xs
xsm
sm
md
lg

ซีเอประกาศ"เมนเฟรม"ยังไม่ตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ซีเอหวนคืนตลาดไทย ซุ่มแอบทำตลาดเมนเฟรมเงียบมาตั้งแต่ปีที่แล้ว คุยตลาดไทยโตหลายเท่าตัว พร้อมนำเสนอกลุยทธ์เมนเฟรม 2.0 สร้างมูลค่าเพิ่ม ลบคำสบประมาทว่าเมนเฟรมตายแล้ว

นายคาร์ล ดี เวอร์ฮัสท์ รองประธานฝ่ายการขาย ประจำกลุ่มประเทศอาเชียน บริษัท ซีเอ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซีเอเล็งเห็นความต้องการโซลูชันทางด้านเมนเฟรมในเอเชียแปซิฟิกเติบโตอย่างมาก ซึ่งในประเทศเกาหลี และประเทศจีนมีแนวโน้มที่จะซื้อหาเมนเฟรมคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น

ขณะที่ประเทศไทยการลงทุนทางด้านโซลูชันทั้งบนเมนเฟรมและส่วนที่เกี่ยวข้องมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอด ทางซีเอจึงได้มีการลงทุนทั้งทางด้านบุคลากรทีมขาย เทคนิค และการตลาดเพิ่ม โดยได้การย้ายสำนักงานใหญ่ที่ดูแลตลาดเอเชียนแปซิฟิกจากประเทศออสเตรเลียมายังประเทศสิงคโปร์แทน ซึ่งทำให้ซีเอสามารถดูแลลูกค้าในตลาดนี้ได้ดียิ่งขึ้น

“ซีเอ มีลูกค้าที่ใช้โซลูชันเมนเฟรมในส่วนธนาคารอยู่ 7 ธนาคาร ซึ่งเราได้นำเสนอกลยุทธ์ เมนเฟรม 2.0 เพื่อทำให้ลูกค้าของเราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของเมนเฟรมที่ได้อย่างเต็มที่ขึ้น และทุกคนก็ให้การตอบรับกับเรื่องนี้เป็นอย่างดี”

นางวัลลภา เปี่ยมนพเก้า ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย บริษัท ซีเอ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า ตลาดประเทศไทยในทั้งในส่วนของโซลูชันบนเมนเฟรมและที่ไม่ใช่เมนเฟรม มีอยู่ในสัดส่วนพอๆ กัน เนื่องจากซีเอมีซลูชันแบบครบวงจร โดยที่จุดเด่นของซีเออยู่ที่โซลูชันบนเมนเฟรม ประกอบแนวโน้มทางด้านคลาวด์ คอมพิวเตอร์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้เมนเฟรมกลับมาสู่ความสนใจอีกครั้ง เนื่องจากเมนเฟรมถือเป็นระบบทีมีความน่าเชื่อถือและมีระบบรักษาความปลอดภัยที่สูง ส่งให้เมนเฟรมดูเป็นโซลูชันที่เหมาะกับเทคโนโลยีใหม่ดังกล่าวเป็นอย่างดี ซีเอจึงนำเสนอแนวคิด เมนเฟรม 2.0 เข้าสู่ตลาดเมืองไทย

“สิ่งที้ชัดเจนคือ ระบบเมนเฟรมยังไม่ตาย จากผลการสำรวจบริษัทชั้นนำในโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ต่างระบุว่าเมนเฟรมยังคงมีบทบาทสำคัญต่อยุทธศาสตร์ทางด้านไอทีของบริษัทถึง 70% และยังบอกอีกว่า 73% เมนเฟรมมีบทบาทในยุทธศาสตร์คลาวด์ของบริษัท”

จากการที่ทางซีเอเข้ามาโฟกัสการทำตลาดในเมืองไทยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ได้รับเสียงตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี โดยรูปแบบการทำตลาดยังคงเน้นทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์เป็นหลัก เวลานี้ พาร์ทเนอร์ในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 5 ราย และคาดว่าจะมีการตั้งตัวแทนจำหน่ายที่ดูแลตลดาภูมิภาคนี้อีก 1 ราย

“ขอยืนยันว่าจะเน้นการทำตลาดร่วมกับพาร์ทแนอร์เป็นหลัก ในกรณีที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ก็จะมีตัวแทนของซีเอประกอบคู่กับพาร์ทเนอร์เพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ และคาดว่าจะมีการขยายพาร์ทเนอร์ในส่วนที่เป็นวาร์เพื่อดูแลในตลาดในส่วนอื่นๆ เฉพาะด้านลงไป แต่ยังไม่ได้กำหนดจำนวนว่าจะต้องมีเท่าไร” นายคาร์ลกล่าว

การนำเสนอแนวคิด เมนเฟรม 2.0 นั้น เป็นแนวคิดที่ทางซีเอสำรวจและรวบรวมความต้องการของลูกค้าซีเอว่า ต้องการเห็นอะไรจากโซลูชันของซีเอบนเมนเฟรม โดยได้ทำการกำหนดเป็นกลยุทธ์ขึ้นมา 3 เรื่อง เรื่องแรก เป็นเรื่องของการลดภาระในการเป็นเจ้าของ โดยทางซีเอได้พัฒนาโซลูชันซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า โปรแกรมเมนเฟรม แวลลู (MVP) ขึ้นมาเพื่อให้บริษัทที่มีเมนเฟรมใช้งานอยู่สามารถเชื่อมตอ่กับระบบไอทีอื่นๆ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“เวลานี้ มีลูกค้าที่เป็นธนาคารในเมืองไทยเข้ามาใช้โปรแกรมนี้แล้ว 3 ธนาคาร”

ส่วนกลยุทธ์ที่สอง เป็นปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านเมนเฟรมในการดูแล ทางซีเอก็ได้พัฒนาโปรแกรม CA Academy เพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีความเมนเฟรมขึ้นมา ซึ่งหลังจากที่เริ่มโปรแกรมนี้มา ซีเอสามารถผลิตบุคลกรที่มีความรู้เมนเฟรมออกไปแล้วกว่า 120 คน โดยจะมีการนำมาใช้ในเมืองไทยด้วย ขณะนี้มีบริษัทที่สนใจเข้าร่วมโปรแกรมนี้แล้ว

"หากมีผู้สนใจ 6-7 คน ทางซีเอก็พร้อมที่จะส่งคนเข้ามาอบรมให้ทันที"

สุดท้ายเป็นเรื่องของความง่ายในการบริหารจัดการระบบ ทางทางซีเอจึงได้พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ขึ้นมา อาทิ ซีเอ เมนเฟรม ซอฟต์แวร์ แมเนจเมนต์ และ CA Mainframe Chorus ทำให้บริการจัดการง่ายขึ้น ด้วยการนำเรื่องของกราฟิกอินแทอร์เฟส (GUI) รวมถึงหน้าตาของโปรแกรมที่ดูง่ายขึ้น

นางวัลลภากล่าวว่า เวลานี้ซีเอมีความชัดเจนว่า โฟกัสตลาดเอเชียแปซิฟิกรวมถึงไทยด้วย มีทั้งการลงทุนทางด้านบุคลากร แคมเปญต่างๆ รวมถึงการลงทุนทางด้านพาร์ทเนอร์ ที่มาซีเอในประเทศไทยเติบโตหลายๆ เท่าตัวในปีที่แล้ว

Company Related Link :
CA
กำลังโหลดความคิดเห็น