มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เปิด ศูนย์บ่มเพาะความเป็นเลิศทางเทคโนโลยี (Center of Excellence) หวังใช้เป็นที่ผลิตผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับประกาศนียบัตรอย่างเป็นทางการจากไอบีเอ็ม
ผศ.ดร.นิพนธ์ เจริญกิจการ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่าทางมหาวิทยาลัยมีแผนพัฒนาศักยภาพทุกด้านอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติ รวมถึงการพัฒนาความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและการวิจัย เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก ในส่วนของคณะเทคโนโลยีและสารสนเทศ ซึ่งถือเป็นความเชี่ยวชาญหลักและเป็นสาขาหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัย ขณะนี้ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างทักษะและความเชี่ยวด้านไอทีของนักศึกษาให้ทันกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว
"ไอบีเอ็มเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ร่วมทำงานกับทางคณะฯ มาอย่างยาวนาน โดยได้นำทั้งความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านไอทีระดับโลกมาถ่ายทอดให้กับคณาจารย์ นักศึกษา และนักวิจัยอย่างต่อเนื่องการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของความร่วมมือระหว่างสององค์กรที่จะมุ่งสร้างมืออาชีพด้านไอทีผ่านนวัตกรรมการเรียนรู้ที่เน้นความร่วมมือกันการปฏิบัติจริง”
นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ไอบีเอ็มมีความยินดีที่ได้สานต่อความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาที่มีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมจธ. ในโครงการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีซึ่งจะเป็นแหล่งผลิตผู้เชี่ยวชาญทางด้านไอทีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ นอกจากนี้เราจะเดินหน้าในความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำแห่งอื่น ๆ อีกเพื่อขยายขอบข่ายการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัดเช่นนี้ไปในวงกว้างขึ้น นับเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่เปิดกว้างและส่งเสริมให้ผู้เกี่ยวข้องพัฒนานวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป
โดยหนึ่งในเทคโนโลยีจากไอบีเอ็มที่ มจธ. นำมาใช้เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยขณะนี้ คือ เซิร์ฟเวอร์ ไอบีเอ็ม ซิสเต็ม ซี (IBM System z) หรือเมนเฟรมที่มาพร้อมกับคุณสมบัติที่สอดรับกับวิสัยทัศน์ “โลกฉลาด” (Smarter Planet) ของไอบีเอ็มได้อย่างครบครัน โดยผสานรวมความยืดหยุ่นของระบบประมวลผลขั้นสูงเข้ากับเสถียรภาพและความสามารถในการปรับขนาดของระบบเมนเฟรมเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังมีความโดดเด่นในแง่ความเสถียรในการประมวลผล เอื้อต่อการลดค่าใช้จ่ายและการประหยัดพลังงานต่อการใช้งานในองค์กรชั้นนำ ทั้งนี้ นับถึงปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยทั่วโลกที่ได้นำเมนเฟรมหรือ ไอบีเอ็ม ซิสเต็ม ซี ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนด้านไอทีแล้วกว่า 500 แห่ง โดยมีนักศึกษากว่า 50,000 คนที่ได้เรียนรู้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีฯ ดังกล่าว
Company Related Link :
IBM
มจธ.