xs
xsm
sm
md
lg

เปลือย(หัวใจ)ก่อนตาย "สตีฟ จ็อบส์" (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองหนังสือชีวประวัติของสตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิลที่หลายคนอยากอ่าน
สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่สื่อมวลชนต่างประเทศตีพิมพ์บทความ"รีวิว"หนังสือชีวประวัติผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแอปเปิล "สตีฟ จ็อบส์" อย่างเป็นล่ำเป็นสัน สะท้อนว่าชาวไอทีกำลังให้ความสำคัญกับหนังสือที่ชูจุดขายว่า เป็นการเปลือยชีวิตเจ้าพ่อแอปเปิลครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์

"The Aspen Times" ตั้งข้อสังเกตว่าในหนังสือเล่มนี้ ผู้ถ่ายทอดอย่างวอลเตอร์ ไอแซคสัน (Walter Isaacson) นั้นมีความเสรีในลีลาปลายปากกาเต็มที่ โดยชัดเจนว่าจ็อบส์ไม่ได้ลงมือควบคุมเนื้อหาในหนังสือ แถมในหนังสือนี้มีการเขียนถึงตลกร้ายเรื่องหนึ่งบ่อยครั้ง คือจ็อบส์เคยกล่าวว่าเขาจะไม่อ่านชีวประวัติของตัวเองจนกว่าหนังสือเล่มนี้จะถูกวางขายไปนานไม่ต่ำกว่า 1 ปี

แต่ที่ไหนได้ จ็อบส์รู้ว่ามะเร็งร้ายในร่างกายจะคร่าชีวิตเขาก่อนที่ปีนั้นจะมาถึง และความตายที่เกิดขึ้นก็ทำให้หนังสือเล่มนี้มีอารมณ์สะเทือนใจและเพิ่มอรรถรสในการอ่านมากขึ้นอีก โดยจ็อบส์เสียชีวิตในวันที่ 5 ตุลาคม 2554 ช่วงไม่ถึง 2 สัปดาห์ก่อนที่หนังสือชีวประวัติของตัวเองจะเริ่มวางขายในวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม หลายคนเชื่อกันว่าจ็อบส์นั้นได้มีโอกาสอ่านต้นฉบับหนังสือเล่มนี้แล้วก่อนจะลาโลกไป เพราะคนระดับ "product guy" หรือเรียกง่ายๆว่าเป็นมือสร้างผลิตภัณฑ์อย่างจ็อบส์นั้นสามารถทำเรื่องเกินคาดหมายได้ตลอดเวลา เหมือนกับโลกที่ได้พิสูจน์"ศิลปะ"ในตัวจ็อบส์แล้วจากวิสัยทัศน์ในการปั้นแต่งนานาผลิตภัณฑ์ที่คนทั่วโลกสามารถสัมผัสและมีปฏิสัมพันธ์ตอบโต้กับเครื่องได้ทุกวัน

แม้จะไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่าจ็อบส์ได้มีโอกาสอ่านหนังสือชีวประวัติของตัวเองหรือไม่ แต่สิ่งที่ชัดเจนคือจ็อบส์เป็นผู้ขอออกแบบหน้าปกหนังสือใหม่ ซึ่งเชื่อกันว่าจ็อบส์จะอุทานว่า "sucked" คำติดปากที่เทียบเป็นภาษาไทยได้ว่า "ห่วยเอ๊ย" ทันทีที่ได้เห็นหน้าปกดั้งเดิม
หน้าปกหนังสือชีวประวัติสีขาวดำที่จ้อบส์ออกแบบเอง
จ็อบส์ได้รับอำนาจให้ดูแลการออกแบบหน้าปกหนังสือได้ตามคำขอ การตัดสินใจของไอแซคสัน นักเขียนมือฉมังซึ่งเป็นซีอีโอแห่งสถาบัน Aspen Institute ทำให้หนังสือชีวประวัติของจ็อบส์แลดูสะอาดตาบนธีมสีขาวดำที่จ็อบส์ชื่นชอบ โดยชื่อของหนังสือที่ถูกตัดจนเหลือแค่ “Steve Jobs” ก็ลดความฟุ่มเฟือยของคำห้อยท้ายซึ่งเคยมีมาตลอดในผลงานหนังสือชีวประวัติที่ไอแซคสันเป็นผู้เรียบเรียง เช่น ”Benjamin Franklin: An American Life” หนังสือชีวประวัติเบนจามิน แฟรงคลิน หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสหรัฐอเมริกา หรือ “Einstein: His Life and Universe ” หนังสือชีวประวัติอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ สุดยอดนักวิทยาศาสตร์ของโลก

ภาพของจ็อบส์บนปกหนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในภาพที่นิยมใช้ในบทความยกย่องจ็อบส์ เพราะเป็นภาพที่สะท้อนความมีวิสัยทัศน์ เอกลักษณ์ และแววตาครุ่นคิดผสมผสานกัน มองแล้วเหมือนสายตาของจ็อบส์นั้นจ้องออกมาจากหน้าปกหนังสือ เพื่อคอยหาสิ่งรอบตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงปฏิวัติตลอดเวลา

เกร็ดที่น่าสนใจของหนังสือชีวประวัติที่ขายดีอันดับ 1 ในหลายประเทศขณะนี้คือ จ็อบส์เป็นผู้ขอให้ไอแซคสัน อดีตบรรณาธิการของนิตยสารไทม์เขียนชีวประวัติของตัวเองเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ไอแซคสันยอมรับว่าเป็นข้อเสนอที่แปลกมากเพราะปกติ จ็อบส์เป็นคน"ไม่แคร์สื่อ" ใช้ชีวิตอย่างเป็นส่วนตัวและสันโดษเป็นนิจ

ไอแซคสันเล่าว่าเขาปฏิเสธแทบจะในทันที หนึ่งในเหตุผลที่ให้คือจ็อบส์ยังมีอายุไม่มากพอที่จะต้องคิดถึงการบันทึกความทรงจำของตนเองให้คนรุ่นหลัง โดยไอแซคสันเชื่อว่าชีวิตของจ็อบส์ยังจะต้องเปลี่ยนแปลงอีก แถมบอกว่าอีกสิบปีหรือเมื่อจ็อบส์เกษียณจากแอปเปิลแล้วค่อยมาเจรจากันใหม่
เรื่องราวชีวิตของจ็อบส์เป็นที่สนใจของชาวโลก ในภาพเป็นฝูงชนชาวจีนที่แย่งชิงกันจ่ายเงินซื้อหนังสือชีวประวัติจ็อบส์
เวลานั้นไอแซคสันไม่ทราบว่าจ็อบส์กำลังป่วย และข้อเสนอให้เขียนชีวประวัตินั้นเป็นการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในช่วงที่จ็อบส์กำลังจะยอมรับการผ่าตัด แต่เมื่อได้พูดคุยและรับรู้การต่อสู้กับโรคร้าย ไอแซคสันจึงตกลงเขียนชีวประวัติของจ็อบส์เพื่อถ่ายทอดแนวคิดและแง่มุมของชีวิตที่เปี่ยมด้วยสีสันของจ็อบส์ ซึ่งไอแซคสันระบุว่ามี"นิสัยเจ้าอารมณ์" และความหมกมุ่นเรื่องความต้องการควบคุมสิ่งรอบตัวของสตีฟ จ็อบส์ไว้ด้วย

ไอแซคสันจึงเริ่มสัมภาษณ์จ็อบส์ในปี 2009 ซึ่งเป็นช่วงที่จ็อบส์เริ่มมีร่างกายซูบผอม การสัมภาษณ์มากกว่า 40 ครั้งเกิดขึ้นโดยที่ไอแซคสันยืนยันว่า จ็อบส์การันตีที่จะไม่ปกปิดความลับส่วนตัวใดๆ ขณะที่ไอแซคสันก็รู้สึกว่าการตอบคำถามของจ็อบส์นั้น"เปิดใจ"เล่าเรื่องแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับนักข่าวหรือนักสื่อสารมวลชนค่ายใด โดยไอแซคสันมีเสรีในการสัมภาษณ์คนที่รู้จักจ็อบส์ได้ทุกแง่มุมทั้งครอบครัว เพื่อนรัก และศัตรู มากเท่าที่ต้องการ

ไอแซคสันแบ่งส่วนอุตสาหกรรมที่จ็อบส์มีอิทธิพลเป็น 6 ส่วน ได้แก่ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล, ภาพยนตร์แอนิเมชัน, เพลง, โทรศัพท์มือถือ, สื่อสิ่งพิมพ์ และแท็บเล็ตคอมพิวติง สัมภาษณ์และสะท้อนมุมมองของจ็อบส์ไม่เพียงในแง่อัจฉริยะด้านเทคโนโลยี แต่ยังฉายภาพสุดยอดวิสัยทัศน์ในแต่ละอุตสาหกรรมที่จ็อบส์สนใจ

ที่น่าสนใจคือ บางส่วนของเนื้อหาแสดงถ้อยคำวิจารณ์คู่แข่งทางธุรกิจของจ็อบส์อย่างรุนแรงจนเป็นข่าวดังในช่วงก่อนหน้านี้ เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ถึง"บิล เกตส์" ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ซึ่งจ็อบส์ตอกหน้าว่า เกตส์ไม่ใช่คนมีความคิดสร้างสรรค์และไม่เคยประดิษฐ์ผลงานใดทั้งสิ้น หรือกูเกิล ซึ่งจ็อบส์มองว่ากูเกิลคือขโมยที่นำความคิดของแอปเปิลไปสร้างเป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์

แต่ทุกคนรู้ดีว่า จ็อบส์เป็นผู้บริหารที่จะให้ความเห็นกับสื่อเฉพาะเรื่องที่ต้องการให้เป็นข่าวเท่านั้น ความเห็นจากจ็อบส์ที่ปรากฏในข่าวล้วนเกี่ยวข้องกับสินค้าแบรนด์แอปเปิลเป็นหลัก ไอแซคสันจึงไม่ลังเลที่จะตั้งคำถามจ็อบส์ว่า ทำไมจ็อบส์จึงยอม"เปลือยใจ"และเปิดอกเล่าเรื่องราวของตัวเองให้หนังสือเล่มนี้ ซึ่งปรากฏว่าไม่ใช่เหตุผลด้านการค้า แต่ราชาแห่งแอปเปิลบอกว่าต้องการให้ลูกทั้ง 4 รู้จักและเข้าใจการกระทำของเขามากขึ้นจากหนังสือเล่มนี้
ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต
โลกตื่นตะลึงมากกับการยอมรับครั้งนี้ จ็อบส์รู้ดีว่าการบ้างานทำให้ตัวเองไม่ได้ใกล้ชิดกับลูกทั้ง 4 (ซึ่งเกิดจากการแต่งงาน 1 ครั้งและโดยไม่ตั้งใจ 1 ครั้ง) การหวังให้ลูกเข้าใจการกระทำของตัวเองผ่านหนังสือที่คนอื่นเขียนนั้นไม่ต่างจากละครเรื่องหนึ่ง ที่พ่อและลูกในละครเรื่องนั้นไม่ยอมจับเข่าพูดคุยสื่อความในใจกันเองโดยตรง สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าจ็อบส์เป็นคนธรรมดาที่ยังมีรัก โลภ โกรธ หลง และอัตตาอยู่

เบื้องต้น หนังสือชีวประวัติของจ็อบส์มียอดจำหน่าย 379,000 เล่ม ทำสถิติเป็นหนังสือขายดีอันดับที่ 18 ของปีหลังจำหน่ายเพียง 6 วัน คาดว่าจะอยู่ในตาราง 10 อันดับหนังสือขายดีแห่งปีภายในปีนี้

ต้องยอมรับว่าการวางแผงหนังสือชีวประวัติของจ็อบส์คือสีสันล่าสุดที่เกิดนับตั้งแต่จ็อบส์เสียชีวิต ก่อนหน้านี้ นาทีชีวิตสุดท้ายของจ็อบส์ถูกเปิดเผยโดย"โมนา ซิมป์สัน"น้องสาวของจ็อบส์ซึ่งเขียนบทความเมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมาถึงคำสุดท้ายที่จ็อบส์เปล่งเสียงก่อนหมดลม โมนาเล่าว่าจ็อบส์จ้องมองภรรยาและลูกที่ยืนอยู่เคียงข้างอยู่เนิ่นนาน ก่อนที่จะพูดคำว่า "OH WOW" ออกมา 3 ครั้ง จากนั้นจึงหายใจอย่างติดขัดและหมดลมหายใจในที่สุด

ฉะนั้น คนที่อ่านหนังสือชีวประวัติของจ็อบส์เล่มนี้จบ อาจจะร้องว่า "OH WOW" ซ้ำกัน 3 ครั้งได้อย่างที่จ็อบส์ทำ แต่อย่าเพิ่งหมดลมหายใจไปก็แล้วกัน

Company Related Link :
Apple
กำลังโหลดความคิดเห็น