xs
xsm
sm
md
lg

ทำเงินบนโลกไอที (65) : เจาะลึกธุรกิจโดเมน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ร้านค้าสามารถรับลูกค้ารายใหม่ได้ตลอดเวลา เพราะการเปิดหน้าร้านออนไลน์
ทำเงินบนโลกไอทีสัปดาห์นี้ได้รับเกียรติจาก"เพ็ญศรี อรุณวัฒนามงคล" กรรมการผู้จัดการบริษัท ดอท อะไร จำกัดซึ่งจะมาฉายภาพให้ทุกคนเห็นวงจรการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโดเมนเนม แถมตบท้ายด้วยเคล็ดไม่ลับที่ทุกธุรกิจซึ่งมีเว็บไซต์ของตัวเองควรระวังให้ดีเพื่อป้องกันไม่ให้เสียลูกค้าออนไลน์ไปอย่างไม่คาดฝัน

***รวยกับธุรกิจโดเมน
โดย เพ็ญศรี อรุณวัฒนามงคล กรรมการผู้จัดการบริษัท ดอท อะไร จำกัด

ก่อนไปเจาะลึกถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโดเมน เพื่อจะดูว่ามีวิธีใดบ้างที่สามารถนำธุรกิจของเราเข้าไปยังช่องทางออนไลน์เพื่อให้เกิดรายได้สูงสุด คุณควรรู้ว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโดเมนมีหลายประเภท แบ่งคร่าวๆ ออกเป็นสามประเภทดังนี้

1. ธุรกิจทั่วไปที่ขายสินค้าหรือให้บริการ โดยจะเป็นสินค้าอะไรก็ได้ บริการประเภทไหนก็ได้ ที่ไม่เกี่ยวกับโดเมนเลย ได้ตั้งแต่ธุรกิจ รถเข็น ร้านก๋วยเตี๋ยว สปา ขายเพชร คอนโด โรงแรม ทำเล็บ ดำน้ำ กวดวิชา เป็นต้น
2. ธุรกิจพัฒนาและดูแลเว็บไซต์
3. ธุรกิจผู้ให้บริการพื้นที่เว็บไซต์และรับจดทะเบียนโดเมน

ธุรกิจประเภทที่ 1 เป็นธุรกิจทั่วไปซึ่งไม่เกี่ยวกับโดเมนเลย แต่ธุรกิจประเภทที่ 1 นี่เองที่ทำให้เกิดธุรกิจประเภทที่สองและที่สาม

ธุรกิจประเภท 1 คือธุรกิจทั่วไปที่ขายสินค้าหรือให้บริการกันอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งหากต้องการที่จะเติบโตเปิดตลาดไปสู่ผู้คนทั่วประเทศ-ทั่วโลก ก็สามารถเริ่มต้นด้วยการทำเว็บไซต์ ซึ่งเปรียบเสมือนหน้าร้านบนโลกออนไลน์นั่นเอง

ในปัจจุบันที่สังคมออนไลน์เติบโตอย่างรวดเร็ว อุปกรณ์สื่อสาร อำนวยความสะดวกให้กับการเข้าถึงสื่อและข้อมูลข่าวสารออนไลน์ได้ด้วยปลายนิ้ว การมีเว็บไซต์จะช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงร้านออนไลน์ได้สะดวกและรวดเร็วอย่างมาก

เมื่อสองเดือนก่อนผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยือนเชียงใหม่ พบว่าร้านน้ำส้มบริเวณม.ช. หน้าสวนสุขภาพ รวมถึงรถเข็นขายไส้กรอกอีสานที่ถนนนิมมานเหมินทร์ และอีกหลายๆร้าน มีลูกค้าใส่พิกัดออนไลน์ไว้แล้ว ซึ่งทำให้กลุ่มของผู้เขียนแวะไปใช้บริการร้านเหล่านี้ได้ แต่จะดีแค่ไหนถ้าเจ้าของร้านเป็นคนที่ใส่ข้อมูลของร้านเอง เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักร้านมากขึ้น เช่น ชื่อร้าน ตำแหน่งพิกัด แผนที่ เบอร์โทร และรูปร้านหรือสินค้าของร้าน ซึ่งนอกจากจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ ดูน่าเชื่อถือแล้ว ยังเป็นการทำให้กลุ่มเป้าหมายอยากเข้ามาใช้บริการของเราเพิ่มขึ้นอีกด้วย

คิดในมุมกลับกัน หากผู้บริโภคต้องการค้นหาสินค้าหรือบริการที่ท่านให้บริการอยู่ แต่ผู้บริโภคไม่สามารถค้นพบร้านของท่านได้ เนื่องจากธุรกิจของท่านยังไม่มีหน้าร้านออนไลน์ แต่ร้านอื่นๆ ที่มีสินค้าและบริการใกล้เคียงกัน มีหน้าร้านออนไลน์แล้ว ลูกค้าก็จะมีโอกาสค้นเจอร้านดังกล่าว และท่านก็จะต้องเสียกลุ่มเป้าหมายนั้นไปทันที

พฤติกรรมของผู้คนบนสังคมออนไลน์ในปัจจุบันจะใช้อุปกรณ์สื่อสารพกพา เข้าสู่อินเทอร์เน็ตเพื่อค้นหาร้านที่เค้าต้องการมากขึ้นทุกวัน ดังนั้นไม่ว่าธุรกิจของคุณจะใหญ่เล็กแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็น ร้านขายยาหน้าตลาด ร้านไอติมโบราณหน้าวัด ร้านตัดผมบนห้างดัง หรือร้านสปาหรูใจกลางเมือง ก็ควรมีเว็บไซต์หรือหน้าร้านออนไลน์ เพื่อเปิดช่องทางใหม่และเปิดประตูธุรกิจของคุณ ไปสู่กลุ่มลูกค้าที่อยู่บนสังคมออนไลน์ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 20 ล้านคนในประเทศ และ มากกว่าสองพันล้านคนทั่วโลก

ธุรกิจหากตัดสินใจก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์แล้ว สิ่งแรกที่ควรตัดสินใจคือการเลือกชื่อโดเมน ซึ่งหากเปรียบกับโลกในความเป็นจริงแล้ว ชื่อโดเมนก็คือชื่อของธุรกิจนั้นเอง ชื่อโดเมนจึงเปรียบได้กับแบรนด์ของสินค้าหรือธุรกิจ การเลือกชื่อโดเมนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

หากเป็นธุรกิจที่ตั้งขึ้นมานานแล้วและชื่อของธุรกิจเป็นที่รู้จักในแวดวงลูกค้าอยู่บ้างแล้ว การสร้างหน้าร้านออนไลน์ก็ควรใช้ชื่อเดียวกัน นั่นคือใช้ชื่อธุรกิจเป็นชื่อโดเมนนั่นเอง เพื่อให้ลูกค้าจดจำง่ายและไม่สับสน

แต่หากธุรกิจของคุณยังอยู่ในระหว่างก่อตั้งและยังไม่ได้มีชื่อ ก็ถือเป็นโอกาสอันดี ที่จะตรวจสอบก่อนว่าชื่อที่ต้องการใช้เป็นชื่อธุรกิจนั้นโดเมนว่างอยู่หรือไม่ จะได้จดชื่อโดเมนจองไว้ก่อน เนื่องจากคนส่วนใหญ่นิยมโดเมน .com ดังข้อมูลที่มีการเปิดเผยว่ามีโดเมน .com อยู่มากกว่า 70 ล้านชื่อที่ถูกจดทะเบียนไปแล้ว นั่นคือชื่อโดเมน .com ที่เป็นคำสั้นๆ คำเฉพาะ ชื่อสินค้า บริการ มักจะถูกจับจองไปก่อนแล้ว คำที่อยู่ในดิกชั่นนารี่ก็แทบจะไม่เหลือกันเลยทีเดียว

หลังๆ ธุรกิจใหม่ๆ จะมีการตรวจสอบก่อนว่าชื่อโดเมนที่ตรงกับชื่อธุรกิจที่ต้องการนั้นว่างอยู่ไหม ถ้าว่างก็จดชื่อโดเมนไปก่อน แล้วจึงไปจดชื่อบริษัทตามชื่อโดเมนที่จดไว้ การคิดชื่อธุรกิจในปัจจุบันจึงเกิดเป็นชื่อใหม่ๆ ที่ไม่ใช่คำที่พบเห็นในดิกชั่นนารี่เหมือนก่อน แต่จะเกิดจากการจับตัวอักษรมาวางเรียงให้เกิดเป็นคำใหม่ อ่านออกเสียงได้เก๋ๆ เช่น webiz อ่านออกเสียงได้เป็น เว็บบิส หรือ DotArai ออกเสียงเป็น ดอทอะไร เป็นต้น

ในปัจจุบันนอกจากชื่อโดเมนภาษาอังกฤษแล้ว เรายังสามารถจดโดเมนเป็นภาษาไทยได้ด้วย ชื่อโดเมนภาษาไทยทำให้ธุรกิจไทยออนไลน์ได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องสะกดชื่อภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษให้สับสน

หากท่านผู้อ่านยังไม่เคยดูคลิปคุณไคขายไข่ไก่ อยากจะขอแนะนำให้เปิดชมคลิปที่ http://www.youtube.com/watch?v=imQ2_grNAYo

โดเมนภาษาไทยเหมาะกับธุรกิจที่กลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าเป็นคนไทย การทำธุรกิจออนไลน์ไม่ใช่เรื่องยากและไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ธุรกิจสามารถเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยตนเองหรือถ้าไม่มั่นใจสามารถใช้บริการจากธุรกิจที่เรากำลังจะพูดถึงต่อไปนี้

***ธุรกิจประเภทที่ 2 ธุรกิจพัฒนาและดูแลเว็บไซต์

เมื่อมีความต้องการแล้วก็ต้องมีผู้ให้บริการ ธุรกิจประเภทนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจประเภทที่ 1 ผู้ให้บริการสร้างและดูแลเว็บไซต์มีหลายระดับตั้งแต่บริษัทที่มีทีมพัฒนาเป็นสิบเป็นร้อยคน ไปจนถึงการทำแบบบุกเดี่ยว ทำคนเดียวในลักษณะฟรีแลนซ์ ไม่ขึ้นกับหน่วยงานใดๆ ทำเองคนเดียว โดยอาจมีงานประจำอยู่ แต่รับงานพัฒนาเว็บทำหลังเลิกงาน ซึ่งค่าบริการก็จะแตกต่างกันไปตามความสามารถ ประสบการณ์และความรับผิดชอบ

หากต้องการใช้บริการธุรกิจประเภทนี้ควรขอดูผลงานที่เคยทำผ่านมา และบุคคลหรือหน่วยงานอ้างอิงว่าผู้ให้บริการนั้นเป็นผู้พัฒนาเว็บนั้นๆ จริง

สำหรับธุรกิจนี้มีโอกาสเกี่ยวข้องกับโดเมน เนื่องจากเมื่อเจ้าของธุรกิจประเภทที่ 1 ตกลงใจที่จะเข้าสู่โลกออนไลน์และเลือกชื่อโดเมนแล้ว ผู้ให้บริการพัฒนาเว็บจะเริ่มสร้างเว็บและเมื่อเจ้าของธุรกิจประเภทที่หนึ่งพอใจกับผลงานแล้ว ผู้ให้บริการพัฒนาเว็บจะติดต่อธุรกิจประเภทที่ 3 เพื่อนำเว็บไซต์ที่สร้างเสร็จขึ้นไปไว้บนโลกออนไลน์ และในขั้นตอนนี้ผู้พัฒนาเว็บจะเป็นผู้จดทะเบียนโดเมนให้กับลูกค้า

ทั้งนี้เจ้าของเว็บควรจะตรวจดูความเป็นเจ้าของโดเมนให้ดีว่าเป็นชื่อของตน มิฉะนั้นอาจเกิดปัญหาหากไม่สามารถติดต่อผู้พัฒนาระบบได้ เนื่องจากชื่อโดเมนนั้นมีอายุของการจดทะเบียน เมื่อครบกำหนดต้องต่ออายุเป็นระยะไป โดยสามารถจดทะเบียนและต่ออายุได้ตั้งแต่ 1-10 ปี หากครบอายุแต่ไม่สามารถติดต่อผู้พัฒนาระบบได้ โดเมนอาจขาดอายุและไม่สามารถใช้งานต่อได้ หากเจ้าของร้านมีชื่อเป็นเจ้าของโดเมนเอง ก็จะสามารถติดต่อผู้รับจดโดเมนโดยตรง เพื่อแสดงสิทธิต่ออายุโดเมนดังกล่าว

***ธุรกิจประเภทที่ 3 ผู้ให้บริการพื้นที่เว็บไซต์และรับจดทะเบียนโดเมน

ผู้ให้บริการพื้นที่เว็บไซต์อาจให้บริการพัฒนาและดูแลเว็บด้วย เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวมักจะเกี่ยวข้องแนบแน่นกันอยู่ เพราะทำเว็บแล้วต้องมีที่วางเว็บ จึงจะให้ผู้คนเข้าถึงเว็บนั้นๆได้ นอกจากนี้ ผู้ให้บริการพื้นที่เว็บไซต์จะรับจดโดเมนด้วย เพราะการที่วางเว็บและให้ผู้เข้าชมได้จำเป็นต้องเข้าชมผ่านชื่อเว็บ

ผู้ให้บริการจดโดเมนในเมืองไทยขณะนี้ แบ่งออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ

หน่วยงานที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานอินเทอร์เน็ตสากล ICANN หรือ Registrar (รีจิสทรา) และหน่วยงานที่เป็นตัวแทนของ Registrar หรือ reseller (ตัวแทนจำหน่าย)

ทั้งนี้ registrar ในโลกมีอยู่หลายร้อยราย แต่ในไทยมี registrat ไทยรายเดียวที่ได้รับแต่งตั้งจาก ICANN คือบริษัท ดอท อะไร จำกัด (www.DotArai.com) สำหรับ reseller ในเมืองไทยนั้นมีทั้งที่เป็น reseller ให้กับ registrar ต่างประเทศ และ เป็น Business Partner กับ DotArai

การจะให้บริการจดโดเมนนั้น โดยส่วนใหญ่ผู้ให้บริการจะมีระบบรับข้อมูลจากลูกค้า เพื่อส่งข้อมูลนั้นไปจดทะเบียน เช่น ชื่อ-นามสกุล ที่ติดต่อ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล เป็นต้น ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวสำคัญมากจึงสมควรที่จะใช้ข้อมูลจริงตามเอกสารราชการ เพราะเป็นข้อมูลที่จะเก็บไว้กับหน่วยงานทะเบียน เป็นหลักฐานให้ทราบว่าเราเป็นผู้ถือครองโดเมน ซึ่งจะมีสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงข้อมูล หรือแม้กระทั่งเปลี่ยน registrar/reseller ได้

เมื่อได้รับข้อมูลดังกล่าวพร้อมชื่อโดเมนที่ลูกค้าต้องการ รวมถึงได้รับชำระค่าบริการจดโดเมนแล้วนั้น ทางผู้ให้บริการจะส่งต่อข้อมูลดังกล่าวไปยัง registrar และ registrar จะส่งข้อมูลไปเก็บไว้ที่นายทะเบียน เป็นอันว่าโดเมนจะสามารถเริ่มใช้งานได้

งานของผู้ให้บริการจดโดเมน หลังจากนั้นคือการแก้ไขข้อมูลโดเมนเมื่อลูกค้าต้องการ และการต่ออายุโดเมนเมื่อครบระยะเวลา ซึ่งสามารถให้ลูกค้าแจ้งความต้องการผ่านหน้าระบบได้ โดยการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่เกิดขึ้น จะถูกส่งไปยัง registrar และ หน่วยงานทะเบียนตามลำดับ

นั่นคืองานส่วนใหญ่ของผู้ให้บริการจดโดเมนคือ รับข้อมูลจากลูกค้า และส่งข้อมูลนั้นไปยัง registrar หากการส่งข้อมูลกระทำได้อย่างถูกต้อง อัตโนมัติ การให้บริการก็จะสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น และไม่เปลืองทรัพยากร ทาง registrar ส่วนใหญ่จึงได้เตรียมรูปแบบและช่องทางเพื่อใช้ในการส่งผ่านข้อมูลระหว่างกันกับ reseller ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวเรียกว่า API (Applicable Programming Interface)

การทำธุรกิจให้บริการจดโดเมนหรือให้บริการพื้นที่เว็บที่ต้องการรองรับลูกค้าจำนวนมาก จึงควรพัฒนาระบบเพื่อให้เชื่อมต่อกับ API ของ registrar ได้ ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ในอีกระดับ ธุรกิจนี้มีผู้ให้บริการจำนวนมาก ผู้ที่ให้บริการได้ดีและรวดเร็วกว่าก็ประสบผลสำเร็จ ร่ำรวยสมความตั้งใจ

ส่งท้ายนิดนึงก่อนจบ สำหรับธุรกิจที่ต้องการก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์ ขอให้ตัดสินใจเลือกใช้บริการจดโดเมนที่ดูน่าเชื่อถือ อย่าใช้เพียงราคาค่าบริการอย่างเดียวในการตัดสินใจ เพราะเมื่อร้านออนไลน์ของคุณติดตลาดแล้วได้รับความนิยมแล้ว ชื่อเว็บของคุณมีคุณค่ามากมายเทียบไม่ได้กับการใช้บริการราคาถูกแต่เสี่ยงกับการเสียชื่อโดเมนไป เพราะไม่สามารถติดต่อผู้ให้บริการเพื่อต่ออายุโดเมนที่หมดอายุ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าไม่สามารถเข้าถึงเว็บของคุณได้อีกต่อไป ธุรกิจของคุณก็จะสูญเสียรายได้และฐานลูกค้าไปในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น