บทความโดย อัคคมณฑ์ ศรีหิรัญ ผู้จัดการฝ่ายโกลบอลเซอร์วิส บริษัท อีเอ็มซี อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด
*****
ในขณะที่ผู้คนเชื่อกันว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกในช่วงปี 2551 – 2552 จะทำให้กระบวนการสร้างข้อมูลชะลอตัวลงเช่นกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อมูลดิจิตอลที่สร้างขึ้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าวกลับมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงข้อมูลที่สร้างขึ้นและรับส่งผ่านอินเทอร์เน็ต เครือข่ายโทรศัพท์ และคลื่นวิทยุ
ผลการศึกษาล่าสุดของไอดีซีระบุว่า ปริมาณข้อมูลดิจิตอลที่สร้างขึ้นในช่วงปี 2551 เพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่าที่ไอดีซีคาดการณ์ไว้ในตอนแรกถึง 3 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 16 ล้านกิกะไบต์ ผลการศึกษาที่มีชื่อว่า “เศรษฐกิจหดตัว แต่โลกดิจิตอลกลับขยายตัว” (As the Economy Contracts, the Digital Universe Expands) เปิดเผยว่า ปริมาณข้อมูลที่สร้างขึ้นในปี 2551 เทียบเท่ากับ:
- อุปกรณ์อ่านหนังสือออนไลน์แบบไร้สาย Amazon Kindle ที่โหลดข้อมูลไว้จนเต็มกว่า 237,000 ล้านเครื่อง
- ธุรกรรมธนาคารออนไลน์กว่า 4.8 พันล้านล้านรายการ
- ข้อมูลฟีดจาก Twitter กว่า 3 พันล้านล้านรายการ
- ภาพถ่ายดิจิตอล 162 ล้านล้านภาพ
- เครื่อง Apple iPod Touch ที่โหลดข้อมูลไว้จนเต็มกว่า 30,000 ล้านเครื่อง
- แผ่นดีวีดีบลูเรย์ที่บันทึกข้อมูลไว้จนเต็มกว่า 19,000 ล้านแผ่น
เป็นที่คาดการณ์ว่าข้อมูลดิจิตอลจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุกๆ 18 เดือน และภายในปี 2555 จะมีข้อมูลดิจิตอลมากกว่า 5 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2551
ในสถานการณ์เช่นนี้ องค์กรจึงต้องรับมือกับข้อมูลจำนวนมหาศาลซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีปัญหาเรื่องงบประมาณทางด้านไอทีที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงความต้องการสำหรับระดับบริการที่สูงขึ้นและซอฟต์แวร์ที่ดีขึ้นขณะที่การแบ็คอัพข้อมูลรุ่นเก่าเริ่มที่จะแบกรับภาระไม่ไหว
รอบคอบก่อนตัดสินใจ
ปัจจุบัน องค์กรต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) พิจารณาอย่างรอบคอบมากขึ้นในการเลือกใช้โซลูชั่นเทคโนโลยี โดยองค์กรเหล่านี้ต้องการโซลูชั่นและบริการที่จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งเสริมสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันและปรับปรุงผลกำไร ธุรกิจเอสเอ็มอีต้องการเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำเพื่อรองรับการบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้ทรัพยากรน้อยลง
แม้ว่าบรรยากาศทางธุรกิจจะเริ่มสดใสมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 แต่ก็ยังอยู่ในภาวะที่ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง ผู้บริหารฝ่ายเทคโนโลยีตระหนักถึงความจำเป็นในการเพิ่มพื้นที่ความจุสตอเรจ แต่ก็ไม่ต้องการที่จะเสียค่าใช้จ่ายสูงจนเกินไป
ผู้จัดการฝ่ายไอทีนอกจากจะต้องการให้ข้อมูลพร้อมใช้งานอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังต้องการเพิ่มความสะดวกและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการข้อมูลอีกด้วย ยิ่งบริษัทใช้เวลาน้อยลงในการบริหารความเสี่ยงของข้อมูล ก็จะยิ่งมีเวลามากขึ้นในการจัดการงานธุรกิจหลักๆ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วก็จะช่วยปรับปรุงการให้บริการแก่ลูกค้าและเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท
ความท้าทายโลกสตอเรจในปัจจุบัน
สำหรับผู้ผลิตสตอเรจ อุปสรรคที่สำคัญที่สุดก็คือ การตอบสนองความต้องการทั้งหมดอย่างครบถ้วน ตลาดเอสเอ็มอีมีขนาดใหญ่และขอบเขตกว้างขวาง แต่หากผู้ผลิตสตอเรจไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเอสเอ็มอี ก็ไม่มีทางที่จะเจาะเข้าสู่ตลาดนี้ได้
ความท้าทายประการที่สองก็คือ การให้ความรู้แก่เอสเอ็มอีและการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของลูกค้า เพื่อเร่งการปรับใช้โซลูชั่นสตอเรจสำคัญๆ ที่จะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ แม้ว่าบริษัทจะมีงบประมาณอยู่อย่างจำกัดก็ตาม
โชคดีที่เทคโนโลยีสตอเรจได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการปรับแต่งตามความต้องการของเอสเอ็มอี เทคโนโลยีที่คาดว่าจะมีบทบาทสำคัญและไม่แพงจนเกินไปในช่วง 2 ปีข้างหน้า ได้แก่ เทคโนโลยีเวอร์ช่วลไลเซชั่น (Virtualization), การขจัดข้อมูลซ้ำซ้อน (Deduplication) และแฟลชไดรฟ์ระดับองค์กร
เทคโนโลยีแห่งปีหน้า (2553)
การขจัดข้อมูลซ้ำซ้อน (Data Deduplication) กลายเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญอย่างยิ่งต่อองค์กรต่างๆ เพราะเทคโนโลยีนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บและถ่ายโอนข้อมูลได้มากถึง 99 % เลยทีเดียว เทคโนโลยีการขจัดข้อมูลซ้ำซ้อนนี้จะแยกออบเจ็กต์ข้อมูลหรือสตรีมข้อมูลออกเป็นส่วนๆ เพื่อค้นหาข้อมูลที่ซ้ำซ้อนกัน องค์กรระดับโลกหลายๆ องค์กร รวมถึง Samsung Heavy Industries ในประเทศเกาหลี ได้ปรับใช้โซลูชั่นการแบ็คอัพและกู้คืนข้อมูล พร้อมด้วยเทคโนโลยีการขจัดข้อมูลซ้ำซ้อน ซึ่งช่วยปรับปรุงกระบวนการแบ็คอัพข้อมูล และลดค่าใช้จ่ายสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน
เทคโนโลยีสตอเรจเวอร์ช่วลไลเซชั่น ช่วยให้บริษัทสามารถจัดการสภาพแวดล้อมสตอเรจที่ประกอบด้วยอุปกรณ์จากผู้ผลิตหลายรายได้อย่างสะดวกง่ายดาย บริษัทจะสามารถขยายระบบเพื่อรองรับการจัดเก็บข้อมูลหลายแสนเทราไบต์และการประมวลผลข้อมูลอินพุต/เอาต์พุตหลายสิบล้านรายการต่อวินาทีบนโครงสร้างพื้นฐานสตอเรจ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถบริหารจัดการผ่านทางคอนโซลเดียวกัน
นอกจากนี้ แฟลชไดรฟ์ระดับองค์กร ก็เป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของแนวทางการจัดเก็บข้อมูล ด้วยการเปิดตัวแฟลชไดรฟ์ระดับองค์กรรุ่นที่สอง ซึ่งมีความจุเพิ่มขึ้น แฟลชไดรฟ์ช่วยให้ลูกค้าได้รับประโยชน์ 2 ประการ คือ ลดค่าใช้จ่ายด้านสตอเรจและค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสำหรับระบบไอที โดยจะรองรับการประมวลผลได้มากกว่าดิสก์รุ่นเก่า และทดแทนการใช้ดิสก์จำนวนมาก นอกจากนี้ยังเพิ่มอัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลในระบบ ซึ่งนั่นหมายความว่าจะมีการใช้ไดรฟ์น้อยลง สตอเรจคอนโทรลเลอร์และเซิร์ฟเวอร์มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายด้านสตอเรจและพลังงาน
ความต้องการสำหรับแฟลชไดรฟ์ระดับองค์กรมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากลูกค้าทั่วโลกตระหนักถึงคุณประโยชน์มากมายที่จะได้รับ ทั้งในเรื่องของการปรับปรุงประสิทธิภาพและการประหยัดค่าใช้จ่าย โดยอาศัยนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีนี้ซึ่งใช้หน่วยความจำแฟลชในการจัดเก็บและเรียกดูข้อมูล นอกจากนี้ เทคโนโลยีแฟลชไดรฟ์ยังช่วยปรับปรุงสมรรถนะของแอพพลิเคชั่นและลดระยะเวลาการตอบสนองโดยเฉลี่ยได้มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์
ในช่วงปีที่ผ่านมา แฟลชไดรฟ์ระดับองค์กรได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นและส่งผลให้พื้นที่ความจุในการจัดเก็บข้อมูลเพิ่มสูงขึ้น คุณประโยชน์ประการหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับองค์กรก็คือ การลดค่าใช้จ่ายต่อกิกะไบต์ได้ถึง 76 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปีที่ผ่านมา ดังนั้นองค์กรและเอสเอ็มอีสามารถเพิ่มพื้นที่ความจุเพื่อจัดเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาลได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก
Company Related Links :
EMC