xs
xsm
sm
md
lg

มาตรา 22 พ่นพิษ อดีตบอร์ดทีโอทีกระอัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหยื่อม.22- สรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม อดีตเลขาสภาพัฒน์ฯ (ขวา) กับ วันชัย ศารทูลทัต อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม (ซ้าย) อดีตกรรมการบอร์ดทีโอที 2 คนจากอีกหลายคนที่อาจเป็นเหยื่อมาตรา 22
พิษมาตรา 22 ไม่เพียงกระทบเอไอเอส แต่กระแทกไปยังอดีตกรรมการบอร์ดทีโอที และรัฐมนตรีที่กำกับดูแลในช่วงนั้น ฐานะที่ละเลยไม่นำเรื่องแก้ไขสัญญาสัมปทานเข้า ครม.ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2535 หากทีโอทีฟ้องเอกชน ก็ต้องฟ้องบอร์ดด้วยเช่นกัน

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมกล่าวว่า กรณีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เตรียมที่จะเสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการมาตรา 22 ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2535 ระหว่างทีโอทีกับเอไอเอสเข้า ครม. โดยมีประเด็นสำคัญ 2 เรื่องคือ 1.ให้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากเอไอเอสกรณีปรับลดส่วนแบ่งรายได้ระบบพรีเพด จากการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 6 จำนวนเงิน 66,541 ล้านบาท และให้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกรณีการนำค่าใช้จ่ายจากการใช้โครงข่ายร่วมหรือโรมมิ่งมาหักออกจากรายได้ก่อนแบ่งให้ทีโอทีจากการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 7 จำนวนเงิน 17,379 ล้านบาท โดยให้ทีโอทีไปดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหาย หรือ ดำเนินคดีกับคู่สัญญา และผู้ที่เกี่ยวข้อง

2.ให้เอกชนที่ได้รับสัมปทานกลับมาจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับผู้ให้สัมปทานแบบก้าวหน้าเหมือนเดิมจนกว่าจะหมดอายุสัญญา กำลังเป็นที่วิตกกังวลของอดีตบอร์ดทีโอทีเป็นอย่างมาก เพราะการแก้ไขสัญญาที่ไม่ทำตามขั้นตอนพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ความผิดส่วนหนึ่งย่อมตกกับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทุกครั้งของการแก้ไขสัญญา บอร์ดทีโอทีต้องเห็นชอบ และเสนอให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบในแต่ละครั้ง แต่สำหรับขั้นตอนการนำเข้าครม.หรือไม่นั้น เอกชนไม่มีส่วนรับรู้เพราะเป็นหน้าที่ของภาครัฐ ดังนั้นบอร์ดและรัฐมนตรีย่อมไม่สามารถปฎิเสธ ความรับผิดชอบร่วมกันได้

"หากให้ทีโอทีฟ้องเอกชน ก็คงต้องฟ้องบอร์ดแต่ละชุด และรมต.ในขณะนั้นด้วย เพราะถือเป็นผู้เกี่ยวข้อง"

ทั้งนี้การแก้ไขสัญญาครั้งที่ 6 มีนายศุภชัย พิศิษฐวานิช เป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ นายสรรเสริฐ วงศ์ชะอุ่ม นายวันชัย ศารทูลทัต พล.ต.ท.บุญฤทธิ์ รัตนะพร นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ นายสุรินทร์ ตุลย์วัฒนจิต และมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นรมว.คมนาคมในขณะนั้น

ส่วนการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 7 มีนายศุภชัย พิศิษฐวานิช เป็นประธาน กรรมการประกอบด้วยพล.อ.สมชัย สมประสงค์ นายกิตติ อยู่โพธิ์ นายธีระพงศ์ สุทธินนท์ นายสุรัตน์ พลาลิขิต นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ นายเข็มชัย ชุติวงศ์

แหล่งข่าวกล่าวว่า การตามล่าตามล้างการแก้ไขสัญญาเอไอเอส ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก แต่ครั้งรุนแรงที่สุดน่าจะเกิดขึ้นสมัยพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร เป็นประธานบอร์ดทีโอที ภายหลังการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองในเดือนก.ย.49 โดยพล.อ.สพรั่ง ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 2 พ.ย.50 กรณีการทำสัญญาอนุญาตให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างทีโอทีกับเอไอเอส ไม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การบังคับใช้พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ ปี 2535

โดยอำนาจหน้าที่กรรมการชุดนี้คือ 1.ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงกรณีทีโอทีทำสัญญาอนุญาตให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับเอไอเอส ไม่เป็นไปตามขั้นตอนการปฏิบัติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ ปี 2535 2.หาข้อเท็จจริงให้ได้ความกระจ่างว่าบุคคลใดบ้างต้องรับผิดชอบต่อผลเสียหายที่เกิดขึ้น 3.เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องและขอเอกสารจากหน่วยงานต่างๆเพื่อประโยชน์ในการสอบข้อเท็จจริง

อย่างไรก็ตาม ผลของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โดยสรุปไม่พบมีการกระทำผิด และหรือการปฏิบัติมีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนตามที่กม.กำหนดไว้ในการทำสัญญาต่อท้ายสัญญาหลัก และไม่เกิดความเสียหายต่อทีโอทีแต่อย่างใด บอร์ดทีโอทีในการประชุมครั้งที่ 11/2551 เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2551 จึงเห็นสมควรให้ยุติเรื่อง

นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รมว.ไอซีทีในยุคที่พล.อ.สพรั่งเป็นประธานบอร์ด ซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่ส่งเรื่องการแก้ไขสัญญาเอไอเอสให้กฤษฎีกาตีความหลังจากที่ถูกละเลยมายาวนาน จนเป็นที่มาของเผือกร้อนมาตรา 22 ในปัจจุบัน เคยให้ความเห็นในช่วงนั้นว่าหากรัฐจะดำเนินการอย่างรุนแรงเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกสัญญาหรือให้กลับไปใช้เงื่อนไขเดิมก่อนมีการแก้ไขสัญญาและฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเต็มที่ อาจทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมปั่นป่วนได้ เพราะเอกชนคงต้องสู้เต็มที่ เนื่องจากตามข้อเท็จจริง คนที่อนุมัติให้เดินผิดขั้นตอนกฎหมายก็เป็นคนของรัฐทั้งนั้น ซึ่งต้องคิดด้วยว่าจะเอาผิดกับอดีตบอร์ดทีโอทีกับกสท ด้วยหรือไม่ เพราะถือว่าบกพร่องในหน้าที่

ขณะเดียวกันรัฐควรให้ความเป็นธรรมกับเอกชนด้วย หมายถึงเปรียบเทียบประโยชน์ในสิ่งที่รัฐได้จากการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม เทียบกับประโยชน์ที่หายไปและควรทำกับทุกสัญญาที่มีการแก้ไข แต่การตัดสินใจทั้งหมด ควรให้อุตสาหกรรมเดินต่อได้ และที่สำคัญคือประโยชน์ต้องเกิดกับประชาชนสูงสุด

Company Related Link :
TOT
กำลังโหลดความคิดเห็น