Edited - โครงการสปีด เทสต์เผยผลการทดสอบอินเทอร์เน็ตผ่านเทคโนโลยี ADSL ความเร็วต่ำกว่า 12 เมกะบิตความเร็วได้ไม่ตรงตามโฆษณา เฉลี่ยได้แค่ 70%
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) กล่าวว่า หลังจากที่สบท.ร่วมกับสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย เปิดตัวโครงการสำรวจและทดสอบคุณภาพความเร็วอินเทอร์เน็ต ปี 2552 หรือสปีด เทสต์ขึ้น เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา เพื่อศึกษาข้อมูลการให้บริการอินเทอร์เน็ตของผู้ประกอบการ (ไอเอสพี) ผ่าน www.speedtest.or.thซึ่งเป็นเว็บไซต์หลักของโครงการจนถึงวันที่ 25 ต.ค. ซึ่งเป็นการดำเนินการมาถึงครึ่งทางปรากฏว่า มีผู้เข้าทดสอบความเร็วกว่า 8.4 แสนครั้ง
ทั้งนี้ ผู้ใช้งานส่วนใหญ่มักจะทดสอบในช่วงที่ตัวเองรู้สึกว่าอินเทอร์เน็ตมีปัญหา ล่าช้า หรือทดสอบขณะที่กำลังดาวน์โหลดข้อมูลขนาดใหญ่อยู่ หรือทดสอบกับไอเอสพีที่ตัวใช้อยู่ โดยไม่เปรียบเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่นๆ
จากผลการทดสอบที่ความเร็วต่ำกว่า 12 เมกะบิตต่อวินาทีลงมา และเป็นการให้บริการผ่านเทคโนโลยี ADSL ซึ่งไม่ใช่ลีสไลน์ คิดเป็นจำนวน 7.5 แสนราย จาก 8.4 แสนรายพบว่า ความเร็วได้ประมาณ 70% จากที่โฆษณา
‘บางคนบอกว่าความเร็วเท่านี้ถือว่าดีแล้ว แต่บางคนบอกไม่ได้ตามที่ต้องการ เหมือนซื้อข้าวสารหนึ่งกิโลกรัมแต่ได้แค่ 7 ขีด ไม่คุ้ม พอมีการร้องเรียนไปก็บอกจะปรับปรุงโครงข่ายแต่ก็ติดปัญหาเรื่องเทคนิค และก็อ้างว่าฝนตกบ้าง ถนนถูกขุดบ้าง’
สิ่งที่เกิดขึ้นจากบริการดังกล่าว สบท.แนะนำว่าไอเอสพีควรปรับแพกเกจให้ตรงกับความเร็วที่ให้บริการ เช่น ให้ได้แค่ 2 เมกะบิตผู้บริโภคก็ควรจะจ่ายตามเท่าที่ได้ใช้
ด้านพ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวว่า สิ่งที่สมาคมฯกับสบท.เปิดเผยในครั้งนี้ เป็นข้อมูลเชิงสถิติ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปปรับปรุงแก้ไขซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการคุ้มครองผู้บริโภคในภาพรวมด้วย แต่ในทางบวกก็เป็นผลดีกับไอเอสพี เพราะสามารถระบุได้ว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 1 ใน 5 คือสูงสุดกรุงเทพฯ รองลงไปเป็นชลบุรี เชียงใหม่ โคราช สงขลา ทำให้ทราบว่าที่ไหนน่าลงทุน
พร้อมกันนี้ สมาคมฯได้เสนอแนวทางในการแก้ไข เพื่อลดการเบี่ยงเบนของข้อมูล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในเชิงสถิติให้มากขึ้นคือ 1.ให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตให้ความสำคัญกับการตรวจวัดความเร็ว เพื่อคุ้มครองสิทธิ์ของตัวเองในฐานะผู้บริโภค และเพื่อให้เป็นข้อมูลที่สำคัญ เพื่อให้มีการปรับปรุงบริการที่ดีต่อไป
2.ให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้ามาทดสอบที่เว็บไซต์หลักของโครงการ หรือเว็บไซต์ที่ร่วมโครงการ เช่น kapook.com ,pantip.com ,dek-d.com และเว็บอื่นๆ เป็นประจำ บ่อยๆ ทุกครั้งก่อนใช้งานด้านอื่นๆ เพราะยิ่งมีการทดสอบมากครั้งก็จะลดการเบี่ยงเบนของข้อมูล และสร้างความเชื่อมั่นในสถิติ
3.นอกจากจะวัดความเร็วกับผู้ให้บริการที่ตนใช้บริการอยู่แล้ว ก็ควรจะทดสอบกับผู้ให้บริการรายอื่นๆ ด้วย 4.ควรแจ้งระบุข้อมูลให้ถูกต้อง ตรงกับความเป็นจริง ก่อนทดสอบในเรื่องของขนาด ความเร็วที่ใช้บริการ และแจ้งแหล่งพื้นที่ขณะทดสอบว่าอยู่ที่จังหวัดใด
‘เมื่อสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 พ.ย.ผู้ทดสอบน่าจะถึง 1.5 ล้านหรือเป็นหลัก 2 ล้านยิ่งดี เพราะจะได้ความเบี่ยงเบนมากกว่านี้’
Company Related Links :
สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.)