า 2,900 ล้านบาท
“ในตอนแรกเรากำหนดจังหวัดต้นแบบไว้ 4 แห่ง แต่หลังจากประชาพิจารณ์ลดเหลือ 2 แห่ง ซึ่งยังไม่สรุปว่าเป็นจังหวัดใด แต่เบื้องต้นจะอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 1 จังหวัด และอีสาน 1 จังหวัด งบประมาณแห่งละ 250 ล้านบาท”
ขณะที่รายละเอียดงบประมาณ 250 ล้านบาทนั้นในแต่ละจังหวัดจะต้องมีบริการใดบ้าง เช่น ต้องมีโทรศัพท์สาธารณะ โทรศัพท์ประจำที่ อินเทอร์เน็ตเท่าใด กำลังอยู่ระหว่างการหารือ และร่างเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) เพื่อให้เอกชนเข้ามาประมูลต่อไป
โดยทางกสทช.คาดการณ์ว่าแผน 5 ปีของ USO จะมีเงินเข้ากองทุนประมาณปีละ 5,000 ล้านบาท เนื่องจากเก็บค่าธรรมเนียมที่นำส่งเข้ากองทุนวิจัย และพัฒนาฯในอัตรา 3% โดยให้จัดเก็บจากผู้ได้รับใบอนุญาตทุกรายทุกประเภทใบอนุญาต แต่หากผู้รับใบอนุญาตรายใดมีรายได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท ก็ไม่ต้องนำเงินส่งเข้ากองทุนฯเพื่อส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการขนาดเล็ก
สำหรับเกณฑ์ในการคัดเลือกจังหวังนำร่อง และจังหวัดอื่นๆที่จะขยายต่อไปในอนาคตกสทช.ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซนคือ พื้นที่ A ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรหนาแน่นการลงทุนคาดว่าจะสามารถหากำไรจากลูกค้าได้ และยังมีปริมาณความต้องการสูงด้วย พื้นที่ B เป็นพื้นเสี่ยงในการลงทุน อาจขาดทุนได้หากลงทุน และพื้นที่ C มีปริมาณความต้องการของประชาชน แต่ยังไม่มีบริการเข้าไปซึ่งเป็นพื้นที่จะลงทุนไปแล้วจะต้องขาดทุนแน่นอน เนื่องจากมีประชากรอาศัยอยู่น้อย ซึ่งถือเป็นพื้นที่เป้าหมายที่กสทช.จะเข้าไปให้บริการอินเทอร์เน็ตฟรี
นอกจากนี้กสทช.ยังได้จัดตั้งศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชุน (USO NET) เพื่อตอบสนองความต้องการการใช้งานตามความนิยมของประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย โดยกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการพิจารณาคัดเลือกพื้นที่จัดตั้งศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน คือ คุณสมบัติของหน่วยงานที่ขอรับ จะต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือนิติบุคคล เช่น สถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนต่างๆ
พื้นที่ดังกล่าวทั้งหมดจะต้องมีความเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กสทช.กำหนดไว้ ได้แก่ หลักเกณฑ์การคัดเลือกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม อาทิเช่นโรงเรียน สถานสงเคราะห์คนพิการ ตนชรา เป็นต้น และต้องมีพื้นที่ที่ไม่น้อยกว่า 50 ตารางเมตร รวมถึงต้องมีแผนรองรับการดำเนินการภายหลังได้รับการจัดการศูนย์ อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวจะต้องไม่ช้ำช้อนกับพื้นที่การดำเนินงานของกระทรวงไอซีทีด้วย