xs
xsm
sm
md
lg

“เฟซบุ๊ก VS กูเกิล พลัส” ใครเหนือกว่ากัน (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นกระแสร้อนแรงทันที เมื่อ “กูเกิล” เบียดเวลาจากการทำศึกสงครามโอเอสบนสมาร์ทดีไวซ์ มาตั้งตัวเปิดศึกกับเจ้าพ่อโซเชียลมีเดีย “เฟซบุ๊ก” ของ “มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก” ด้วยการคลอดโครงการ “กูเกิล พลัส” (Google+) ที่จัดเต็มทุกสิ่งอย่างที่มีในเฟซบุ๊ก แม้กระทั่งคอนเซ็ปต์ ทำให้ กูเกิล พลัส เป็นโซเชียลมีเดียสำหรับการแบ่งปันข้อความ รูปภาพ วิดีโอ หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเพื่อนและกลุ่มเพื่อน เฉกเช่นเดียวกับเฟซบุ๊ก

จุดต่างที่ “กูเกิล” พยายามสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นภายในโครงการกูเกิล พลัส หลังจากเคยล้มเหลวกับการต่อกรกับเฟซบุ๊กมาแล้ว ก็คือ เน้นเรื่องความเป็นส่วนตัวที่ดีกว่า “เฟซบุ๊ก” รวมถึงการพยายามนำบริการต่างๆ ที่กูเกิลเคยถือครองไว้ เช่น “Google Buzz” ฟังก์ชันเกี่ยวกับรูปภาพ “Picasa” หรือ “Google Talk” มาปัดฝุ่นพัฒนาใหม่และผูกรวมกับบริการบนสมาร์ทโฟนและระบบคลาวด์ พร้อมส่งบริการเหล่านั้นเข้าตบหน้าแย่งพื้นที่ความเป็นหนึ่งจากเฟซบุ๊กมาให้ได้

แน่นอนว่าเมื่อมีคนมากระตุกหนวดเจ้าพ่อ มีหรือเจ้าพ่อจะนิ่งเฉย เฟซบุ๊กจึงต้องรีบเข็น “ไม้ตาย” บริการใหม่ใน Project Spartan ออกมาสู้กับกูเกิลอย่างถึงพริกถึงขิง และทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าจับตามองเกิดขึ้นมากมายในโลกของ 2 ยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดีย

หน้าตา-ใช้งานคล้ายกัน แต่กลยุทธ์ต่างกัน

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นเรื่องน่าขบคิดเกี่ยวกับหน้าตาและการใช้งานบางคำสั่ง อย่างการติดแท็กรูปของกูเกิล พลัส ที่ดูคล้ายคลึงกับเฟซบุ๊กราวกับแกะมาจากพิมพ์เดียวกัน ตรงจุดนี้นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่า เป็นเพราะความสำเร็จของบริการเฟซบุ๊กที่ปัจจุบันมีผู้ใช้ทั่วโลก 750 ล้านคน ซึ่งผู้ใช้ส่วนใหญ่คุ้นเคยกับหน้าตาของเฟซบุ๊กอยู่แล้ว อาจเป็นเหตุให้กูเกิลจำเป็นต้องออกแบบหน้าตารวมถึงการวางตำแหน่งต่างๆ ให้คล้ายกับหน้าเพจเฟซบุ๊ก เพื่อผู้ใช้ที่คิดจะย้ายจากเฟซบุ๊กมาสู่กูเกิล พลัส สามารถเรียนรู้การใช้งานได้รวดเร็วขึ้น

ในส่วนกลยุทธ์ ถ้าดูเผินๆ แล้วเหมือนจะคล้ายกันด้วยแนวคิด “แบ่งปันสิ่งต่างๆ ไปยังเพื่อนหรือกลุ่มเพื่อน” แต่ถ้าวิเคราะห์ให้ลึกลงไปแล้วจะเห็นว่ามีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยตัวเฟซบุ๊กจะเน้นเรื่องของการเชื่อมโยงกลุ่มเพื่อนและตัวบุคคลเข้าหากันหรือพูดง่ายๆ ก็คือ ต้องการให้เรามีเพื่อนมากๆ มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนที่หลากหลายและเป็นเหตุผลทำให้ผู้ใช้ส่วนใหญ่ที่ใช้งานเฟซบุ๊กมักพบเจอเพื่อนเก่าสมัยอนุบาลหรือประถมได้ง่าย

ในขณะที่กูเกิล พลัส จะเน้นรูปแบบการเข้าถึงความเป็นส่วนตัวเป็นหลัก อย่างการโพสต์ข้อความ รูปภาพ หรือแม้แต่ลิงค์เว็บไซต์ต่างๆ ผู้ใช้สามารถเลือกข้อความเหล่านั้นให้ไปปรากฏที่กลุ่มเพื่อนหรือตัวบุคคลใดก็ได้ เพราะฉะนั้น ระบบการจัดสรรกลุ่มเพื่อนที่เรียกว่า Circle จึงถูกชูโรงตั้งแต่โครงการกูเกิล พลัส ยังเป็นตัวอ่อน และดูเหมือนว่ากูเกิลจะชูเรื่องดังกล่าวเป็นจุดขายหลัก ซึ่งถึงแม้เฟซบุ๊กจะสามารถตั้งค่าความเป็นส่วนตัวได้เฉกเช่นกูเกิล พลัส แต่การตั้งค่าเหล่านั้นยุ่งยากและซับซ้อนเกินไป
แผนภาพแสดงว่า คุณสมบัติเครือข่ายสังคมของกูเกิล พลัส สามารถเปิดใช้งานได้ด้วยการคลิกที่คำว่า +You บนแถบเมนูของ Google.com
สงครามฟีเจอร์ระอุ

ด้วยความที่กูเกิล พลัส คลอดหลังเฟซบุ๊กอยู่หลายปี ทำให้กูเกิลสามารถนำข้อบกพร่องและช่องโหว่ต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับเฟซบุ๊กมาพัฒนาและต่อยอด ปรับปรุงโครงการกูเกิล พลัส ให้ดีกว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ เรื่องการเกิดระบบวิดีโอคอลผ่านหน้าเว็บเพจ ที่กูเกิลตั้งชื่อให้ว่า “Hangout” ซึ่งมาพร้อมความสามารถในการสนทนากลุ่มพร้อมกันได้ถึง 10 คน

รวมถึงความสามารถในการดึงคลิปยูทูปมาประกอบการสนทนา และฟีเจอร์เด็ดๆ อีกจำนวนมากที่เรียกความสนใจให้ขาโซเชียลเน็ตเวิร์กอยากทดลองใช้ ดังจะเห็นได้จากยอดขอเข้าใช้ กูเกิล พลัส ที่พุ่งสูงจนทางกูเกิลต้องจำกัดจำนวนคนที่สามารถสมัครกูเกิล พลัส ไว้เนื่องจากกูเกิลกลัวว่าเซิร์ฟเวอร์ที่เปิดให้ทดลองใช้งานจะรับจำนวนผู้ขอเข้าใช้บริการได้ไม่เพียงพอ

เมื่อเรื่องดังกล่าวถึงหู เฟซบุ๊กมีหรือจะนิ่งเฉย เฟซบุ๊กจึงของัดไม้เด็ดเข้าจับมือกับสไกป์และเปิดบริการ Video Calling ขึ้นห่างจากเวลาที่กูเกิลเปิดทดสอบพลัสและ Hangout ไม่กี่วัน

นอกจากนั้น ฟีเจอร์คลาวด์อย่าง Instant Upload ก็ถือเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ชูโรงที่กูเกิลตั้งใจงัดข้อกับ Facebook Upload ด้วยการพยายามผนวกบริการ Picasa ที่กูเกิลเปิดตัวมาอย่างเงียบๆ หลายปี กับกูเกิล พลัส ไว้ด้วยกัน โดยระบบดังกล่าวมีข้อดีอยู่ที่ความสามารถในการดึงรูปภาพจากสมาร์ทโฟนที่ลงแอปฯ กูเกิล พลัส ไว้มาเก็บบน Private Album ในระบบคลาวด์ของกูเกิลอย่างอัตโนมัติ คล้ายการทำงานของ Photo Stream บน iOS 5 ทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกแชร์รูปภาพไปยังที่ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

อีกทั้งในอนาคตกูเกิลก็มีแผนจะนำบริการเว็บบล็อกชื่อของตนอย่าง Blogspot มาปรับปรุงและผนวกรวมกับกูเกิล พลัสเพื่อเข้างัดข้อกับฟีเจอร์ สมุดบันทึก (Notes) ของเฟซบุ๊กเช่นกัน

ศึกพระรองสมาร์ทโฟน

ถ้าจะกล่าวว่าหน้าตาโปรแกรมสำหรับใช้บนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (เดสก์ท็อปเว็บ) ของเฟซบุ๊กและกูเกิล พลัส คือพระเอกที่กำลังฟาดฟันแย่งชิงความเป็นที่หนึ่ง พระรองตอนนี้ต้องโซเชียลมีเดียบนสมาร์ทโฟนที่ใช้แอปพลิเคชันเป็นตัวเชือดเฉือนกัน แต่จะแตกต่างกันในส่วนของการทำงานและการรองรับแพลตฟอร์มต่างๆ อย่างเฟซบุ๊กที่ครอบคลุมแพลตฟอร์มของสมาร์ทโฟนตั้งแต่ ไอโอเอส แอนดรอยด์ แบล็กเบอร์รี หรือแม้กระทั่งฟีเจอร์โฟนหลากหลายรุ่น ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของเฟซบุ๊กที่สามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่มคน

แตกต่างจากแอปฯ กูเกิล พลัส ที่ในปัจจุบันยังรองรับแค่แอนดรอยด์โฟน และในอนาคตกับไอโอเอสเท่านั้น

ส่วนด้านการทำงานของตัวแอปฯ หลักๆ สำหรับเฟซบุ๊กจะเน้นการทำงานให้เหมือนกับหน้าเดสก์ท้อปเว็บเป็นหลัก ลูกเล่นต่างๆ นอกเหนือจากหน้าเว็บจะไม่ถูกเน้นมากนัก ยกเว้นพวก 3rd Party จะพัฒนาขึ้นมาเอง ซึ่งต่างจากกูเกิล พลัส ที่มีดีกรีความเป็นผู้พัฒนาแอนดรอยด์โฟน ทำให้กูเกิลมองเห็นช่องทางมัดใจเหล่าสาวกสมาร์ทโฟนได้ง่ายกว่าเฟซบุ๊กและพยายามสร้างเครือข่ายสังคมที่สองขนานกับกูเกิล พลัส ในชื่อว่า Huddle ขึ้นมา

Huddle นั้นเป็นทั้งแอปฯ และระบบแชตในกูเกิล พลัส ที่เด่นในเรื่องการทำงานได้ด้วยตัวของตัวเอง กล่าวคือ แอปฯ Huddle ในสมาร์ทโฟนที่ปัจจุบันมีเฉพาะระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ จะทำงานคล้ายกับแอปฯ ที่ใช้สนทนาอย่าง Whatsapp หรือ BBM ที่มีข้อดีอยู่ที่ระบบเตือนเมื่อมีข้อความเข้าแบบ Real Time ซึ่งต่างจาก Facebook Chat บนสมาร์ทโฟน (ที่ไม่ใช่ 3rd Party) จะเป็นเพียงฟีเจอร์ในแอปฯ ตัวหนึ่งเท่านั้น

แต่สุดท้ายต้องอย่าลืมว่าเฟซบุ๊กสามารถรองรับแพลตฟอร์มได้ทั้งสมาร์ทโฟนและฟีเจอร์โฟนเกือบทุกรุ่น ในขณะที่กูเกิล พลัส จะเน้นรองรับเพียงแค่สมาร์ทโฟน ซึ่งกูเกิลมองว่าในอนาคตมีโอกาสเติบโตได้สูงกว่าฟีเจอร์โฟนที่นับวันจะเริ่มสูญหายไป
สัญลักษณ์บริการ Google Plus
ใครจะอยู่ใครจะไป

ด้วยจุดประสงค์และการใช้งานที่คล้ายกัน แต่แตกต่างกันที่กลยุทธ์ ทำให้ทั้งเฟซบุ๊กและกูเกิล พลัส เป็นคู่แข่งที่คงต้องฟาดฟันแย่งความเป็นที่หนึ่งกันอีกนาน ถ้าวิเคราะห์ศึกครั้งนี้ ดูจากภายนอกแล้วเหมือนกูเกิล พลัส จะถือไพ่เหนือกว่าเฟซบุ๊กในเรื่องฟีเจอร์ที่สดใหม่ และตอบสนองความเป็นโซเชียลมีเดียได้ดีกว่า เช่น หลายๆ จุดที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กมักบ่นมาเนิ่นนานอย่างเรื่องความไม่เป็นส่วนตัว หรือ เรื่องของแอปฯ บนสมาร์ทโฟนที่พัฒนาออกมาแบบสุกเอาเผากิน จนผู้ใช้หันไปพึ่งแอปฯ จากบริษัทอื่น (3rd Party)

แต่ในกูเกิล พลัส เรื่องเหล่านั้นได้ถูกแก้ไขทั้งหมด แถมยังได้ความเป็นโซเชียลสไตล์มือถือติดตั้งมาให้ใช้งาน จนมีหลายความคิดเห็นกล่าวเหน็บแนมกูเกิล พลัส ว่า “เป็นเฟซบุ๊กเวอร์ชันใหม่ ที่กูเกิลพัฒนา” เพราะด้วยหน้าตาที่ดูเหมือนลอกกันมา และระบบบางส่วนอย่างการสั่งแท็กรูป หรือพวกฟังก์ชันแนะนำเพื่อนใหม่แบบอัตโนมัติที่เคยเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเฟซบุ๊กก็ถูกบรรจุมาบน กูเกิล พลัส ด้วย

แต่ทั้งนี้ใช่ว่าของใหม่บนโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กจะดีกว่าเสมอไป เพราะอย่าลืมว่าเฟซบุ๊กมีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก และมีชื่อเสียงสั่งสมมานาน ยิ่งนับรวมกับแอปพลิเคชันภายในอย่าง เกม หรือ Quiz ต่างๆ ที่มีบริษัทผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงจากภายนอกหันมาพัฒนาอย่างจริงจัง และมีผู้ใช้บางกลุ่มที่ไม่ใช่ขาโซเชียลให้ความสนใจด้วยแล้ว

งานนี้กูเกิลที่กำลังอยู่ในช่วงจุดพลุให้โครงการพลัสอาจหืดขึ้นคอได้ เพราะเท่าที่สังเกตตอนนี้ โครงการกูเกิล พลัส ในรุ่นทดสอบยังเป็นเพียงโซเชียลมีเดียที่มีดีแค่รูปแบบการใช้งานและฟีเจอร์เด็ดๆ เท่านั้น แต่สำหรับเรื่องของแอปฯ และลูกเล่นต่างๆ ในกูเกิล พลัส ยังไม่มี เพราะกูเกิลยังไม่พร้อมจะแจก API ให้บรรดาผู้พัฒนาได้ในตอนนี้

หากนับรวมเสียงวิพากษ์วิจารณ์กูเกิล พลัส จากประชาชนผู้ใช้ทั่วไปตอนนี้ กูเกิล พลัส “สอบผ่านฉลุย”ในเรื่องฟีเจอร์และการใช้งาน แต่เรื่องความประทับใจแรกเห็นตั้งแต่รุ่นทดสอบ ซึ่งจำกัดเฉพาะผู้ใช้ที่มีบัญชี GMail เท่านั้น อีกทั้งด้วยการใช้งานครั้งแรกที่สร้างความงงงวยให้กับผู้ใช้ทั่วไป เพราะระบบ Circle และการอธิบายรูปแบบใช้งานที่หน้าแรกของเว็บไม่ชัดเจน

งานนี้กูเกิลคงต้องทำการบ้านให้หนักกว่านี้และคงต้องยกให้เฟซบุ๊กอยู่เหนือกว่ากูเกิล พลัส ในเรื่องของรูปแบบการใช้งานไปก่อน ส่วนในเรื่องของฟีเจอร์และอนาคต เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว กูเกิล พลัส ก็อาจมีโอกาสเติบโตได้ดีกว่า

Company Related Link :
Facebook
Google+
กำลังโหลดความคิดเห็น