xs
xsm
sm
md
lg

3 บุคคล 3 มุมมอง เกี่ยวกับ Foursquare ที่คุณอาจไม่เคยรู้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยอดการเติบโตของผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนทั่วโลก เป็นตัวผลักดันให้เกิดแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือมากขึ้นในทุกๆ ปี ล่าสุดตัวเลขการเติบโตของ Foursquare แอปพลิเคชันระบุตำแหน่ง (Location Based Service) บนสมาร์ทโฟนซึ่งมียอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นสูงถึง 3400% ภายในระยะเวลา 1ปี (2009-2010) จากเดิมที่มีเพียง 175,000 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 6,000,000 ราย เมื่อมองไปในมุมของนักการตลาดตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นจะใช้เป็นช่องทางในการขยายธุรกิจให้กับเจ้าของสินค้าได้หรือไม่? อะไรคือปัญหาของการใช้โฟร์สแควร์ในการทำธุรกิจ แล้วอะไรทำให้ผู้ใช้งานคนหนึ่งต้องตื่นมาตี 3 เพื่อเช็กอิน โฟร์สแควร์

วันนี้ไซเบอร์บิซจะพาท่านผู้อ่านไปพบกับ 3 บุคคลสำคัญ ที่จะมาตอบคำถามเกี่ยวกับ Foursquare ที่จะทำให้คุณรู้จักแอปพลิเคชันดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

1. ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นักการตลาดชั้นนำของเมืองไทย ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com กับคำพูดที่ว่า "วันนี้ ไม่ใช่วันของ Foursquare"
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ
แม้ตัวเลขการเติบโตของผู้ใช้งานจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น แต่ในมุมของนักการตลาด ตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าการทำการตลาดผ่านช่องทางดังกล่าวจะประสบความสำเร็จเสมอไป หากแต่แอปพลิเคชันดังกล่าวยังไม่มีความเป็น Localisation พอ

ภาวุธให้ความเห็นเกี่ยวกับการทำตลาดบนโฟร์สแควร์ว่า โฟร์สแควร์เป็นแอปพลิเคชันที่มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก คือ 1.ข้อมูลในแอปฯ เป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานในระดับล่าง ที่ไม่มีความรู้ภาษาอังกฤษได้ 2.การใช้งานจำกัดอยู่แค่บนสมาร์ทโฟน 3.เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้เรื่องแอปพลิเคชันดังกล่าว ทำให้ยากต่อการทำความเข้าใจ

"เรื่องของภาษามีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่รู้ภาษาอังกฤษ หากแต่ในอนาคตโฟร์สแควร์มีการอัปเดตเวอร์ชันให้รองรับภาษาไทย อาจทำให้แอปฯดังกล่าวเข้ามามีบทบาทกับเรามากขึ้น นอกจากนี้ราคาสมาร์ทโฟน และแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตก็มีส่วนสำคัญ เมื่อไหร่ที่มันมีราคาถูกลง เมื่อนั้นมันจะเข้าถึงผู้ใช้ได้หลายหลากมากยิ่งขึ้น"

ภาวุธเปรียบเทียบกับการทำตลาดบนเฟซบุ๊กว่า เฟซบุ๊กนั้นรองรับการใช้งานในหลายภาษา อีกทั้งยังสามารถใช้งานได้จากคอมพิวเตอร์ ซึ่งคนทำงานส่วนใหญ่มักจะเปิดคอมพิวเตอร์ออนไลน์ทั้งวัน ทำให้การเข้าถึงเป็นไปได้ง่ายกว่า

2. “จิรัฏฐ์” แห่งร้านกาแฟวาวีสาขาซอยอารีย์ และเอกมัย ผู้เริ่มทำตลาดบนโฟร์สแควร์ ที่มองว่า "Foursquare ยังไม่เฟรนลี่พอ"
จิรัฏฐ์ ธราเพชรสวัสดิ์
ร้านกาแฟวาวี สาขาเอกมัย และซอยอารีย์ ถือเป็นธุรกิจระดับต้นๆ ของเมืองไทย ที่เจ้าของเลือกใช้แอปพลิเคชันโฟร์สแควร์ในการทำการตลาด สืบเนื่องมาจากการใช้ทวิตเตอร์ แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับการทำตลาดบนโซเชียลมีเดียแบบอื่นๆ

จิรัฏฐ์ ธราเพชรสวัสดิ์ เจ้าของร้านกาแฟวาวี เล่าว่า ร้านกาแฟวาวีสาขาซอยอารีย์ กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนทำงานที่เน้นการใช้งานโซเชียล มีเดีย ที่ผ่านมาเราเลือกใช้ทวิตเตอร์เป็นตัวกลางในการพูดคุยกับคนที่เข้ามาใช้บริการ จนเมื่อปลายปี 2010 โฟร์สแควร์ได้เพิ่มฟีเจอร์แชร์พิกัดลงบนทวิตเตอร์ จึงเริ่มหันมาให้ความสนใจ เพราะมองว่าแอปพลิเคชันดังกล่าวก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในกลุ่มโซเชียลเน็กเวิร์กพอสมควร

"โปรโมชันที่เรานำเสนอให้กับลูกค้าคือ ใครที่เป็น Mayor ร้าน เมื่อเข้ามาใช้บริการ จะได้รับเค้ก หรือกาแฟฟรี ซึ่งที่ผ่านมาลูกค้ายังไม่ค่อยให้ความสนใจมากนัก แม้จะมีป้ายโฆษณาติดหน้าร้านชัดเจน ส่วนใหญ่จะเดินเข้ามาซื้อกาแฟ นั่งทานเค้ก ฟังเพลง"

จิรัฏฐ์มองว่า เหตุที่ทำให้การใช้โฟร์สแควร์ในการทำตลาด ไม่สามารถดึงดูดใจลูกค้าได้ เนื่องจากยังไม่เฟรนลีพอ คือการใช้งานโฟร์สแควร์ในประเทศไทยยังจำกัดอยู่แค่คนเฉพาะกลุ่ม, แอปพลิเคชันยังมีความซับซ้อนในการใช้งาน, ตัวแอปพลิเคชันไม่มีรูปภาพที่สื่อถึงความเป็นแบรนด์สินค้านั้นจริงๆ เลยทำให้ผู้ใช้งานเข้าใจได้ยาก

"เมื่อเทียบกับการทำตลาดบนเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ผมมองว่าประสบความสำเร็จมากกว่า ส่วนตัวโฟร์สแควร์นั้นก็ยังมีอยู่ แต่ลูกค้าไม่ค่อยให้ความสนใจ จึงไม่ได้เดินหน้าต่อ"

3. สงคราม กิ่งกลาง พนักงานฝ่ายสื่อสาร บริษัทเอกชนชั้นนำ ผู้หลงใหลมนต์สเน่ห์ของโฟร์สแควร์
สงคราม กิ่งกลาง
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าโฟร์สแควร์จะทำให้พนักงานบริษัทเอกชนคนหนึ่งยอมตื่นตี 3 เพื่อแลกกับ Badge หรือของรางวัลจากโฟร์สแควร์ อะไรทำให้เขาต้องยอมทำขนาดนี้ โฟร์สแควร์มีดีอะไร

สงครามเล่าว่า ตนเริ่มเล่นโฟร์สแควร์หลังจากเห็นเพื่อนๆ แชร์ตำแหน่งที่เช็กอินบนหน้าเฟซบุ๊ก และเริ่มอยากทำความรู้จักและศึกษาอย่างจริงจัง จึงค้นพบความสนุกที่แอบซ่อนอยู่ในแอปพลิเคชันดังกล่าวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเช็กอิน (Check-in) ที่ผู้ใช้งานสามารถเลือกให้แชร์พิกัดบนเฟซบุ๊กได้ เพื่อบอกให้เพื่อนๆ ทราบว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ที่ไหน ซึ่งถ้าเราทำการเช็กอินในสถานที่นั้นบ่อยๆ เราจะได้เป็น Mayor หรือเจ้าของสถานที่นั้น ซึ่งถ้าเป็นสถานที่อินเทรนด์ คนที่ไปบ่อยๆ จะพยายามเช็กอินเพื่อจะได้ครองตำแหน่ง Mayor แทนคนเดิม เหมือนเป็นการแข่งขันกัน

สิ่งหนึ่งที่สงครามมองว่าเป็นจุดขายของโฟร์สแควร์ที่หลายคนยังไม่ค่อยรู้จักคือ การสะสม Badge หรือเข็มกลัด ซึ่งในโฟร์สแควร์จะมีป้ายต่างๆ ให้เลือกสะสมเกือบ 300 ชนิด โดยแต่ละป้ายจะมีวิธีการได้รับแตกต่างกันไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะสามารถถอดรหัสได้ว่าเข็มกลัดนี้ได้มายังไง แต่เข็มกลัดที่ว่านี้ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการสะสมไว้ประดับ Account ตัวเอง ซึ่งถ้าคุณมีเพื่อนที่อยู่ในเครือข่ายมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะสนุกมากเท่านั้น

"ตอนนี้ผมมี Badge 41 อัน ซึ่งการได้มาแต่ละครั้งจะมีระดับความยากง่าย หรือเงื่อนไขต่างๆ แตกต่างกันไป พวก badge พื้นๆ เลยก็มีพวก Newbie, Adventurer, Explorer, Superstar, Bender, Local, Swarm และ Super User ส่วนพวกที่เริ่มๆ ยากขึ้นมาอีกนิดก็จะเป็นพวก 16 Candles ซึ่งต้องเช็กอินด้วย Shout ด้วย และ Super Mayor ซึ่งอันนี้เราต้องเป็น mayor มากกว่า 10 แห่งขึ้นไปถึงจะได้ badge อันนี้มา หรือ Super Swarm ที่เป็นรูปผึ้งตัวใหญ่ตัวเดียวและมีเลข 250 คืออันนี้เราต้องไปเช็กอินสถานที่ที่เทรนดี้ที่มีคนเช็กอินอยู่ด้วยพร้อมๆ กันกว่า 250 คนขึ้นไปถึงจะได้"

สงครามเล่าประสบการณ์จากการเล่น ที่คิดว่าน้อยคนจะทำคือ ในโฟร์สแควร์จะมี Badge อันหนึ่งชื่อว่า "School Night" ที่ต้องเช็กอินหลังตี 3 แต่ต้องก่อนตี 5 เฉพาะวันจันทร์ถึงวันพุธ ซึ่งปกติไม่ใช่คนนอนดึกขนาดนั้น แต่ก็ต้องพยายามตื่นขึ้นมาเพื่อ badge อันนี้ ซึ่งก็ถือว่าคุ้ม..

** ถ้าคิดจะเล่น ก็อย่าไปกลัว **

เชื่อว่าผู้อ่านหลายคนกำลังสงสัยว่า คนที่เล่น Foursquare แล้วแชร์พิกัดให้เพื่อนๆ บนเครือข่ายสังคมทราบว่าตำแหน่งที่อยู่ของตัวเอง ไม่กลัวเรื่องของความปลอดภัยหรือไง? มีความจำเป็นอะไรต้องบอกให้ใครรู้ด้วย?

สงครามเล่าว่า คนที่เข้ามาอยู่ใน Social Network ต้องทำความเข้าใจว่านี่คือโลกออนไลน์ไม่ว่าคุณจะอยู่จุดไหนก็ตาม คนทั่วโลกสามารถรับรู้ได้หมด แต่เราก็สามารถเลือกให้โชว์บน Facebook และ Twitter ได้ และในเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์เราก็สามารถตั้งค่าการมองเห็นได้ว่าใครสามารถมองเห็นข้อมูลบนเครือข่ายเราได้ สำหรับในกลุ่มเพื่อนที่รู้จักกันอยู่ก่อนแล้ว ผมมองว่ามันมีประโยชน์มาก

“บ่อยครั้งที่ไปไหนคนเดียวแล้วเช็กอินแชร์ไปบนเฟซบุ๊ก เพื่อนที่อยู่แถวนั้นจะเห็น แล้วโทรหาทันทีเพื่อนัดทานข้าว บางคนไม่ได้เจอกันนานมาก ก็มีโอกาสได้เพบกันเพราะโฟร์สแควร์”

** อะไร ที่ไหน ยังไง Foursquare ช่วยได้ **

นอกเหนือไปจากการเล่นเพื่อแชร์ให้เพื่อนๆ บนเครือข่ายสังคมทราบถึงตำแหน่งทีเราอยู่ หรือการเล่นเพื่อสะสม Badge แล้ว สงครามยังมองว่าโฟร์สแควร์ก็ไม่ต่างจากโปรแกรมค้นหาแผนที่ทั่วไป ที่เราสามารถพิมพ์คำที่เราต้องการค้นหาลงไป เพื่อให้ทราบว่าจากจุดที่เราอยู่มีสถานที่ที่เราต้องการไปที่ไหนบ้าง มีระยะทางจากที่เราอยู่กี่กิโลเมตร

"ผมไปพารากอนแล้วอยากไปกิน After You แต่ไม่มั่นใจว่ามีสาขาที่พารากอนหรือไม่ ก็จะลองค้นหาคำนี้ขึ้นมา เราก็รู้ล่ะว่าอยู่ตรงไหนในห้างนี้ นอกจากนี้ในหมุดของสถานที่นั้นๆ ยังสามารถให้ผู้ที่เคยไปได้ร่วมแชร์ความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานที่ดังกล่าว ทำให้เราทราบข้อมูลว่าจุดที่เราไปมีอะไรน่าสนใจมีทิปอยู่ด้วยซึ่งก็เหมือนกระทู้ต่างๆ มีคนมาแนะนำไว้หรือคอมเมนต์ต่างๆ เอาไว้กับสถานที่นั้นๆ เราก็จะได้รู้เป็นข้อมูลล่ะว่าตรง จุดที่เราไปจะมีอะไรน่าสนใจ มันก็คล้ายๆกับเว็บบอร์ดในพันทิปที่ให้คนได้เข้ามาแชร์ไอเดียกัน เพื่อให้ชีวิตง่ายขึ้นด้วย"

นี่เป็นเพียง 3 ความคิดเห็น 3 มุมมองจากบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับแอปพลิเคชันระบุตำแหน่งอย่าง Foursquare ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเราอาจสรุปได้ว่าแม้จะมียอดการใช้งานทั่วโลกสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ แต่สำหรับในประเทศไทยแอปฯ ดังกล่าวยังเป็นเพียงของเล่นหนึ่งบนสมาร์ทโฟนที่คนยุคใหม่กำลังให้ความสนใจ สำหรับในมุมของนักธุรกิจ ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง จึงทำให้ Foursquare ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าของกิจการในเมืองไทยได้ เมื่อเทียบกับการใช้โซเชียล มีเดียตัวอื่นๆ

แต่ในอนาคต เมื่อสมาร์ทโฟนราคาถูกลง แอปพลิเคชันต่างๆ สามารถเข้าถึงผู้ใช้ได้ง่ายขึ้น Foursquare อาจเป็นช่องทางหนึ่งในการทำตลาด หรือสร้างประโยชน์ให้กับผู้ใช้งานมากกว่าที่เป็น ซึ่งเราในฐานะผู้ใช้งานก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่า ใครจะเป็นผู้โชคดีที่สามารถปลุกกระแสการใช้งานโฟร์สแควร์ได้ไร้เทียมทานที่สุด

Company Related Link :
Foursquare
กำลังโหลดความคิดเห็น