คอมพิวเตอร์โลคัลแบรนด์ได้อานิสงส์รัฐส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ เปิดทางให้เข้าประมูลโครงการของหน่วยงานรัฐที่มีเครื่องหมายมอก.เป็นใบเบิกทาง ทีซีเอ็มเชื่อจะกินแชร์อินเตอร์แบรนด์ได้ คาดตลาดการประมูลจากภาครัฐกว่าพันล้านบาท
นายภานุวัฒน์ ขันธโมลีกุล ประธานกลุ่มผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ไทย (ทีซีเอ็ม) กล่าวว่า ทีซีเอ็มจะมีการผลักดันคอมพิวเตอร์ที่ผลิตภายในประเทศ หรือโลคัลแบรนด์ออกสู่ตลาดมากขึ้น หลังตลาดภาคราชการได้รับการส่งเสริมให้ใช้สินค้าที่ทำในไทยเป็นหลัก ซึ่งเป็นมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำให้เกิดการแข่งขันกับอินเตอร์แบรนด์ได้มากขึ้น โดยใช้มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) เป็นสำคัญ ทำให้หน่วยงานราชการมีการกีดกันโลคัลแบรนด์น้อยลง
สำหรับโลคัลแบรนด์จะต้องมีโรงงานการผลิตในประเทศและมีมอก. 1956 ซึ่งเป็นมาตรฐานเกี่ยวกับขีดจำกัดสัญญาณการรบกวนวิทยุ และ มอก. 561 ซึ่งเป็นมาตรฐานเกี่ยวกับความปลอดภัย จากการใช้มาตรฐานดังกล่าวเป็นตัวกำหนดในการเข้าประมูลโครงการของหน่วยงานราชการ ไม่ใช่จะเป็นการกีดกันอินเตอร์แบรนด์ เพราะสามารถเข้าประมูลได้ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน
“มอก. 2 ตัวนี้จะฟิกซ์อุปกรณ์อย่างน้อย 6 ชิ้นคือห้ามเปลี่ยน หากอินเตอร์แบรนด์ต้องการเข้าประมูลเครื่องต้องได้มาตรฐานมอก.นี้เช่นกัน”
นายภานุวัฒน์กล่าวว่า หน่วยงานราชการเริ่มเขียนเงื่อนไขการประมูลโดยกำหนดเรื่องของมอก.มากขึ้น จากเดิมจะถูกกีดกัน เพราะมีกำหนดเรื่องของเอฟซีซีแอล ซึ่งเป็นเรื่องของคลื่นแม่เหล็ก อย่างกรณีนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ได้มีการกำหนดสเปกเครื่องที่จะเข้าประมูลต้องเป็นมอก.เท่านั้น ซึ่งโครงการของกฝผ.นี้มีจำนวน 8 พันเครื่องคิดเป็นมูลค่า 200 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีโครงการของศาลยุติธรรมที่กำหนดสเปกแบบนี้เช่นกัน ซึ่งจะมีการเปิดประมูล 2.7 พันเครื่อง ทั้งนี้ หากมองโดยรวมคาดว่าตลาดราชการจะมีโครงการที่จะจัดประมูลจากหน่วยงานต่างๆ รวมแล้วคิดเป็นมูลค่าพันกว่าล้านบาท
“ปีนี้ถือเป็นปีทองในรอบ 3 ปี หลังครม.มีมติออกมา จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เครื่องโลคัลแบรนด์มากขึ้น”
แต่สิ่งที่บรรดาผู้ผลิตคอมพิวเตอร์โลคัลแบรนด์ผวาคือการใช้ทุนทางการตลาดแซกแซงด้วยวิธีการถล่มราคาใสโครงการที่มากกว่า 100 เครื่องขึ้นไป แต่ถ้าโครงการไหนต่ำกว่า 100 เครื่องทางผู้ประกอบการมั่นใจว่าจะเป็นฝ่ายชนะการประมูล
ปัจจุบันเครื่องเดสก์ทอปที่เป็นโลคัลแบรนด์อยู่ได้คือตลาดราชการ เพราะมีงบประมาณในการจัดซื้อ ซึ่งเศรษฐกิจไม่ค่อยจะมีผล ส่วนตลาดคอนซูเมอร์จะเป็นเครื่องประเภทโน้ตบุ๊ก แต่ต้องใช้ปริมาณหรือวอลุ่มเป็นตัวแข่งขัน นอกจากตลาดราชการแล้ว ทางทีซีเอ็มมองว่าต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเข้าตลาดคอนซูเมอร์ด้วย ซึ่งแต่ละแบรนด์มีช่องทางการทำตลาดอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการโลคัลแบรนด์จะใช้เป็นกลยุทธ์ร่วมกันได้คือการรวมกันซื้ออุปกรณ์ต่างๆ จากซัปพลายเออร์เพื่อให้มีอำนาจการต่อรองได้
จากโครงการของหน่วยงานราชการทางทีซีเอ็มเชื่อว่าจะทำให้เครื่องโลคัลแบรนด์ประเภทเดสก์ทอปมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นอีก 10% จากขณะนี้มีประมาณ 20% ซึ่งไม่รวมเครื่องประกอบเอง หรือดีไอวาย โดยส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้นนี้จะมาจากการเข้าไปกินตลาดเครื่องอินเตอร์แบรนด์
สำหรับสมาชิกทีซีเอ็มขณะนี้มี 4 รายคือ บริษัท เอสวีโอเอ บริษัทสุพรีม ดิสทริบิวชั่น บริษัท เมโทร โปรเฟสชั่นนอล โปรดักส์ และบริษัท เพลินจิต คอมเทค อย่างไรก็ตาม ทีมบริหารทีซีเอ็มเชื่อว่าจะมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น แต่ผู้ที่เข้าจะมาเป็นสมาชิกต้องเป็นโรงานที่ผลิตเครื่องโลคัลแบรนด์เพื่อให้มีมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือได้ ISO 2001