นักสังเกตการณ์ทั่วโลกส่วนใหญ่ฟันธงว่า การลาออกจากตำแหน่งซีอีโอของสตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) จะมีผลเปลี่ยนแปลงต่อแอปเปิลเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในช่วง 2-3 ปีนับจากนี้ เนื่องจากแผนดำเนินการและกำหนดการคลอดสินค้าช่วง 1-2 ปีนี้ถูกวางแผนล่วงหน้าเรียบร้อยภายใต้การบริหารของจ็อบส์
คำถามที่แท้จริงคืออะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น หลังจากที่แผนเหล่านี้ลุล่วงไปแล้ว และแอปเปิลต้องเดินไปโดยไร้แนวทางที่จ็อบส์เป็นหัวเรือใหญ่ในการตัดสินใจ
แอปเปิลในวันนี้สามารถเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากอันดับ 2 ของโลกนับตั้งแต่จ็อบส์กลับมาบริหารงานในปี 1996 ผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัททั้งไอพ็อด ไอโฟน และไอแพดล้วนทำให้แอปเปิลแตกต่างจากบริษัทอื่นในซิลิกอนวัลเลย์ แอปเปิลกลายเป็น"ผู้สร้างรสนิยม"ไม่ใช่ผู้สร้างซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์ ทั้งหมดนี้ทำให้แอปเปิลถูกคาดหวังว่าจะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อะไรออกสู่ตลาดในอนาคต
แน่นอนว่าสิ่งที่แอปเปิลเป็นในวันนี้ถูกยกให้เป็นความดีของสตีฟ จ็อบส์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ทำงานละเอียดและใส่ใจกับเรื่องเล็กน้อยระดับตำนาน เรื่องนี้วิก กันโดทรา ผู้บริหารกูเกิลเคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเคยได้รับโทรศัพท์สายตรงจากจ็อบส์ในเช้าวันอาทิตย์ เพื่อถกถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาความไม่คมชัดของอักษรตัวหนึ่งในตราสัญลักษณ์กูเกิล ผลงานในวันนั้นปรากฏชัดแล้วบนหน้าจอไอโฟนแสนคมชัด และทิ้งคำถามว่าแอปเปิลจะยังให้ความสนใจกับรายละเอียดมากขนาดนี้หรือไม่เมื่อไม่มีจ็อบส์เป็นผู้กำกับ
ปราการด่านแรกที่จะตอบคำถามข้อนี้ได้คือการหันไปดูที่ซีอีโอคนใหม่ "ทิม คุ้ก" ตัวตายตัวแทนที่ทำหน้าที่กิจวัตรของซีอีโอช่วงที่จ็อบส์ลางานรักษาตัวทั้ง 3 ครั้ง คือในปี 2004, 2009 และล่าสุดคือมกราคมปีนี้
คุ้กนั้นมีดีกรีเป็นหัวหน้าทีมปฎิบัติการของแอปเปิลมานาน 7 ปี ได้รับภารกิจให้เป็นผู้ให้ข้อมูลการเงินของบริษัท พบปะนักลงทุน รวมถึงการเป็นตัวหลักของงานอีเวนต์ที่แอปเปิลจัดเพื่อสาธารณชน แต่ข้อแตกต่างใหญ่ระหว่างคุ้กกับจ็อบส์นั้นคือ "คุ้กไม่ใช่โชว์แมน" หรือคนที่ถูกจับตามอง
คุ้กไม่ใช่คนที่มีหนังสือหลายเล่มเขียนถึง และไม่ได้เป็นศาสดาที่จะมีคนเบียดเสียดแย่งชิงเพื่อเข้าไปชมบารมีในหอประชุม แต่คุ้กเป็นคนที่นำเสนอแบบมีหลักการและเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งปรากฏชัดในงานแถลงรายละเอียดด้านการเงินต่อนักลงทุนทุกครั้งที่คุ้กยืนบนเวที
สำหรับเบื้องหลัง คุ้กคือบุคคลสำคัญที่เปลี่ยนวิถีการผลิตของแอปเปิล นับตั้งแต่การผลิตชิ้นส่วนถึงการประกอบเครื่อง แน่นอนว่ากลยุทธ์การผลิตที่คุ้กวางไว้มีส่วนไม่น้อยในการทำให้แอปเปิลกลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่ทำกำไรและไร้เทียมทานในวันนี้
อีกคำถามที่ตามมาจึงเป็นว่าใครจะมารับหน้าที่แทนคุ้ก ซึ่งในขณะนี้ไม่มีใครรู้ว่าคนผู้นั้นจะมาจากชายคาแอปเปิล หรือจากบริษัทอื่น
***ยังเป็นไปตามแผนบริหาร
สิ่งหนึ่งที่สามารถสรุปได้ในขณะนี้คือแอปเปิลนั้นเตรียมการไว้อย่างดีสำหรับการ"อยู่โดยไม่มีจ็อบส์" จุดนี้หลายสำนักเชื่อว่าการดันคุ้กขึ้นมาเป็นซีอีโอคือหนึ่งในแผนนั้นด้วย รวมถึงการรั้งจ็อบส์ไว้ในตำแหน่งประธานบริษัท
แน่นอนว่าคุ้กไม่ได้ทำงานคนเดียว ยังมีสก็อตต์ ฟอร์สตอล ผู้สร้างซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการบันลือโลก iOS และโจนาธาน อีฟ หัวเรือใหญ่ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์แอปเปิล ทั้ง 2 ได้รับการเพาะบ่มความเป็นแอปเปิลโดยเฉพาะด้านปรัชญาในการออกแบบ จนถูกคาดหวังว่าจะทำให้บริษัทสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดได้แม้ในวันที่ไม่มีจ็อบส์ ถือว่ายังอยู่ในแผนบริหารดั้งเดิมของแอปเปิล
แต่คำถามก็ยังมีอยู่ เพราะก่อนหน้านี้หัวหน้าทีมออกแบบอย่างอีฟนั้นมีข่าวว่ากำลังจะลาออกจากแอปเปิลเนื่องจากหมดสัญญาอายุ 3 ปี ทำให้หลายคนคลางแคลงใจว่าอีฟจะยังอยู่กับแอปเปิลไปอีกนานเท่าใด ซึ่งหากวันนั้นมาถึง ผลผลิตของแอปเปิลก็อาจเปลี่ยนไปเพราะอีฟคือผู้ดูแลหลักการออกแบบเครื่องโดยรวม
สำหรับฟอร์สตอลซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างชื่อระบบปฏิบัติการ OS X กระทั่งล่าสุดคือ iOS สิ่งที่เกิดขึ้นคือฟอร์สตอลจะได้รับแรงกดดันมากขึ้นเพราะความสำคัญของ iOS ซึ่งถูกใช้ในทุกผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลทั้งไอโฟน ไอแพด ไอพ็อด แอปเปิลทีวี รวมถึงอีกหลายผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่มีการประกาศออกมา ผลิตภัณฑ์ iOS เหล่านี้ทำรายได้ให้แอปเปิลเกินครึ่งในแต่ละไตรมาส ทำให้ฟอร์สตอลต้องวางเดิมพันไว้กับการทำให้ iOS สามารถผลักให้ฮาร์ดแวร์แอปเปิลได้รับความนิยม
อีกสิ่งที่อยู่ในแผนซึ่งแอปเปิลยังไม่เปิดเผย คือใครจะมาคุมบังเหียนร้านค้าปลีกแทน"รอน จอห์นสัน" หัวหน้าทีมค้าปลีกแอปเปิลที่ขยายอาณาจักรแอปเปิลจนมีร้านค้าปลีกมากกว่า 300 แห่งทั่วโลก โดยต้นปีที่ผ่านมา จอห์นสันประกาศแล้วว่าจะย้ายไปเป็นซีอีโอให้กับยักษ์ใหญ่ค้าปลีกอเมริกันอย่างเจ.ซี.เพนนี (J.C. Penney)
ผู้ที่จะมาคุมแผนกค้าปลีกของแอปเปิลนั้นถูกจับตาอย่างมากในขณะนี้ เพราะร้านค้าปลีกของแอปเปิลนั้นแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นอย่างเห็นได้ชัด การต่อยอดจากความสำเร็จที่มีอยู่แล้วจึงเป็นเรื่องสำคัญที่แอปเปิลไม่อาจมองข้าม
***ไอพ็อดอาจต้องวางมือ
ผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยนโฉมแอปเปิลจากผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ (ในยุคที่บริษัทยังใช้ชื่อ Apple Computer) อย่างไอพ็อดถูกมองว่าจะกลายเป็นตำนานไปในวันใดก็วันหนึ่ง ซึ่งมีโอกาสสูงมากที่จะเป็นวันที่อยู่ในยุคของซีอีโอคุ้ก
ไอพ็อดไม่ใช่ผลิตภัณฑ์หลักที่ทำเงินให้แอปเปิลอีกต่อไปเมื่อเทียบกับไอโฟนและไอแพด แม้แอปเปิลยังคงจำหน่ายไอพ็อดทัช ไอพ็อดนาโน ไอพ็อดคลาสสิก และไอพ็อดชัฟเฟิลอยู่ในขณะนี้ จุดนี้ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่าแอปเปิลจะหยุดการผลิตไอพ็อดไปในอนาคต ซึ่งเป็นยุคที่อุปกรณ์รอบข้างมนุษย์มีความสามารถในการเล่นมัลติมีเดียครบเครื่อง
อย่างไรก็ตาม การวางมือของไอพ็อดถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่เพียงการเป็นผลิตภัณฑ์แรกที่ทำให้แอปเปิลสามารถเข้าถึงตลาดคอนซูเมอร์อย่างเป็นรูปธรรม แต่หลังการเปิดตัวในปี 2001 สิ่งที่คลานตามออกมาหลังไอพ็อดก็คือไอจูนส์ (iTunes) บริการร้านขายคอนเทนต์ออนไลน์ที่สามารถต่อยอดนานาผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลได้ในวันนี้ ทั้งหมดสะท้อนว่าแบรนด์ไอพ็อดเปี่ยมด้วยความหมายต่อแอปเปิล ซึ่งอาจทำให้แอปเปิลตัดสินใจพัฒนาไอพ็อดต่อไปอีกระยะ เช่นที่ไอพ็อดทัชถูกพัฒนาขึ้น
***เน้นโทรศัพท์
4 ปีหลังจากแอปเปิลเปิดตัวไอโฟนรุ่นแรก วันนี้โลกได้เห็นไอโฟน 4 รุ่นออกมาบีบหัวใจสาวกแอปเปิลทั่วโลก ดังนั้นเชื่อขนมกินได้ว่าแอปเปิลจะยังยึดแนวทางนี้ต่อไป เพื่อบุกตลาดคอฮัลโหลทั่วโลกในฐานที่กว้างขึ้น
คำถามที่รออยู่ไม่ได้เป็นของไอโฟนรุ่นถัดไป ซึ่งยังไม่รู้ว่าแอปเปิลจะให้ชื่อ iPhone 5 หรือ iPhone 4S แต่อยู่ที่ไอโฟนรุ่นที่จะถูกพัฒนาในช่วง 3 ปีถัดจากนี้ จุดนี้นักวิเคราะห์เชื่อว่าแอปเปิลจะสามารถคงเอกลักษณ์ของไอโฟนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสไตล์แอปเปิลในเครื่องรุ่นใหม่ได้อย่างไม่ยาก บนการเจรจากับโอเปอเรเตอร์ผู้จำหน่ายเครื่องที่กว้างกว่าเดิม
ดังนั้นออร่าหรือรังสีของไอโฟนจึงมีโอกาสสูงมากว่าจะยังเจิดจรัสอยู่ต่อไป
***ไอแพดเสี่ยงที่สุด
สินค้าที่ถูกมองว่ามีความเสี่ยงที่สุดในยุคการบริหารของซีอีโอคุ้กคือน้องใหม่อย่างไอแพด (iPad) แท็บเล็ตที่ไม่ใช่เครื่องเล่นมัลติมีเดีย ไม่ได้เป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และต่างจากสมาร์ทโฟนเครื่องนี้ถูกมองว่าจะท้าทายการบริหารของคุ้กในช่วง 3 ปีข้างหน้า
เพราะวันนี้ความสำเร็จของไอแพดยังไม่แน่นอน แม้จะชัดเจนว่าไอแพดสามารถโกยส่วนแบ่งตลาดได้อย่างไม่มีใครเทียบ แต่ในระยะยาว ไอแพดมีความเสี่ยงถูกโจมตีทั้งด้วยสงครามราคาและสงครามฟีเจอร์ที่ค่ายผู้ผลิตคอมพิวเตอร์พีซีและสมาร์ทโฟนจะสู้แบบถวายหัว เพื่อหนีภาวะเสี่ยงใน"ยุคหลังพีซี"ซึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป
ไอแพดนั้นถูกมองว่าเป็นผลงานความสำเร็จของจ็อบส์ ซึ่งร่ายมนต์วิเศษจนทำให้ไอแพดสามารถเติมเต็มช่องว่างระหว่างสมาร์ทโฟนและแล็ปท้อปแบบที่ไม่มีใครทำได้มาก่อน โดยจ็อบส์ถูกยกให้เป็นพ่อมดที่สามารถเรียกใจนักพัฒนาทั่วโลกจนทำให้ iOS มีแอปพลิเคชันที่รองรับมากที่สุดในโลก มนต์ขลังนี้กลายเป็นความท้าทายว่า ซีอีโอคุ้กจะสามารถ"สร้างรอยัลตี้"หรือความภักดีในแอปเปิลจากนักพัฒนาทั่วโลกไว้เช่นเดิมได้หรือไม่
***แมคอินทอชจะยังเป็นหลัก
ก่อนไอพ็อด ไอโฟน และไอแพด แอปเปิลมีธุรกิจจำหน่ายคอมพิวเตอร์แมคอินทอชอยู่ จุดนี้เชื่อว่าแมคอินทอชจะยังคงเป็นธุรกิจหลักของบริษัทเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
เหตุผลสำคัญคือเพราะแมคอินทอชยังเติบโตต่อเนื่องแม้ในช่วงที่สินค้า iOS นั้นรุ่งเรืองสุดขีด หลายปีที่ผ่านมาแอปเปิลพัฒนาแมคอินทอชทั้งคุณภาพและการออกแบบ รวมถึงการยืดเวลาอายุแบตเตอรี่ มีทั้งการเพิ่มสายผลิตภัณฑ์ใหม่อย่าง Mac Mini และ MacBook Air ทั้งหมดเบาขึ้น บางลง แต่ราคาถูกลงกว่าเดิม
นอกจากแมคอินทอช แอปเปิลอาจมีแผนเข้าสู่ตลาดระบบความบันเทิงในบ้านมากกว่าเดิม ไม่เพียงส่งระบบอุปกรณ์เสริมสำหรับทีวี Apple TV เข้าสู่ห้องนั่งเล่นของครัวเรือนสาวกแอปเปิลเท่านั้น แต่ยังอาจมีโครงการที่ขยายไปถึงอุตสาหกรรมเกมและสื่ออื่นๆมากขึ้น ทั้งหมดนี้จะเป็นรูปเป็นร่างเมื่อแอปเปิลสามารถเปิดให้บริการ iCloud.com บนคลาวด์คอมพิวติงอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นหนึ่งในมรดกชิ้นสำคัญที่จ็อบส์ทิ้งไว้ให้ซีอีโอคุ้ก เพื่อเป็นทิศทางผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลในอนาคต
สิ่งสำคัญที่สุดที่จะเกิดขึ้นในช่วง 3 ปีนับจากนี้ คือการจับตาพร้อมเคลื่อนไหวของนักลงทุน คุ้กนั้นไม่ใช่จ็อบส์ และต้องอาศัยเวลาในการสร้างชื่อและผลงานอีกหลายปี ซึ่งไม่ว่าแผนที่มีอยู่เดิมจะดีเพียงไร ผลที่สุดแล้วความสำเร็จของแผนย่อมขึ้นอยู่กับการบริหารของคุ้กเอง
***ประวัติ "ทิม คุ้ก" ซีอีโอใหม่แอปเปิล
ทิม คุ้ก หรือ Timothy D. Cook คือผู้ที่จะมานั่งเก้าอี้ซีอีโอแอปเปิลแทนสตีฟ จ็อบส์ ซึ่งยื่นใบลาออกจากตำแหน่งซีอีโอแอปเปิลอย่างเป็นทางการเมื่อวันพุธที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา
คุ้กนั้นมีอายุ 50 ปีในขณะนี้ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัย Auburn University และระดับปริญญาตรีสาขาบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัย Duke University เคยร่วมงานกับแอปเปิลตั้งแต่ปี 1998 ในฐานะรองประธานอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการทั่วโลก (senior vice president of worldwide operations) ได้รับการยอมรับในฐานะผู้แก้ปัญหาสายการผลิตล่าช้าในขณะนั้น ก่อนจะก้าวกระโดดมาเป็นประธานฝ่ายปฏิบัติการหรือซีโอโอของแอปเปิลในปี 2005
ก่อนร่วมงานกับแอปเปิล คุ้กเคยเป็นรองประธานธุรกิจสินค้ากลุ่มองค์กรให้กับ Compaq Computer ซึ่งถูกเอชพี (Hewlett-Packard Co.) ควบรวมไป และเคยร่วมบริหารบริษัท Intelligent Electronics ตั้งแต่ปี 1994 ถึง 1997 ซึ่งเป็นช่วงที่คุ้กเพิ่งเดินออกจากยักษ์ใหญ่สีฟ้าไอบีเอ็ม (International Business Machines Corp.) โดยคุ้กเคยทำงานกับไอบีเอ็มตั้งแต่ปี 1983 ถึง 1994 เบ็ดเสร็จ 12 ปีพอดี
อีกบทบาทหนึ่งของคุ้กคือการเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารแบรนด์เสื้อผ้ารองเท้านักกีฬาชื่อดัง "Nike" ซึ่งปรากฏเป็นข่าวมาตั้งแต่ปลายปี 2005
สื่อต่างประเทศบางแห่งระบุว่า คุ้กนั้นเป็นผู้ชื่นชอบกีฬาที่เน้นการออกกำลังอย่างการปีนผาและปั่นจักรยาน ส่วนตัวเข้าออกยิมเพื่อออกกำลังกายเป็นประจำ บางรายงานระบุว่าคุ้กจะเริ่มส่งอีเมลฉบับแรกตอนตีสี่ครึ่งเป็นประจำทุกวัน และจะโทรศัพท์หาทีมงานเพื่อเตรียมงานในอาทิตย์ถัดไปทุกคืนวันอาทิตย์
สำหรับการก้าวขึ้นมารับตำแหน่งแทนจ็อบส์ คุ้กได้รับหุ้นของบริษัทจำนวน 1 ล้านหุ้น ซึ่งนับเป็นโบนัสที่มีมูลค่าสูงกว่า 383 ล้านดอลล่าร์ หรือราว 11,400 ล้านบาท ตามมูลค่าหุ้นในปัจจุบันของแอปเปิล โดยแอปเปิลรายงานเรื่องการมอบหุ้นให้ซีอีโอคนใหม่ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐแล้ว โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือหุ้นจำนวนครึ่งหนึ่งในปี 2016 และที่เหลือในปี 2021
Company Related Link :
Apple