ด้วยการเติบโตของโลก World Wide Web ที่เป็นไปอย่างไม่หยุดยั้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดโลกของโซเชียลเน็ตเวิร์กขึ้นอย่างมากมาย แต่ทั้งนี้ถ้าแยกจำเพาะโซเชียลมีเดียที่มีอิทธิพลสูงสุดในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กปัจจุบัน หลายคนคงต้องคิดถึง Facebook, Twitter, Hi5 หรือ Foursquare อย่างแน่นอน
ซึ่งในวันนี้ทีมงานผู้จัดการไซเบอร์จะขอพาท่านผู้อ่านไปพบกับ 5 ผู้มีอิทธิพลในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพื่อให้ท่านผู้อ่านทราบถึงประวัติ ความเป็นมา รวมถึงแรงบันดาลใจในการคิดค้นเว็บหรือแอ็ปพลิเคชันโซเชียลเน็ตเวิร์กที่โด่งดังในปัจจุบันกันครับ ถ้าพร้อมแล้วไปชมกันได้เลย
ลามู ยาละมันชัย (Ramu Yalamanchi)
ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร: Hi5.com (ไฮไฟว์ดอทคอม)
บันทึก: ไฮไฟว์ดอทคอมเป็นเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กอีกหนึ่งเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากเฉกเช่นเดียงกับเฟสบุ๊คดอทคอม โดยหลักการทำงานของไฮไฟว์ที่แตกต่างจากเว็บโซเซียลมีเดียอื่นๆ จะอยู่ที่ความสามารถในการแปะโค้ด (Embed Code) ต่างๆ ลงในหน้าต่างกล่องแสดงความคิดเห็นหรือหน้าโปรไฟล์ได้อย่างอิสระ อีกทั้งผู้ใช้ยังสามารถอัปเดตข่าวสารต่างๆ ในหน้าเพจของเพื่อนหรือสร้างกลุ่มเพื่อนได้เช่นกัน
ลามู ยาละมันชัย เป็นคนเชื้อสายอินเดีย เขาโตขึ้นในย่านชานเมืองฝั่งตะวันตกของชิคาโก โดยพ่อของลามูเป็นผู้ฝึกสอนวิศวกรโรงงาน นอกจากนั้นพ่อของลามูยังเป็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับธุรกิจงานพิมพ์ ทำให้ลามูได้เรียนรู้เรื่องธุรกิจจากพ่อของเขา
เมื่อลามูโตขึ้น เขาได้เข้ารับการศึกษาระบบปริญญาตรีในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ โดยในช่วงก่อนจบการศึกษาลามูได้รวมกลุ่มกับเพื่อนในชั้นเรียนที่อิลลินอยส์เปิดบริษัท SponsorNet New Media ซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวกับธุรกิจตัวแทนโฆษณาบนอินเทอร์เน็ต
ซึ่งจากการเปิดบริษัทและคลุกคลีอยู่ในวงการโฆษณาผ่านออนไลน์ ทำให้ลามูแลเห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่ในยุคนั้นที่มักชอบสร้างกลุ่มคุยกับเพื่อนๆ ผ่านห้องสนทนาทางเว็บไซต์ หรือแม้กระทั่งการส่งรูปผ่านอี-เมล์ แล้วเพื่อนๆ ที่ฟอร์เวริดเมล์ต่อมักเขียนความคิดเห็นแนบท้ายรูปมา ทำให้ลามูเกิดแรงบันดาลใจจะพัฒนาเว็บไซต์ที่จะตอบสนองและอำนวยความสะดวกต่อกลุ่มคนเหล่านั้นขึ้น
จนในที่สุด พ.ศ. 2546 ลามูจึงเปิดเว็บโซเชียลเน็ตเวิร์กของตนขึ้นในชื่อ "Hi5 (ไฮไฟว์)" ซึ่งความหมายของชื่อเว็บก็คือ Hi Five เป็นคำทักทายของคนอเมริกันที่ชอบนำฝ่ามือแบบนิ้วทั้ง 5 มาตีประสานกัน โดยลามูได้ประยุกต์คำว่า Give Me Five ของคนอเมริกันที่ใช้ทักทายกับคนสนิทเป็นความสามารถในตัวเว็บไฮไฟว์ที่สามารถให้ Give กับคนที่ถูกใจได้
ซึ่งเว็บไซต์ไฮไฟว์ของลามูได้รับความนิยมอย่างมากในหลายประเทศ โดยความสามารถของไฮไฟว์นอกจากสามารถตอบสนองต่อกลุ่มคนที่ต้องการสร้างเครือข่ายสังคมแล้ว ตัวไฮไฟว์ยังรองรับภาษาที่หลากหลายทั้งอเมริกา ยุโรป ยุโรปตะวันออกหรือเอเซียแปซิฟิก โดยในประเทศไทยช่วง พ.ศ. 2550-2551 ไฮไฟว์ถือว่าได้รับความนิยมอย่างมากในการสร้างชุมชนออนไลน์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน หรือใช้แชร์รูปภาพต่างๆ รวมถึงโค้ด Embed ที่น่าสนใจ จนทางไฮไฟว์ได้แต่งตั้งท็อปสเปซ บริษัทในเครือ สนุก ออนไลน์เป็นตัวแทนขายโฆษณาออนไลน์ในประเทศไทยขึ้น ในขณะที่เฟสบุ๊คดอทคอมเริ่มเข้ามาตีตลาดในประเทศไทยแต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร
ปัจจุบันเว็บไซต์ไฮไฟว์ดอทคอมมีสามชิกกว่า 80 ล้านยูสเซอร์ และมีมูลค่าในตัวเว็บประมาณ 38 ล้านเหรียญสหรัฐ
มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg)
ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร: Facebook.com (เฟสบุ๊คดอทคอม)
บันทึก: "เฟสบุ๊ค" เว็บโซเชียลเน็ตเวิร์กที่มีผู้ใช้งานอันดับหนึ่งของโลกในตอนนี้ โดยจุดเด่นของเฟสบุ๊คอยู่ที่การเชื่อมต่อบุคคลหลายๆ บุคคลเข้าด้วยกันทำให้เกิดการเป็นเครือข่ายสังคมที่เราสามารถแชร์บันทึกประจำวัน ความคิดเห็น รูปภาพหรือลิงค์ต่างๆ ให้แก่เพื่อนของเราได้รับชมและสามารถแสดงความคิดเห็นให้กันและกันได้ นอกจากนั้นในเฟสบุ๊คยังสามารถสร้างกลุ่มและสามารถเล่นเกมในรูปแบบเครือข่ายสังคมเพื่อใช้ในการแชร์ไอเท็มระหว่างเพื่อนได้ด้วย
มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก หรือชื่อเต็มคือ มาร์ก อีเลียต ซัคเกอร์เบิร์ก (Mark Elliot Zuckerberg) เป็นบุคคลที่สนใจในเรื่องของเทคโนโลยีโดยเฉพาะคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เด็ก ดังจะเห็นได้จากบันทึกสำคัญในหนังสือ The Face of Facebook ช่วงที่มาร์กศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษา (ประมาณปี 1990) พ่อของมาร์กได้สอนเขาเขียนโปรแกรมในชุด Atari BASIC Programming และภายหลังพ่อของเขาก็ได้จ้างนักพัฒนาซอฟท์แวร์นามว่า David Newman มาฝึกสอนมาร์กเป็นการส่วนตัว ซึ่งด้วยความสนใจเฉพาะของมาร์กและความสามารถในการเรียนรู้ที่รวดเร็วระหว่างที่เรียนกับ Newman ทำให้ Newman ตั้งฉายาให้กับมาร์กว่า "เจ้าหนูมหัศจรรย์"
นอกจากจุดเริ่มต้นดังกล่าว ในช่วงอายุถัดมา มาร์กก็ไม่ได้หยุดการเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีและการเขียนโปรแกรมอยู่เพียงเท่านั้น เขาพยายามสร้างโปรแกรมช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้พ่อของเขาที่เป็นคุณหมอ อย่างโปรแกรม ZuckNet ที่ช่วยให้สามารถติดต่อสื่อสารระหว่างออฟฟิซและบ้านของมาร์กผ่านระบบออนไลน์หรือในช่วง ประถม 6 ที่มาร์กสามารถผลิตโปรแกรมเรียนรู้นิสัยการฟังเพลงของผู้ฟัง MP3 ได้
มาถึงจุดหักเหที่สำคัญของชีวิตมาร์กเริ่มต้นตอนที่เขาเข้ารับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในช่วงอายุประมาณ 20-21 ปี ตามบันทึกในนิตยสาร Time ฉบับ "Person of the Year 2010: Mark Zuckerberg มาร์กคิดค้นโปรเจ็คในโครงการวิจัยกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน นามว่า Arie Hasit ในชื่อโปรเจ็ค Coursematch ซึ่งเป็นบริการให้นักศึกษาในชั้นเรียนสามารถเลือกจับคู่เพื่อนร่วมชั้น เพื่อช่วยเหลือเรื่องงานซึ่งกันและกันจากนั้นไม่นานมาร์กและ Arie ก็ร่วมกันพัฒนาโปรเจ็คชิ้นต่อไปในชื่อ Facemash.com ที่มีหลักการทำงานง่ายๆ คือให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดสามารถสร้างหน้าเพจส่วนตัว จากนั้นนักศึกษาสามารถนำรูปของตนมาอัปโหลดและประชันคะแนนโหวตความร้อนแรงหรือจะท้าแข่งความสวย ความหล่อกับเพื่อนได้ แต่ทั้งนี้ Facemash.com เปิดออนไลน์ไปได้เพียงหนึ่งอาทิตย์ ทางมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแลเห็นว่าเว็บไซต์ดังกล่าวอาจเป็นอันตรายต่อระบบความปลอดภัยจึงจำเป็นต้องปิดเว็บไซต์ดังกล่าวลงในที่สุด
เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้มาร์กต้องออกมาขอโทษกับทางมหาวิทยาลัยและพยายามคิดค้นปรับเปลี่ยน Facemash มาเป็นโปรเจ็คต่อไปในชื่อ Facebook ที่ห้องพักของตัวเองในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 ในขณะที่มาร์กอายุ 20 ปี โดยมาร์กตั้งใจให้ Facebook เป็นเว็บไซต์เป็นบริการที่ให้นักศึกษาสามารถโพสต์ข้อมูลของตัวเองรวมถึงรูปได้ตามต้องการ
หลังจากเฟสบุ๊คเปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการไม่นานกระแสความนิยมก็เพิ่มมากขึ้นจากในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดก็ขยายตัวไปยังมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด, โคลัมเบีย และสถานศึกษาอีก 30 แห่งทั่้วสหรัฐอเมริกา โดยมีเพื่อนร่วมชั้นเรียนอย่าง Dustin Moskovitz และ Eduardo Saverin เป็นตัวช่วยสำคัญ
จากนั้นมาร์ก, Moskovitz และ Saverin ก็ได้รับเงินสนับสนุนจากนักลงทุน Peter Thiel จำนวน US$ 500,000 และ Sean Parker จาก Napster จนในที่สุดในเดือนมิถุนายน เฟสบุ๊คก็ย้ายฐานที่ตั้งไป Palo Alto, California มาร์กและเพื่อนผู้ร่วมก่อตั้งได้รับทีมงานเพิ่มและพัฒนาความสามารถของเฟสบุ๊คมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมเริ่มนำเฟสบุ๊คปรับตัวเข้าสู่โลกธุรกิจเต็มตัวตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา โดยในส่วนของยอดสมาชิกก็ปรับเพิ่มขึ้นจาก 100 ล้านยูสเซอร์ไปสู่ 600 ล้านยูสเซอร์ทั่วโลก ซึ่งในส่วนของมูลค่าเว็บ Facebook.com ก็มีการปรับตัวสูงขึ้นเป็น 50 พันล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน
ทิ้งท้าย: จาก "ไฮไฟว์ดอทคอม" สู่ "เฟสบุ๊คดอทคอม"
ผมจำได้สมัยครั้งที่เว็บไฮไฟว์ดอทคอมเริ่มเข้ามาเริ่มตีตลาดโซเชียลเน็ตเวิร์กหรือเครือข่ายสังคมในประเทศไทย ยุคนั้นผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะวัยรุ่นตั้งแต่อายุ 18-24 ปี มักนิยมชมชอบเว็บไซต์ดังกล่าวมากเป็นพิเศษ เพราะตัวไฮไฟว์สามารถสร้างกลุ่มคนหรือสามารถแชร์รูปภาพรวมถึงสามารถแสดงความเห็นตอบกันไปมาได้ ทำให้ยุคนั้นไฮไฟว์ถือเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กเว็บแรกๆ ที่เกิดในเมืองไทยอย่างแท้จริง
แต่ทั้งนี้เมื่อเราลองมองในแบบมหภาค ทั่วโลกจะเห็นว่าความจริงแล้วในช่วงยุคที่ไฮไฟว์กำลังโด่งดังเป็นพลุแตกในบ้านเรา เว็บโซเซียลเน็ตเวิร์กอีกหนึ่งเว็บที่มีชื่อเสียงมากในแถบยุโรปและอเมริกาอย่าง Facebook ก็กำลังพัฒนาตนเองพร้อมทั้งขยายตลาดไปทั่วโลกเช่นกัน
ซึ่งแน่นอนว่าถ้ามองจากประวัติของผู้บริหารของทั้ง 2 เว็บไซต์นี้ จะเห็นว่าทั้งมาร์ก ซัคเกอร์เบิร์กและลามู ยาละมันชัย มีแนวความคิดที่ค่อนข้างแตกต่างกัน โดยลามู สร้างไฮไฟว์ขึ้นโดยอาศัยประสบการณ์ในโลกของธุรกิจที่ตนเคยทำงานอยู่มาสร้างเป็นเว็บเครือข่ายสังคม ซึ่งแน่นอนว่าด้วยความเป็นนักธุรกิจทำให้ลามูมักมองการตลาดในลักษณะของผลประโยชน์มากกว่า ซึ่งจะเห็นได้จากการเกิดไฮไฟว์จะมาพร้อมเรื่องของแบรนด์เนอร์โฆษณาต่างๆ มากมาย ในขณะที่มาร์กสร้างเฟสบุ๊คจากความสนุกในแบบชีวิตวัยรุ่น อาศัยความสามารถด้านคอมพิวเตอร์และความเป็นวัยรุ่นจับกลุ่มในช่วงอายุของตนเองและพัฒนาเป็นเว็บเฟสบุ๊คที่มีจุดเด่นอยู่ที่การเข้าถึงข้อมูลของบุคคลได้ดีกว่าออกมา อีกทั้งด้วยการที่เฟสบุ๊คได้ชูจุดเด่นในเรื่องของเว็บแอปพลิเคชัน อย่างเช่น เกมหรือแอปพลิเคชันเสริมต่างๆ เป็นหลักทำให้ในช่วงหลัง เว็บเฟสบุ๊คจึงได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะด้วยความหลากหลายในการใช้งานที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่การแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันเท่านั้น
ทำให้ช่วงหลังเฟสบุ๊คจึงได้รับความนิยมอย่างสูงมาก โดยเฉพาะในเมืองไทยที่มีผลทำให้เว็บรุ่นพี่อย่างไฮไฟว์ถึงกับได้รับผลกระทบต่อยอดสมาชิกอย่างมาก และยิ่งด้วยวัฒนธรรมชอบตามแฟชั่นของคนไทย ทำให้หลายคนเลิกเล่นไฮไฟว์และมาเล่นเฟสบุ๊คเพียงเพราะกลัวตกเทรนด์ หรือบางรายบอกว่าตัวเว็บมีเกมให้เล่น มีแอปพลิเคชันสนุกๆ มากมาย รวมถึงการที่เฟสบุ๊คเปิดกว้างให้ผู้สนใจพัฒนาแอปพลิเคชันสามารถทำได้เอง อีกทั้งระบบที่สามารถค้นหาเพื่อนเก่าๆ ผ่านการลิงค์ข้อมูลแบบใยแมงมุมที่จะสามารถเชื่อมต่อความสัมพันธ์เข้าหากันได้ง่าย ทำให้ในปัจจุบันเฟสบุ๊กกลับกลายเป็นสิ่งยอดฮิตที่ใครๆ ก็ต้องมี โดยทิ้งให้ไฮไฟว์ ที่อาจคาดการณ์ตลาดผิดไปในช่วงแรกต้องตกอยู่ในภาวะหายใจไม่ทั่วท้อง ถึงแม้ช่วงหลังจะมีการปรับเปลี่ยนหน้าตา ชูระบบแอปพลิเคชันตามเฟสบุ๊คแล้วก็ตาม ก็ยังไม่สามารถเรียกความนิยมกลับคืนมาได้เหมือนก่อน ซึ่งก็ถือว่าโชคดีที่ยังมีบางประยังเทศยังนิยมไฮไฟว์ให้ลามูได้ดีใจอยู่บ้าง
สำหรับในครั้งหน้าเชิญติดตามชมตอนที่ 2 กับอีก 3 บุคคลผู้มีอิทธิพลในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กกันต่อนะครับ ส่วนจะเป็นใครอย่างไรติดตามได้ในอาทิตย์หน้าครับ
เห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไรก็สามารถมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ครับที่กล่องแสดงความคิดเห็นด้านล่างหรือทาง Twitter: @Dorapenguin