“ภูษณ ปรีย์มาโนช” ประธานไอเอสอีพี ฟันธงทีวีดิจิตอลกระตุ้นคนดูแตะ 40 ล้านเครื่อง ส่งผลค่าโฆษณาพุ่งตาม 2 เท่า ทางกสทช.รับปากกำกับดูแลเต็มที่ ตั้งเป้าเปลี่ยนระบบสมบูรณ์ไม่เกิน 10 ปี เตรียมประชาพิจารณ์ร่างแผนวิทยุ-โทรทัศน์วันวาเลนไทน์
นายภูษณ ปรีย์มาโนช ประธานสถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ หรือไอเอสอีพี กล่าวว่า ทางสถาบันฯ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดสัมมนา “ทิศทางและโอกาสของธุรกิจวิทยุและโทรทัศน์ยุคใหม่ ภายหลังประกาศใช้พระราชบัญญัติกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือพ.ร.บ.กสทช.อย่างเป็นทางการ เมื่อใดที่มีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีของธุรกิจวิทยุโทรทัศน์จากระบบเดิมที่ใช้เป็นระบบอะนาล็อกมาเป็นระบบดิจิตอลแทนนั้น จะทำให้ธุรกิจดังกล่าวเติบโตอย่างก้าวกระโดด
“มีการประเมินว่า เมื่อไรที่ระบบการออกอากาศโทรทัศน์ในประเทศไทยเป็นระบบดิจิตอล จะมีผู้ใช้บริการโทรทัศน์เพิ่มขึ้นจาก 20 ล้านเครื่องในปัจจุบัน เป็น 40 ล้านเครื่องในอนาคตอันใกล้ และค่าโฆษณาต่างๆ จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว รวมไปถึงจะมีการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลดีกับผู้บริโภค”
ขณะที่การพัฒนาธุรกิจวิทยุ โทรทัศน์และโทรคมนาคมที่กำลังจะมาถึงในเร็วๆ นี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นจะต้องให้หน่วยงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.เข้ามากำกับดูแล เพื่อไม่ให้เกิดข้อกังขา และข้อพิพาทขึ้นในสังคมเหมือนเช่นที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะการจัดสรรคลื่นความถี่ให้เท่าเทียมกัน
ด้านนางจำนรรค์ ศิริตัน นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพัฒนาธุรกิจวิทยุและโทรทัศน์เปลี่ยนผ่านจากการส่งสัญญาณมาเป็นระบบดิจิตอล และมีกสทช.ขึ้นมากำกับดูแล เชื่อว่าจะส่งผลดีให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยจะสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
แต่ทั้งนี้ รัฐบาลเองจะต้องเข้ามาสนับสนุนในด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้ผู้ประกอบการในการนำเข้าอุปกรณ์ดิจิตอลที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากจะเป็นการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีของประเทศที่ใช้มากนาน เพราะระบบดิจิตอลถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ดังนั้นผู้ประกอบเกือบทั้งหมดต่างต้องนำเข้าอุปกรณ์ดังกล่าวจากต่างประเทศเพื่อนำมาปรับเปลี่ยนจากอะนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอลแทน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านก็ว่าได้
ขณะเดียวกัน พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช.ในฐานะประธาน กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า กสทช. ตั้งเป้าจะเปลี่ยนการส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกในปัจจุบันให้เปลี่ยนมาเป็นระบบดิจิตอลแบบสมบูรณ์ให้ได้ภายใน 10 ปีข้างหน้านี้ และรับปากว่าจะบริหารคลื่นความถี่ต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสคิดแต่ให้ประเทศชาติเกิดประโยชน์มากที่สุด
ตามแผนงานที่ กสทช.วางไว้ คือ จะจัดทำแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและผลักดันให้เริ่มส่งสัญญาณได้จริงภายในปีนี้ หากประเทศไทยสามารถเปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิตอลได้ การส่งสัญญาณก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลโดยตรงให้ผู้ประกอบการมีโอกาสในการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น และประชาชนก็มีทางเลือกในการรับชมข้อมูลได้มากขึ้นเช่นเดียวกันจากเดิมที่ปัจจุบันดูเฉพาะฟรีทีวี 6 ช่อง ก็จะสามารถเลือกดูได้มากกว่า 100 ช่อง
อย่างไรก็ดี ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบอะนาล็อกมาสู่ระบบดิจิตอลนั้นในช่วง 3-4 ปีแรก ประชาชนอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการซื้อกล่องรับสัญญาณดิจิตอลหรือที่เรียกว่า เซตท็อปบล็อกที่มีราคาประมาณ 500-1,000 บาทเพื่อใช้ในรับสัญญาณดิจิตอลในช่วงแรก ก่อนที่ผู้ผลิตโทรทัศน์จะปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ดังกล่าวใส่เข้าไปแทนระบบเดิมเพื่อไม่ต้องใช้กล่องรับสัญญาณอีกต่อไป
ปัจจุบัน ตลาดธุรกิจวิทยุโทรทัศน์ในปัจจุบัน ประกอบไปด้วย ฟรีทีวี 6 สถานี สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม 200 สถานี เคเบิ้ลท้องถิ่น 500 สถานี เคเบิ้ลท้องถิ่นระดับชาติ 1 สถานี วิทยุ 600 สถานี และวิทยุชุมชน 6,000 สถานี โดยมีมูลค่าของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสื่อสารมวลชนรวมประมาณ 1.5 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ในวันนี้ (10 ก.พ.) กสทช.จะเปิดประชาพิจารณ์พร้อมกันทั่วประเทศทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ใน 3 แผนแม่บท ประกอบด้วยแผนแม่บทคลื่นความถี่ แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์และแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นแผนแม่บทสำคัญในการดำเนินงานของ กสทช. ตาม พ.ร.บ.กสทช. ระหว่างเวลา 09.30-17.00 น. โดยจะรับฟังเฉพาะร่างแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และร่างแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมก่อน ส่วนร่างแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จะจัดขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ต่อไป
Company Relate Link :
ISEP