xs
xsm
sm
md
lg

ผลัดใบกูเกิล (1) : ซีอีโอลาตำแหน่ง เพราะผู้ก่อตั้งอายุ 38 ปี?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

อีริค ชมิดต์ (Eric Schmidt)
กลายเป็นประเด็นขึ้นมาทันทีสำหรับอีริค ชมิดต์ ซีอีโอกูเกิลซึ่งจะมีกำหนดลาตำแหน่งในเดือนเมษายน 2011 เพื่อไปรับตำแหน่ง"ขึ้นหิ้ง"ชื่อโก้หรูว่า Executive Chairman โดยรายงานล่าสุดระบุว่าชมิดต์ส่งข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า "Day-to-day adult supervision no longer needed!" เพื่อสื่อความในทำนองว่าการดูแล 2 หนุ่มผู้ก่อตั้งกูเกิลจากผู้ใหญ่นั้นไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว

หลายคนจึงเชื่อว่า หนึ่งในสาเหตุการลาตำแหน่งของชมิดต์คือเพราะวันนี้ แลร์รี่ เพจ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกูเกิลที่เคยเป็นซีอีโอกูเกิลมาก่อนชมิดต์นั้นกลายเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว บนตัวเลขอายุการันตี 38 ปี

นี่คือเรื่องจริงที่มีหลักฐานอ้างอิง เพราะประวัติศาสตร์กูเกิลบันทึกไว้ว่าชมิดต์ถูกเสนอให้นั่งเก้าอี้ซีอีโอในเดือนสิงหาคม ปี 2001 ภายใต้แรงดันของไคลเนอร์ เพอร์คินส์ (Kleiner Perkins) หนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ของกูเกิลที่ต้องการให้ชมิดต์เป็น"ผู้ใหญ่"ที่คอยดูแล 2 หนุ่มผู้ก่อตั้งกูเกิลอย่างแลร์รี่ เพจ และเซอร์เก บริน ซึ่งยังมีอายุไม่ถึง 30 ปีในช่วงเตรียมการนำกูเกิลเข้าสู่ตลาดหุ้น

หลักความคิดง่ายๆของการดึงชมิดต์มาเป็นซีอีโอในช่วงเวลานั้น คือการสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนด้วยภาพลักษณ์ความรับผิดชอบและความอุดมด้วยวุฒิภาวะของชมิดต์ จะทำให้การขาย IPO ของกูเกิลประสบความสำเร็จมากขึ้น ซึ่งก็เป็นไปตามคาด IPO ของกูเกิลได้รับความสำเร็จถล่มทลายในปี 2004 แต่ชมิดต์ก็ยังรับหน้าที่เป็นผู้ดูแล 2 ผู้ก่อตั้งมาอีกนานหลายปี

สถานการณ์วันนี้เปลี่ยนไป เมื่อเพจเองก็มีอายุ 38 ปีบริบูรณ์ ขณะที่ซีอีโอบริษัทคู่แข่งอย่างมาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กก็ดำรงตำแหน่งซีอีโอได้แม้จะมีอายุเพียง 26 ปี แถมภายใต้การนำของซัคเกอร์เบิร์ก เฟซบุ๊กยังสามารถเพิ่มมูลค่าตลาดของบริษัทได้มากกว่า 3 เท่าตัวในเวลาไม่ถึง 1 ปี (แน่นอนว่า โดยไม่ต้องพึ่งพาการดูแลจาก"ผู้ใหญ่" แบบกูเกิล)

เรื่องนี้เคยเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงการสื่อมวลชนสหรัฐฯตั้งแต่ปีที่แล้ว เช่นสำนักข่าว ZDNet ที่มองว่ากูเกิลยังต้องการการดูแลจากผู้ใหญ่อีกหรือ
บนสุดคือ แลร์รี่ เพจ (Larry Page) และล่าสุดคือ เซอร์เก บริน (Sergey Brin) ทั้ง 2 และชมิดต์มักถูกสื่อมวลชนขนานนามว่าเป็น 3 ทหารเสือของกูเกิล
ที่สำคัญ สื่อมวลชนสหรัฐฯยังมองว่าชมิดต์นั้นมีความเห็นขัดแย้งกับ 2 ผู้ก่อตั้งอย่างชัดเจน หนึ่งในกรณีที่สำคัญคือตลาดจีนซึ่งกูเกิลมีปัญหากับกฏระเบียบการปิดกั้นเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตกับรัฐบาลจีน รายงานชี้ว่าบรินนั้นต่อต้านการเข้าสู่ตลาดจีน และแสดงจุดยืนว่าต้องการให้กูเกิลปิดบริการในประเทศจีนมาตลอด สวนทางกับชมิดต์ที่ต้องการให้กูเกิลยอมทำตามมาตรการของรัฐบาลมังกร

ท้ายที่สุด กูเกิลตัดสินใจปิดบริการในจีนอย่างเป็นทางการ เป็นไปตามความต้องการของผู้ก่อตั้ง

ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับความเห็นของชมิดต์ ที่ไม่เคยพูดถึงขอบเขตงานของตัวเองว่าเป็นผู้นำกูเกิล แต่บอกว่าตัวเขามีหน้าที่สร้างความสัมพันธ์ กลยุทธ์ และความเชื่อมั่นในชุมชนนักลงทุนเพื่อปกป้องอาณาจักรกูเกิล

ถึงวันนี้ แม้กูเกิลจะกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่าชมิดต์นั้นไม่ประสบความสำเร็จในด้านตลาดหุ้นและการวางนโยบายเท่าที่ควร โดย Tom Foremski ผู้สื่อข่าว ZDNet ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กูเกิลยังมีปัญหาเรื่องข้อหาผูกขาดการค้าทั้งในสหรัฐฯและยุโรป ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคู่แข่งทั้งไมโครซอฟท์และแอปเปิล (กรณีแรกคือกูเกิลออกมาต่อต้านการควบรวมยาฮูของไมโครซอฟท์อย่างออกนอกหน้า กรณีหลังคือการเปิดตัวโทรศัพท์ตระกูล Nexus ของกูเกิล ซึ่งนำไปสู่การแข่งขันกับแอปเปิลจนชมิดต์ถูกกดดันให้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารแอปเปิลในที่สุด)

ยังมีเรื่องการซื้อเว็บไซต์ยูทูบ (YouTube) ในมูลค่าสูงลิ่วแต่ยังไม่สามารถทำกำไรที่คุ้มทุน รวมถึงการซื้อบริษัทมากมายแต่ก็ยังไม่สามารถสร้างแหล่งธุรกิจใหม่ที่ดีเท่าเทียบกับธุรกิจโฆษณาออนไลน์จากบริการค้นหาข้อมูล

ถึงนาทีนี้ หลายคนมองว่าผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิลอย่างเพจ ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์แสนขี้อายนั้นได้เวลาเดินออกจากเงาและเตรียมปรากฏตัวต่อสาธารณชนมากขึ้นเสียที เพื่อรับมือกับความท้าทายในยุคทองแห่งเครือข่ายสังคมหรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งกำลังขยายตัวแทนที่กูเกิล ทั้งในแง่การเป็นเจ้าแห่งโฆษณาออนไลน์ และการเป็นประตูสู่คอนเทนต์หลากหลายบนโลกไซเบอร์

บทความครั้งหน้าในชุด "ผลัดใบกูเกิล" เตรียมพบกับข้อมูลทุกอย่างที่ควรรู้เกี่ยวกับแลร์รี่ เพจ ว่าที่ซีอีโอคนต่อไปของกูเกิล

Company Related Link :
Google
กำลังโหลดความคิดเห็น