ไอบีเอ็มเปิดตัวชิป "พาวเวอร์เซเว่น (Power7)" ในประเทศไทยก่อนใครในอาเซียน ระบุเพราะตลาดเซิร์ฟเวอร์ประเทศไทยแข็งแกร่งที่สุด ย้ำว่าแม้ไอบีเอ็มจะยังสามารถทำตลาดเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ชิปพาวเวอร์ซิกซ์ (Power 6) ได้ดีอยู่ แต่การเปิดตัวพาวเวอร์เซเว่นนั้นทำไปเพื่อให้ลูกค้าไอบีเอ็มสามารถลดค่าใช้จ่าย ลดการใช้พลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการก้าวไปสู่ยุคแห่งคลาวด์คอมพิวติ้งในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
ไอบีเอ็มเปิดตัวชิปพาวเวอร์เซเว่นนี้ในงานไอบีเอ็มเทคโนโลยีซิมโปเซียม 2010 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจคอมพิวเตอร์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด การันตีว่าพาวเวอร์เซเว่นเป็นชิปสำหรับคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ที่เหมาะกับงานทุกประเภท ทั้งงานจัดการระบบธุรกิจ ERP, งานวิเคราะห์ข้อมูลระดับสูงหรือ HPC ด้านวิทยาศาสตร์ อุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานการวิจัยต่างๆ, งานให้บริการระบบทรานเคชัน ฯลฯ
"เราค่อนข้างมั่นใจ เมื่อรวมกับการฝึกอบรม การให้บริการหลังการขาย เชื่อว่านี่คือตัวชูธง พาวเวอร์เซเว่นจะทำให้ไอบีเอ็มมองตลาดได้มากขึ้น และทำให้เรามี่ความครบวงจรยิ่งขึ้น"
ไอบีเอ็มให้ข้อมูลว่า ชิปพาวเวอร์เซเว่นมีแกนประมวลผลสูงสุด 8 คอร์ แต่ละคอร์สามารถรันงานได้พร้อมกัน 4 งาน เบ็ดเสร็จสามารถรันงานได้พร้อมกันถึง 32 งาน รันที่ความเร็ว 3.03-4.14 กิกะเฮิร์ตซ์ เร็วและแรงกว่าชิปรุ่นเก่าอย่างพาวเวอร์ซิกซ์ถึง 4 เท่า มาพร้อม แคช on-chip L3 สามารถประมวลผลงานวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจได้สูง 8.4 เทราฟล็อป (8.4 ล้านล้านคำสั่ง) ใช้เทคโนโลยีในการผลิตแบบ 45 นาโนเมตร (มีให้เลือกแบบรุ่น 4 และ 6 คอร์ด้วย)
"เทียบกับพาวเวอร์ซิกส์ เซเว่นจะดีขึ้น 4 เท่าแต่ลงทุนน้อยกว่า 2 เท่า ตอนนี้เวิร์กโหลดประเภทไหนก็ไม่กลัว จะทรานเซคชันเยอะขนาดไหนก็ได้ คิดว่าธุรกิจการเงิน โทรคมนาคม และบริษัทที่ทำอินฟราสตรักเจอร์ต่างๆ ซึ่งต้องมีระบบจดจำข้อมูลตลอดเวลาจะเป็นกลุ่มตลาดหลักของพาวเวอร์เซเว่น ปัจจุบันบริษัทเหล่านี้ต้องบันทึกข้อมูลทุก 15 นาทีต่อเนื่อง ตรงนี้จะเป็นเทรนด์ ทุกอย่างจะเป็นเซ็นเซอร์ ทุกอย่างจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งพาวเวอร์เซเว่นรองรับได้"
ฟีเจอร์สำคัญของพาวเวอร์เซเว่นที่ธนพงษ์เชื่อว่าจะเป็นที่ต้องการของธุรกิจ คือโหมดการทำงาน TurboCore ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์บางประเภทลงได้
"มันจะเพิ่มประสิทธิภาพความเร็วแต่ลดจำนวนคอร์ที่ใช้งานอยู่ลง จะทำให้บริษัทลดค่าใช้จ่ายได้เนื่องจากบริษัทซอฟต์แวร์ประเภทฐานข้อมูลมักจะคิดจากจำนวนคอร์ประมวลผลที่ใช้งาน ฟีเจอร์นี้ไม่มีใครมี"
เพื่อทำตลาดพาวเวอร์เซเว่น ไอบีเอ็มจึงเปิดตัวเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ชิปพาวเวอร์เพิ่ม 4 รุ่น ทั้งหมดเป็นรุ่นระดับกลาง และไอบีเอ็มมีแผนเปิดตัวระดับล่างและบนในช่วงปีนี้ถึงปีหน้า
"IBM Power 780 คือรุ่นท็อปของระดับมิดเอนด์ สำหรับบริษัทที่ไม่ต้องการโหมด TurboCore เพราะต้องจ่ายค่าซอฟต์แวร์ตามจำนวนผู้ใช้อยู่แล้ว ก็สามารถเลือก Power 770 แทน ทั้ง 2 รุ่นมาพร้อมพาวเวอร์เซเว่นที่มีคอร์รวมกันทั้งหมดสูงสุด 64 คอร์ ระดับกลางลงมาของมิดเอนด์คือ IBM Power 755 และ 750 ซึ่งรองรับคอร์ของพาวเวอร์เซเว่นได้ 32 คอร์"
ธนพงษ์เชื่อว่ารุ่น 750 จะเป็นเซิร์ฟเวอร์ตัวหลักหรือเมนสตรีมที่ไอบีเอ็มจะสามารถจำหน่ายได้ในอนาคต
"ทิศทางตลาดเซิร์ฟเวอร์ตอนนี้ความต้องการเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว เทคโนโลยีก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ความคุ้มค่าก็เพิ่มขึ้น และการใช้งานก็เพิ่มอยู่แล้ว เพียงแต่ใครจะมีความพร้อมในการสร้างระบบเพื่อให้บริการได้ก่อน อย่าลืมว่าลูกค้าต้องแข่งขัน ทางจะแข่งได้คือต้องเร็ว ปัญหาของไอบีเอ็มตอนนี้คือทำอย่างไรให้ลูกค้ารู้ ว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการเริ่มวิ่งอีกครั้ง ทั้งที่ภาพรวมธุรกิจยังไม่ได้เติบโตรุนแรง แต่เราก็ต้องสร้างธุรกิจไปด้วย"
ธนพงษ์ระบุว่าไอบีเอ็มไม่มีแผนรับมือการจับมือเป็นพันธมิตรระหว่างซันและออราเคิล และหากเป็นไปตามวงจรการพัฒนาปกติ ชิป Power 8 รุ่นต่อไปของไอบีเอ็มจะสามารถเปิดตัวใน 2-3 ปีข้างหน้า
"ไอบีเอ็มไม่เคยเตรียมรับมือ ลุยตลอด คู่แข่งคือคู่แข่ง แต่ที่เรามองคือไอบีเอ็มพร้อม ยุคนี้เป็นยุคที่ไอบีเอ็มพร้อมมากๆ"
ธนพงษ์ระบุว่า ส่วนแบ่งตลาดเซิร์ฟเวอร์ของไอบีเอ็มในประเทศไทยช่วงไตรมาส 3 ของปี 2009 คิดเป็น 51.7% เป็นการครองอันดับ 1 มาติดต่อกัน 6 ไตรมาส โดยประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ไอบีเอ็มมองว่ามีความเข้มแข็งที่สุด จึงประเดิมเปิดตัวพาวเวอร์เซเว่นก่อนใครในภูมิภาค
Company Related Link :
IBM