ช่วงนี้จะเห็นว่าข่าวเกี่ยวกับมาตรฐานเว็บรุ่นใหม่อย่าง HTML5 (Hypertext Markup Language Version 5) ดูจะเป็นที่กล่าวถึงกันมากในหมู่นักพัฒนาเว็บไซต์ เพราะด้วยคุณสมบัติพิเศษที่เพิ่มขึ้น รวมถึงจากการที่ผู้บริหารระดับสูงของแอปเปิลอย่าง สตีฟ จ็อบส์ ออกมากล่าวยกยอสรรเสริญ HTML5 ว่าจะสามารถใช้ร่วมกับอุปกรณ์สุดฮิตอาทิเช่น ไอโฟน 4 หรือ ไอแพด ได้เป็นอย่างดีแล้ว ยิ่งทำให้กระแสความน่าสนใจในตัว HTML5 สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
**จุดเริ่มต้นของ HTML**
HTML มีตัวย่อมาจาก "HyperText Markup Language" คือเป็นมาตรฐานภาษาที่ใช้ในการแสดงผลหน้าเว็บเพจที่ท่านกำลังเปิดใช้อยู่ในตอนนี้ โดยรูปแบบการทำงานของ HTML จะเป็นลักษณะของคำสั่งประเภท TAG ที่ใช้ในการแสดงภาพ ตัวหนังสือ, ตาราง หรือแม้แต่เส้นสายหรือโค้ดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหน้าเว็บเพจ
โดย HTML ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง พร้อมการเกิดขึ้นขององค์กร W3C (World Wide Web Consortium) ที่เข้ามาช่วยจัดการเรื่องมาตรฐานของเว็บในการทำ Search Engine Optimization (SEO) หรือการจัดสรรดรรชนีข้อมูลในเว็บให้เป็นหมวดหมู่ง่ายต่อการค้นหา จนมาในเวอร์ชันที่ 4 ที่ส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นมาตรฐานเว็บเพจในปัจจุบัน และกำลังจะเปลี่ยนเป็น HTML5 ในอนาคต
**HTML5 มีอะไรดี**
จากข่าวในแวดวงไอทีจะเห็นว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมา ข่าวเกี่ยวกับเว็บไซต์น้อยใหญ่กำลังเข้าสู่ช่วงทดสอบมาตรฐาน HTML5 หรือแม้กระทั่งเว็บบราวเซอร์อย่าง Internet Explorer หรือ Mozilla FireFox ต่างกำลังพัฒนาตัวเว็บบราวเซอร์ให้รองรับ HTML5 จนเกิดความน่าสนใจและคำถามว่า HTML5 มีอะไรที่น่าสนใจถึงทำให้ผู้พัฒนาต้องทุ่มทุนปรับเปลี่ยนหน้าเว็บของตนใหม่หมด
ซึ่งเมื่อทางทีมงานผู้จัดการไซเบอร์พยายามค้นหาข้อมูลในเชิงลึกแล้วพบว่าปัจจัยที่ทำให้ HTML5 ถูกผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมีอยู่ด้วยกันหลายปัจจัย ซึ่งในหัวข้อนี้ข้อยกข้อดีของ HTML5 มาพูดกันก่อนครับ
สำหรับข้อดีเด่นๆ ของ HTML5 ที่ถูกพัฒนาเสริมต่อจาก HTML4 และ 4.1 ที่ใช้มาเกือบ 10 ปี ก็อย่างเช่น
- ระบบ Semantic Markup ที่ทำให้ Search Engine ต่างๆ เข้ามาเก็บดรรชนีข้อมูลได้ง่ายและเป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น
- HTML5 Video ที่จะเข้ามาแทน Flash Video Player (flv, f4v)
- Canvas เป็นอีกหนึ่งฟังก์ชันที่เข้ามาช่วยจัดการเรื่องการวาดรูป ตกแต่งรูป ซึ่งคาดว่าจะมาแทน Adobe Flash
- Content Editable เป็นอีกหนึ่งความสามารถในการแก้ไขข้อความบนหน้าเว็บเพจได้ทันที
- Drag and Drop ความสามารถในการเคลื่อนย้ายวัตถุในหน้าเว็บเพจไปในหน้าเพจอื่นได้ทันที
- Persistent Data Storage ใน HTML5 อาจสามารถเก็บข้อมูลในหน้าเว็บแต่ล่ะหน้าได้
นอกจากนั้นในส่วนของคุณสมบัติและฟังก์ชันเด่นๆ ที่จะเกิดขึ้นกับ HTML5 ยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะจากคำกล่าวของ Ian Hickson หนึ่งในทีม WHATWG ซึ่งเป็นทีมผู้ผลักดัน HTML5 ยังเคยกล่าวไว้ด้วยว่า "มาตรฐาน HTML5 อาจไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ ซึ่งในอนาคตทาง Hickson อาจพัฒนาความสามารถของ HTML5 ให้มากขึ้นและอาจเปลี่ยนแผนการเผยแพร่ HTML เสียใหม่ก็เป็นได้
ซึ่งจากข้อมูลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน HTML5 จะเห็นว่าหลายๆ ฟังก์ชันของ HTML5 ต้องการสร้างมาตรฐานเว็บเพจแบบใหม่ทั้งหมด โดยจะเห็นว่าหลายฟังก์ชันทำให้แอดออนที่เคยเป็นสิ่งจำเป็นอย่าง Adobe Flash อาจต้องประสบปัญหาเลยทีเดียว และยิ่งมารวมกับ CSS3 แล้วการแสดงผลของ HTML5 จะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วย
**HTML5 เกิด Adobe จะอยู่หรือดับ**
จากข้อสรุปของหัวข้อด้านบนจะเห็นว่า Adobe อาจได้รับผลกระทบโดยตรงถ้าในอนาคต HTML5 เกิด Adobe Flash อาจถูกหลายเว็บเลิกใช้โดยถ้าดูจากข่าวที่เครือข่ายสังคมอย่าง Facebook กำลังเริ่มทดสอบการรันเกมบน HTML5 แทน Adobe Flash หรือแม้แต่ข่าวที่เว็บไซต์ยูทูป (YouTube) อนุญาตให้สามารถรับชมวิดีโอผ่าน HTML5 ได้ เป็นต้น
อีกทั้งถ้ามองจากข่าวในงานประชุม Adobe Max เมื่อช่วงปลายปี 2553 ที่ผ่านมา จะเห็นว่าทาง Adobe กำลังพัฒนาเครื่องมือในการแปลงไฟล์เอกสาร Flash, Illustrator CS5 และ Dreamweaver CS5 ให้สามารถเปลี่ยนเป็นรูปแบบ HTML5 และนำไปแสดงผลผ่านเว็บบราวเซอร์ที่รองรับ หรือบนอุปกรณ์สื่อสารของแอปเปิลได้ ก็พอจะให้คำตอบแก่ท่านผู้อ่านแล้วว่า ทาง Adobe เองก็พยายามปรับตัวเพื่อตั้งรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองในอนาคตเช่นกัน
**HTML5 มาตรฐานที่หาจุดยืนไม่ได้**
จากการที่สตีฟ จ็อบส์ ออกมาโต้แย้งเรื่องการที่อุปกรณ์สื่อสารอย่าง ไอโฟนจะไม่รองรับแฟลชแต่จะหันไปใช้มาตรฐานเว็บ HTML5 แทน พร้อมทั้งปล่อยหน้าเดโม HTML5 ที่จำเป็นต้องใช้ Safari ในการรับชมเท่านั้น พร้อมสโลแกน Standards aren't add-ons to the web. They are the web (แต่เหมือนว่าตัว Safari เองยังทำตามสโลแกนไม่สำเร็จ) หรือการที่ไมโครซอฟท์เปิดหน้า Showcase HTML5 ขึ้นมา พบว่าส่วนใหญ่บรรดาเดโมหรือ Showcase HTML5 ทั้งหลายยังไม่สามารถดึงประสิทธิภาพของมาตรฐาน HTML5 มาใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะถ้าดูให้ลึกๆ แล้วจะเห็นว่ามาตราฐาน HTML5 ยังไม่นิ่งตามที่ Philliippe Le Hegaret จาก W3C กล่าวไว้ว่า ปัญหาหลักของ HTML5 อยู่ที่ตอนนี้ชุดคำสั่งหลายตัวยังไม่สมบูรณ์และส่วนใหญ่ยังถูกเปิดใช้แค่เป็นเวอร์ชันทดสอบเท่านั้น ซึ่งต้องใช้เวลาในการพัฒนาแก้ไขข้อบกพร่องอีกอย่างน้อย 2-3 ปี
โดยจากเหตุผลด้านบนทำให้หลายคนเกิดคำถามทันทีว่าในเมื่อชุดคำสั่ง HTML5 ยังไม่สมบูรณ์เรียบร้อย เหตุใดมันถึงถูกผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างรวดเร็วนัก ซึ่งถ้าจะให้วิเคราะห์แล้ว เรื่องการเกิดของมาตรฐาน HTML5 อาจมีผู้อยู่เบื้องหลัง และผู้อยู่เบื้องหลังอาจต้องการปลุกกระแส HTML5 เพื่อที่จะได้เอาชนะคู่แข่งซึ่งมีผลกับอุปกรณ์ที่ตนเองป่าวประกาศไปก่อนหน้าว่า "จะไม่เอาแอดออนของคู่แข็งมาใช้บน Device ของตัวเด็ดขาด แต่จะหันมาใช้ HTML5 แทน" ด้วยการทำให้เหล่าผู้พัฒนาเว็บไซต์น้อยใหญ่หันมาให้ความสนใจ HTML5 และพัฒนามันขึ้นโดยมีแบ็คอัพขนาดใหญ่อยู่เบื้องหลัง ถึงทำให้เรื่องดังกล่าวเกิดเป็นประเด็นได้
ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไรที่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงการเว็บไซต์ถึงการเกิดของ HTML5 ที่ส่วนใหญ่จะลงความเห็นคล้ายๆ กันว่า "ตั้งใจให้เกิดเร็วเกินไป ทั้งๆ ที่เว็บบราวเซอร์หรือมาตรฐาน HTML5 ยังแตกเป็นมาตรฐานของแต่ละบริษัทในลักษณะบริษัทใดมีทุนหนา ผู้คนให้ความสนใจมากกว่า บริษัทนั้นจะสร้างความน่าเชื่อถือในเรื่อง HTML5 ต่อผู้บริโภคตามการตลาดของบริษัทตน โดยไม่ได้อิงกับเรื่องการพยายามสร้างมาตรฐานสากล แต่เป็นการสร้างมาตรฐานตามความพอใจและทำให้เกิดการหาผลประโยชน์กับสิ่งที่บริษัทตนทำแทน
**สรุป**
ความจริงแล้วถ้าจะให้มองถึงข้อดีของมาตรฐาน HTML5 จะพบว่าก็มีข้อดีอยู่ค่อนข้างมาก และน่าจะช่วยอำนวยความสะดวกรวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาเว็บไซต์ในอนาคตได้อย่างดีและน่าสนใจ แต่ทั้งนี้ด้วยการที่มาตรฐานเว็บเพจดังกล่าวถูกหลายบริษัทที่ส่วนใหญ่หวังเรื่องการตลาดและธุรกิจเป็นสำคัญดึงตัวไปร่วมความฉิบหาย จนนำไปสร้างมาตรฐานและโค้ดของตัวเองจนเสียความเป็นมาตรฐานสากลไป ซึ่งสุดท้ายแล้วในอนาคตผมว่าถ้ามาตรฐาน HTML5 ถูกองค์กรอิสระพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องจริงๆ จังๆ โดยไม่ยึดถึงผลประโยชน์เป็นสำคัญ และสร้างมาตรฐานแบบสากลขึ้นมา ผมว่าวันนั้นจะถึงเวลาที่ HTML5 จะได้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบแน่นอน
HTML5 web experience on the iPad
เห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไรก็สามารถมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ครับที่กล่องแสดงความคิดเห็นด้านล่างหรือทาง Twitter: @Dorapenguin