หลายคนอยากเปียกน้ำในวันสงกรานต์ แต่แน่นอนว่าไม่มีใครสนุกแน่หากโทรศัพท์มือถือของตัวเองต้องเปียกปอนไม่ว่าจะด้วยอุบัติเหตุหรือความพลั้งเผลอก็ตาม ฉะนั้นสิ่งควรรู้ของ"นักรบปืนน้ำ"ที่ไม่อาจทอดทิ้งโทรศัพท์มือถือของตัวเองไปได้ และทุกคนที่พกโทรศัพท์มือถือไว้กับตัวแล้วถูก"กระสุนน้ำ"โดยไม่ได้เตรียมตัวรับศึกในสมรภูมิมหาสนุกช่วงสงกรานต์ คือวิธีการปฏิบัติเบื้องต้นในการปฐมพยาบาลมือถือเปียกน้ำทั้ง 7 ข้อต่อไปนี้
1. อย่าเพิ่งเปิด-ปิดเครื่อง
โดยเฉพาะคนที่เผลอทำโทรศัพท์ทั้งเครื่องตกลงในแหล่งน้ำ ขอย้ำว่าอย่าเพิ่งกดปุ่มเปิด-ปิดเครื่องโดยเด็ดขาด เนื่องจากการกดปุ่มเปิด-ปิดเครื่องที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในยังเปียกน้ำหรือยังมีความชื้น อาจทำให้เกิดการลัดวงจรและเสียหายหนัก หรือเสียหายถาวรได้
2. รีบแยกชิ้นส่วน
อย่ามัวแต่ตกตะลึง แต่ให้รีบถอดส่วนประกอบต่างๆ ของ มือถือออกจากกันอย่างรวดเร็ว (เฉพาะส่วนประกอบที่สามารถถอดได้เองตามปกติ) ทั้งซิมการ์ด, แบตเตอรี่, หน้ากาก, ฝาหลัง ฯลฯ
3. ดูแถบความชื้น
ถอดชิ้นส่วนแล้วมาลองลุ้นความเสียหายจากแถบความชื้นที่ถูกซ่อนไว้ในเครื่องแต่ละรุ่น
เพราะบริษัทโทรศัพท์มือถือตั้งเงื่อนไขว่า จะไม่รับประกันโทรศัพท์มือถือที่เสียหายจากความชื้น บริษัทเหล่านี้จึงซ่อนจุดสังเกตไว้เพื่อตรวจสอบว่าโทรศัพท์มือถือเครื่องนี้ตกน้ำมาหรือไม่ หรือเผลอโดนใครฉีดน้ำใส่หรือเปล่า จุดสังเกตนี้จะมาในรูปแถบความชื้นที่ทุกคนสามารถตรวจสอบเครื่องของตัวเองในเบื้องต้นได้เช่นกัน
โทรศัพท์มือถือแทบทุกรุ่นจะใช้สัญลักษณ์แบบเดียวกันในการบ่งบอกว่าตัวเครื่องถูกน้ำหรือความชื้นมาหรือไม่ จากสติกเกอร์สีขาวที่มีรูปแบบทั้งวงกลมและสี่เหลี่ยม ซึ่งซ่อนอยู่ตามจุดต่างๆภายในเครื่อง ใช้การเปลี่ยนสีของสติกเกอร์เป็นสีแดงเมื่อเปียกน้ำหรือได้รับความชื้นในระดับหนึ่ง
หากคุณใช้สมาร์ทโฟนยอดฮิตอย่างไอโฟนอยู่ สามารถหาจุดสังเกตที่แอปเปิลซ่อนแถบวัดความชื้นไว้บริเวณช่องเสียบสายหูฟัง 3.5 มม. และบริเวณพอร์ตเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ เพียงใช้ไฟฉายส่องเข้าไปในมุมตรง จะพบกับสติกเกอร์ดังกล่าว
หากคุณใช้แบล็กเบอรี แถบวัดความชื้นจะซ่อนอยู่บริเวณบริเวณขั้วแบตเตอรี่และตัวเครื่องด้านหลัง ซึ่งสังเกตได้ค่อนข้างง่าย เช่นเดียวกับสมาร์ทโฟนในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่สามารถถอดแบตฯได้เอง ก็จะมีสติกเกอร์อยู่ในบริเวณดังกล่าวเช่นเดียวกัน
หากคุณใช้โทรศัพท์มือถือทั่วไป สามารถสังเกตได้จากขั้วแบตเตอรี่และตัวเครื่องเช่นกัน
4. ใช้ผ้าเช็ด
สำหรับเครื่องที่สามารถถอดส่วนประกอบต่างๆได้ง่าย หลังจากสลัดน้ำออกด้วยแรงพอประมาณ ให้นำผ้าชนิดที่ไม่มีขน หรือกระดาษทิชชูที่คุณภาพดี ไม่เป็นขุย มาซับน้ำที่เกาะอยู่ตามจุดต่างๆ ให้แห้งที่สุดเท่าที่จะทำได้
5. ห้ามเป่าไดร์-ตากแดด
ไม่ควรใช้ไดร์เป่าผมเป่าให้เครื่องแห้งเด็ดขาด เนื่องจากลมจากไดร์เป่าผมมีความร้อนสูง อาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่ออุปกรณ์ หรือวงจรอิเล็กทรอนิกส์ภายในได้ง่าย
แม้แต่แดดก็ไม่ได้ เพราะผู้รู้บอกว่าไม่ควรนำโทรศัพท์มือถือไปตากแดดเพราะความร้อนจากแสงแดดนั้นสูงเกินไปสำหรับโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางชนิด
ที่ใช้ได้คือพัดลมเท่านั้น
6. อย่าเพิ่งชาร์ต
ผู้รู้แนะนำว่ายังไม่ควรชาร์จแบตเตอรี่ทันที เนื่องจากวงจรภายในอาจยังไม่พร้อมที่จะรับกระแสไฟฟ้า โดยควรแน่ใจก่อนว่าเครื่องแห้งสนิททั้งหมด
7. ส่งช่าง-เข้าศูนย์
เมื่อเป่าแห้งแล้ว ช่างซ่อมโทรศัพท์มือถือแนะนำว่าให้ส่งเครื่องเข้าศูนย์หรือส่งช่างซ่อมโดยทันที แถมยังมีการขู่ทับอีกว่าถ้าส่งเร็วก็จ่ายน้อย ส่งช้าก็จ่ายมาก จุดนี้ช่างสำทับว่าอย่าเพิ่งเปิดใช้งานในช่วงหนึ่งถึงสองวันแรก เพราะยังมีโอกาสเครื่องขัดข้องสูงมาก และการที่เครื่องแห้งในภายนอกอาจไม่ได้แปลว่าชิ้นส่วนทุกชิ้นจะแห้งสนิท การส่งเครื่องเข้าศูนย์จะทำให้เครื่องผ่านกระบวนการตรวจสอบจนแน่ใจแท้จริง
ขั้นตอนที่เหลือก็ปล่อยใจให้สบาย ถือว่าเครื่องได้เล่นน้ำวันสงกรานต์บ้างก็แล้วกัน